ทุกคนที่กล่าว “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ“ แล้ว ประตูสวรรค์จะถูกเปิดให้แก่เขาเลยหรือไม่ ?


3,123 ผู้ชม

ถ้อยคำของกะลิมะฮฺ ชะฮาดะฮฺส่วนที่หนึ่งที่ใช้สำหรับกล่าวในการเข้ารับอัลอิสลาม ใช้อยู่เป็นประจำทุกวัน


ถ้อยคำของกะลิมะฮฺ ชะฮาดะฮฺส่วนที่หนึ่งที่ใช้สำหรับกล่าวในการเข้ารับอัลอิสลาม ใช้อยู่เป็นประจำทุกวัน

7 ประการ เงื่อนไขในการกล่าว ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ

ที่มา อัล-อิศลาหฺ สมาคม บางกอกน้อย

คำปฏิญาณ หรือ กะลิมะฮฺ ชะฮาดะฮฺที่ว่า (لاَإِلَهَ إِلاَّ اللَّهُ) “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ ” หรือ “กะลิมะตุ๊ตเตาฮีด” ที่เรากล่าวกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน พูดกันอยู่เป็นประจำ และเป็นถ้อยคำของกะลิมะฮฺ ชะฮาดะฮฺส่วนที่หนึ่งที่ใช้สำหรับกล่าวในการเข้ารับอัลอิสลาม ใช้อยู่เป็นประจำทุกวันเพื่อยืนยันการเป็นมุสลิมของเรา และก่อนที่เราจะสิ้นชีวิต เราก็ต้องการให้ถ้อยคำนี้ เป็นคำพูดสุดท้ายของเราด้วย เพื่อยืนยันว่าเราต้องการเสียชีวิตในสภาพที่เป็นมุสลิม ซึ่งคำปฏิญาณนี้ แท้จริงแล้วมีรายงานว่า คือ ลูกกุญแจที่ใช้ไขประตูสวรรค์

มีคำถามว่า ทุกคนที่กล่าว “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ “ แล้ว ประตูสวรรค์จะถูกเปิดให้แก่เขาเลยหรือไม่ ?

ในเรื่องนี้ มีรายงานในบันทึกของอิมาม อัลบุคอรีย์ว่า

มีผู้ถามท่านวะฮับ อิบนุ มุนับบิฮฺ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺซึ่งเป็นตาบิอีนที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งว่า การกล่าว “ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ” คือกุญแจไขประตูสวรรค์ใช่หรือไม่?

ท่านวะฮับฯ ตอบว่า ”หามิได้ แต่ทว่า ลูกกุญแจทุกดอกย่อมมีฟันเป็นของตัวมันเอง ถ้าท่านมีลูกกุญแจที่มีฟันถูกต้อง (คือ มีฟันเข้ากันได้กับแม่กุญแจ) ประตูมันก็จะไขเปิดออกได้ แต่ถ้าท่านมีลูกกุญแจที่มีฟันไม่ตรงกับแม่กุญแจ กุญแจนั้นมันก็จะไขไม่ได้”

ดังนั้น ฟันที่ลูกกุญแจจึงเป็นเงื่อนไขว่าจะไขกุญแจนั้นได้หรือไม่ ! ถ้าฟันที่ลูกกุญแจกับแม่กุญแจมันตรงกัน มันเข้ากันได้ มันก็จะทำให้ไขกุญแจได้ แต่ถ้ามันไม่ตรงกัน มันเข้ากันไม่ได้ ก็ไม่สามารถจะไขกุญแจได้ นั่นก็หมายความว่า การกล่าว”ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ” เปรียบเสมือนลูกกุญแจที่เรามีอยู่ แต่ฟันของลูกกุญแจที่เรามีอยู่นี้ มันจะตรงกับแม่กุญแจที่ประตูสวรรค์หรือไม่ !

บรรดาอุละมาอ์หรือบรรดานักปราชญ์ของอิสลามได้กำหนดเงื่อนไขที่จะทำให้การกล่าว“ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ” ของเราได้กลายเป็นลูกกุญแจที่ไขเปิดประตูสวรรค์ได้ เอาไว้ 7 ประการด้วยกัน ก็ขอให้เราได้มาพิจารณาตัวเราว่า เรามีเงื่อนไขครบทั้งเจ็ดข้อ หรือมีเพียงบางข้อ หรือไม่มีเลย !

1. เงื่อนไขที่หนึ่ง “ عِلْم (อิลมุน) ความรู้ ”

นั่นคือการรู้ความหมายของถ้อยคำที่กล่าวออกไป ถ้อยคำหรือคำพูดที่เราพูดออกไป ได้กล่าวปฏิญาณออกไปนั้น มันมีความหมายว่าอะไร เราเข้าใจในถ้อยคำนั้นมากน้อยแค่ไหน เพียงใดหรือไม่ และอย่างไร หรือว่าพูดออกไปอย่างนั้นเอง ไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เราพูดออกไป

ดังนั้น ถ้าเราอยากให้คำปฏิญาณที่เรากล่าวออกไป ได้กลายเป็นลูกกุญแจที่ไขประตูสวรรค์ เราก็ต้องมีความรู้ มีความเข้าใจในสิ่งที่เรากล่าวปฏิญาณออกไป เป็นความรู้ที่อุละมาอ์บอกว่า คือ ความรู้ที่ต้องขจัดความไม่รู้ให้หมดไป หมายความว่า ความรู้นั้นจะนำมาซึ่งการปฏิเสธต่อบรรดาฏอฆู๊ต หรือบรรดาเจว็ดทั้งมวล และเป็นความรู้ที่ยืนยันการเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เท่านั้น ความรู้นั้นจะทำให้เราไม่นำสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือคนหนึ่งคนใดมามีสถานะคู่เคียงกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างเด็ดขาด

หลักของคำปฏิญาณที่ว่า “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ” นั้น จะมีหลักอยู่สองประการ คือ การปฏิเสธ และการยอมรับ

หลักที่หนึ่ง คือ ”( لاَإِلَه ) ลาอิลาฮะ“ เป็นการปฏิเสธต่อบรรดาฏอฆู๊ต หรือบรรดาเจว็ดทั้งมวล

หลักที่สอง คือ ”( إِلاَّ اللَّهُ ) อิลลัลลอฮฺ “ เป็นการยืนยันการเป็นพระเจ้าที่แท้จริงของ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพียงองค์เดียวเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อเรากล่าวคำปฏิญาณว่า ”ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ” นั้น หมายความว่า การที่เราปฏิญาณว่าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวนั้น กล่าวเพียงเท่านี้ยังไม่พอ แต่เราต้องทำการเคารพภักดี ทำการอิบาดะฮฺ และยอมมอบการอิบาดะฮฺทั้งหมดแด่ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพียงองค์เดียวเท่านั้น โดยเราต้องไม่ยอมนำเอาคนหนึ่งคนใด หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดมามีสถานะ หรือมีความสำคัญ หรือมาทำการเคารพภักดีเทียบเคียงร่วมกับ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นอันขาด พร้อมกันนั้นก็ยอมรับและยอมปฏิบัติตามคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามของพระองค์อย่างเต็มใจ และตัดขาดจากเรื่องการชิริก และห่างไกลจากคนที่ทำชิริก สิ่งนี้แหละที่เราเรียกว่า เตาฮีด หรือหลักแห่งเอกภาพ

เป็นการมอบความเป็นเอกภาพแด่ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ในการเป็นพระเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว ซึ่งเราจำเป็นต้องมีหลักอะกีดะฮฺในเรื่องนี้ตามที่กิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ ท่านนบีได้บอกไว้ และเป็นการฏิบัติตามกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺท่านนบี ตามความเข้าใจของคนดีๆในยุคสะลัฟที่ท่านเหล่านั้นเข้าใจกัน ซึ่งความรู้ความเข้าใจเหล่านั้นก็ได้ถูกสืบทอดต่อกันมารุ่นสู่รุ่น ไม่มีขาดตอน มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้รับรองเอาไว้ หมายความว่า ความรู้ความเข้าใจที่เราได้รับมาในยุคปัจจุบันนี้ มีหลักฐานที่สืบกลับไปได้ว่า เป็นความรู้ที่มาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ได้ถ่ายทอดมาสู่บรรดาซ่อฮาบะฮฺของท่านนบีจริงๆ ไม่ใช่การตีความเอาเอง ทึกทักเอาเอง คิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็มีโอกาสที่จะหลงออกจากความเข้าใจที่ถูกต้องได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อหลักอะกีดะฮฺของเรา เพราะจะทำให้เราหันเหออกจากทางที่ถูกต้องไปสู่ทางที่หลงผิด (เฎาะลาละฮฺ) ได้

เราจะเห็นว่าในอัลกุรอาน อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงยกตัวอย่างอยู่เสมอถึงชาวมุชริกมักกะฮฺ ที่พวกเขาก็ยอมรับในการเป็นพระเจ้าของพระองค์ แต่พวกเขาไม่ได้มอบเตาฮีดแด่พระองค์ พวกเขานำสิ่งอื่นๆมาเคารพกราบไหว้ มาเป็นภาคีร่วมกับพระองค์ แล้วก็ไม่ยอมตอบรับการเชิญชวนของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งเป็นร่อซูลของพระองค์ นี่แหละจึงกลายเป็นสาเหตุทำให้พวกเขากลายสภาพเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเชื่อว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงเป็นพระเจ้าผู้ทรงประทานริสกีย์ให้พวกเขาก็ตาม ผลก็คือ ทำให้พวกเขาต้องตกนรกตลอดกาล ซึ่งเราต้องระวังในเรื่องนี้ให้ดี เพราะในสังคมบ้านเรา มันจะมีสิ่งที่นำเราไปสู่การทำชิริกได้มากมาย เช่น การดูหมอ ดูดวง การเสี่ยงติ้ว เสี่ยงทาย การดูฤกษ์ดูยามเวลาที่จะทำอะไร หรือเวลาที่จะจัดงานมงคลอะไร เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งมีอยู่รอบๆ ตัวเรา แล้วก็เข้ามาสู่การดำเนินชีวิตของเราได้ง่ายๆ บางทีเราก็ไม่รู้ตัวหรือไม่ได้ตั้งใจ

ดังนั้น ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงโปรดให้เราได้มองออกว่า อะไรที่จะนำเราไปสู่สิ่งที่เป็นชิริก เพื่อให้เราได้ระวังตัวเรา และปกป้องตัวเราและคนในครอบครัว ตลอดจนคนในสังคมของเราได้พ้นไปจากฟิตนะฮฺต่างๆในเรื่องเหล่านี้ด้วย

ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ ส่วนกลางของอายะฮฺที่ 256 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสความว่า

“ดังนั้น ผู้ใดปฏิเสธต่ออัฎฎอฆู๊ต และศรัทธาต่ออัลลอฮฺ(เพียงองค์เดียว)แล้วไซร้

แน่นอน ก็เท่ากับว่าเขาได้ยึดห่วงอันมั่นคงไว้แล้ว โดยที่ (ห่วงนั้นจะ)ไม่มีวันจะขาดใดๆ …”

คำว่า”อัฏฏอฆูต” หมายถึง บรรดาเจว็ด บรรดาภาคี หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือคนหนึ่งคนใดที่ถูกผู้คนนำมาเคารพ นำมาสักการะ นำมากราบไหว้บูชา จนมีสถานะคู่เคียง หรือเป็นหุ้นส่วนร่วมกับ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

คำว่า ”( فَقَدِ اسْتَمْسَكَ بِالْعُرْوَةِ الْوُثْقَىٰ لَا انفِصَامَ لَهَا ) แน่นอนเขาได้ยึดห่วงอันมั่นคงไว้แล้ว โดย (ห่วงนั้น)ไม่มีวันจะขาดใดๆ ” ห่วงนั้นก็คือ การกล่าวปฏิญาณว่า “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ” ซึ่งการปฏิเสธต่อบรรดาฏอฆู๊ต หรือบรรดาเจว็ดทั้งหมด ก็คือหลักข้อที่หนึ่ง ” لاَإِلَه ลาอิลาฮะ “ และการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็คือหลักข้อที่สอง ”إِلاَّ اللَّهُ อิลลัลลอฮ“ นั่นเอง

2. เงื่อนไขที่สอง ” يَقِيْنٌ (ยะกีน) ความมั่นใจ”

คือมีความมั่นใจอย่างแน่วแน่มั่นคงจนหมดสิ้นความสงสัยในคำปฏิญาณที่กล่าวออกไป เมื่อเรากล่าว ”ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ” ออกไป เรามีความรู้ความเข้าใจในความหมายของถ้อยคำนี้แล้ว เราก็ต้องมั่นใจอย่างแน่วแน่มั่นคงในถ้อยคำที่เรากล่าวออกไปนี้ เราจะต้องไม่มีความสงสัย ไม่มีความคลางแคลงใจหรือลังเลในถ้อยคำนี้อย่างเด็ดขาด เมื่อเรากล่าวถ้อยคำนี้ออกมาทางวาจาแล้ว พูดออกมาแล้ว ใจของเราก็ต้องมั่นใจอย่างแน่วแน่มั่นคงว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น และเราจะไม่ยอมให้มีบรรดาฏอฆู๊ต หรือบรรดาเจว็ดมาเป็นอิล๊าฮฺ มามีสถานะคู่เคียงกับ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างเด็ดขาด ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัลฮุญุร็อต ส่วนต้นของอายะฮฺที่ 15 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสความว่า

“แท้จริง บรรดาผู้ศรัทธาที่แท้จริงนั้น ได้แก่ บรรดาผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและบรรดาร่อซูลของพระองค์

แล้วพวกเขาไม่สงสัยเคลือบแคลงใจใดๆทั้งสิ้น…”

ถ้าหากเรามีความมั่นใจอย่างแน่วแน่มั่นคง (ยะกีน) เราก็จะไม่เป็นคนช่างตัดพ้อต่อว่า ว่าฉันละหมาดมาตั้งเยอะแยะแล้ว ทำไมฉันไม่รวยสักที ? ทำไมอัลลอฮฺไม่ทรงช่วยฉัน? หรือทำไมการช่วยเหลือของอัลลอฮฺยังไม่มาสักที ? ทำไมฉันต้องมาเจอเรื่องแบบนี้? ทำไมต้องอย่างนั้น? ทำไมต้องอย่างนี้ ? ถ้าเรามีความมั่นใจอย่างแน่วแน่มั่นคง เราจะไม่มีคำถามทำนองนี้ เราจะไม่มีคำถามว่า ทำไมอัลลอฮฺไม่ทรงตอบรับดุอาอ์ที่ฉันขอ…

เมื่อเรามีความมั่นใจอย่างแน่วแน่มั่นคง (ยะกีน) เราก็จะไม่กังวลต่ออนาคตข้างหน้า เมื่อมีปัญหาอะไรมารุมเร้า เรามองไม่เห็นทางออก เราก็จะไม่คิดฆ่าตัวตาย แต่เรามีความมั่นใจอย่างแน่วแน่มั่นคงว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะทรงช่วยเหลือเราอย่างแน่นอน โดยวิธีที่เราไม่คาดคิดมาก่อน ในอัลกุรอาน มีตัวอย่างมากมายที่แสดงให้เราเห็นถึงความมั่นใจอย่างแน่วแน่มั่นคงของผู้ศรัทธาที่แท้จริง และผลตอบแทนที่ท่านเหล่านั้นได้รับ

ท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม ได้นำพระนางฮาญัรและท่านนบีอิสมาอีล อะลัยฮิสสลาม ในขณะที่ยังเป็นทารก ไปปล่อยไว้ตามลำพังกลางทะเลทรายที่ไม่มีต้นไม้ ไม่มีร่มเงา ไม่มีน้ำ ไม่มีพืชพันธุ์ธัญญาหารใดๆทั้งสิ้น แล้วชีวิตจะดำรงอยู่ได้อย่างไร ?

พระนางฮาญัรถามท่านนบีอิบรอฮีมว่า ” ที่ท่านทำอย่างนี้ เพราะเป็นคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา กระนั้นหรือ ?”

ท่านนบีอิบรอฮีมตอบว่า ” ใช่ “

พระนางฮาญัรจึงได้กล่าวว่า “หากเป็นคำสั่งของพระองค์อย่างนี้ แน่นอน พระองค์ก็จะไม่ทรงทอดทิ้งเรา”

ด้วยความมั่นใจอย่างแน่วแน่มั่นคง อย่างหมดหัวจิตหัวใจเช่นนี้เอง รางวัลตอบแทนที่พระนางฮาญัรได้รับก็คือ ตาน้ำอันเป็นบ่อเกิดของน้ำซัมซัมก็ผุดขึ้นมา ให้การหล่อเลี้ยงชีวิตแก่พระนางฮาญัรและบุตรชายของนาง แล้วตาน้ำซัมซัมที่เป็นแหล่งของน้ำที่มีคุณสมบัติพิเศษมากมาย ก็ยังคงไหลรินหล่อเลี้ยงชีวิตให้แก่ผู้คนจวบจนกระทั่งทุกวันนี้

นี่ก็คือตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่มีความมั่นใจอย่างแน่วแน่มั่นคง (ยะกีน) ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างหมดใจ

“( لَا رَيْبَ ) ลาร็อยบฺ” ไม่มีความสงสัยคลางแคลงใจใดๆ เลย

อุละมาอ์กล่าวไว้ว่า ถ้าหากใจของเรามีความคลางแคลงใจแม้แต่เพียงนิดเดียว มันจะมีผลให้เรากลายเป็นผู้ที่มีนิฟ๊าก หรือกลายเป็นมุนาฟิก คนหน้าไหว้หลังหลอกได้ ซึ่งการลงโทษที่มุนาฟิกจะได้รับก็คือ ที่อยู่ในนรกชั้นต่ำสุด ต่ำยิ่งกว่าบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาเสียอีก

ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอันนิซาอ์ อายะฮฺที่ 145 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสความว่า

“แท้จริงบรรดามุนาฟิกนั้นอยู่ในชั้นต่ำสุดของนรก…”

ดังนั้น พยายามดูแลใจของเราให้มีความมั่นใจอย่างแน่วแน่มั่นคง (ยะกีน)ในคำปฏิญาณของเราอยู่เสมอ

3. เงื่อนไขที่สาม “ قَبُولٌ (เกาะบูล) การยอมรับ

เมื่อเรามี“อิลมุน” มีความรู้ความเข้าใจ มี “ยะกีน” มีความมั่นใจอย่างแน่วแน่มั่นคงในคำปฏิญาณที่เรากล่าวออกไปแล้ว เราก็ต้องยอมรับในความรู้ที่เรารู้ และยอมรับในความมั่นใจอย่างแน่วแน่มั่นคงนั้น พร้อมที่จะทำให้มันเกิดผลทั้งด้วยหัวใจและคำพูด

นั่นคือ การที่เรายอมรับใน”อิลมุน”และ”ยะกีน”ของคำปฏิญาณนี้ทั้งวาจาและใจ โดยไม่ปฏิเสธอันหนึ่งอันใด จะยอมรับแต่”อิลมุน”แล้วปฏิเสธ”ยะกีน”ไม่ได้ หรือจะยอมรับแต่”ยะกีน” โดยปฏิเสธ”อิลมุน”ก็ไม่ได้เช่นกัน ต้องยอมรับทั้ง”อิลมุน”และ”ยะกีน” การยอมรับนี้จะทำให้เราพร้อมที่จะอิบาดะฮฺต่อ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพียงองค์เดียว และละทิ้งการอิบาดะฮฺต่อบรรดาฏอฆู๊ตอื่นๆทั้งหมด
ส่วนผู้ใดที่ปฏิเสธถ้อยคำนี้และไม่ยอมรับมัน เขาก็คือผู้ปฏิเสธศรัทธา แม้ว่าการปฏิเสธนั้นจะเป็นเพียงเพราะความหยิ่งผยองต่อคนๆหนึ่งก็ตาม นักวิชาการบอกว่า เขาก็คือกาเฟร ผู้ปฏิเสธศรัทธา เช่นเดียวกับบรรดามุชริกมักกะฮฺในสมัยท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่พวกเขาก็เชื่อว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงเป็นพระเจ้าที่ทรงสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน เป็นผู้ประทานริสกีย์ให้แก่พวกเขา แต่พวกเขาก็ไม่ยอมมอบ “เตาฮีด” แด่พระองค์ เพียงเพราะพวกเขาหยิ่งผยอง ไม่ยอมรับท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เท่านั้น พวกเขาก็มีสภาพเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาแล้ว
ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัศศ็อฟฟาต อายะฮฺที่ 35-36 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสความว่า

“แท้จริง เมื่อได้มีการกล่าวแก่พวกเขา (คือพวกมุชริกมักกะฮฺ) ว่า ไม่มีอิลาฮฺ (หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือคนหนึ่งคนใดทั้งสิ้น)

ที่สมควรแก่การเคารพอิบาดะฮฺ นอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น แต่แล้วพวกเขาก็กลับยะโสหยิ่งผยอง

พวกเขากล่าวว่า จะให้เราทอดทิ้งบรรดาพระเจ้าต่างๆ ของเรา เพื่อนักกวีที่ไร้สติคนหนึ่งอย่างนั้นหรือ?”

ดังนั้น อย่าให้การที่เราไม่ชอบใครสักคนหนึ่งที่มาเรียกร้องเชิญชวนเราไปสู่ “กะลิมะฮ์ เตาฮีด” มาทำให้เราไม่ยอมตอบรับการเชิญชวนของเขา ดังเช่นที่พวกมุชริกมักกะฮฺทำ เพราะแม้เพียงเหตุผลแค่นี้ ก็มีผลทำให้กลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธาได้

4. เงื่อนไขที่สี่ “ انْقِيادٌ (อินกิยาด) การนอบน้อมยอมจำนน”

คือ การยอมสยบต่อเตาฮีดหรือเชื่อมั่นในเอกภาพของ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่ง”อินกิยาด”นี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้ปฏิบัติตามคำสั่งของ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทั้งโดยเปิดเผยและซ่อนเร้น สิ่งไหนที่พระองค์ทรงสั่งใช้ให้ทำ เราก็กระตือรือร้นที่จะทำ สิ่งไหนที่เป็นคำสั่งห้าม เราก็เต็มใจที่จะละห่างจากมัน ไม่กระทำ ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ ลุกมาน อายะฮฺที่ 22 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสความว่า

“และผู้ใดยอมมอบใบหน้าของเขาต่ออัลลอฮฺ ในฐานะเป็นผู้กระทำดี ก็เท่ากับว่า เขาได้ยึดห่วงอันมั่นคง เอาไว้แล้ว
และผลบั้นปลายนั้น ย่อมกลับไปยังอัลลอฮฺทั้งสิ้น”

ความหมายของ “การยอมมอบใบหน้าของเขาต่ออัลลอฮฺ” หมายถึง การที่เรานอบน้อมยอมสยบ ยอมจำนนต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยสิ้นเชิง ด้วยการกระทำความดี อันได้แก่การที่เราศรัทธาต่อพระองค์ เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทุกประการ ละเว้นสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์ด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยการตัดขาดจากการชิริกทั้งหมด ดังกล่าวนี้แหละที่แสดงว่า เราได้ยึดห่วงอันมั่นคงไว้แล้ว ซึ่ง “ห่วงอันมั่นคง” หมายถึง คำปฏิญาณ ”ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ” นั่นเอง

5. เงื่อนไขที่ห้า “ صِدق (ศิดกฺ) ความสัจจริง”

คือ มีความสัจจริงและมีความซื่อสัตย์ในถ้อยคำที่เราได้กล่าวปฏิญาณออกไป จะต้องไม่มีความโกหกมดเท็จแฝงอยู่ในคำปฏิญาณที่เรากล่าวอย่างเด็ดขาด ใครก็ตามที่กล่าวคำปฏิญาณออกไป โดยที่หัวใจไม่ได้ยอมรับในคำปฏิญาณนั้น เขาก็คือผู้ที่โกหกมดเท็จ ไม่มีความสัจจริง ไม่ซื่อสัตย์ในคำพูดที่เขากล่าวออกไป และแน่นอน เขาก็คือผู้ที่สับปรับ เป็นมุนาฟิก ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัลฟัตหฺ อายะฮฺที่ 11 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกล่าวตำหนิติเตียนผู้ที่ไม่มีความสัจจริงในคำพูดของพวกเขาไว้ความว่า

“… พวกเขาพูดด้วยกับลิ้นของพวกเขา ด้วยสิ่งที่ไม่มีอยู่ในหัวใจของพวกเขา…”

นั่นก็คือพูดอย่างหนึ่งแต่ใจอีกอย่าง หรือที่เราพูดว่า ปากกับใจไม่ตรงกัน ดังนั้น จงระวังในสิ่งนี้ พยายามให้ปากกับใจดำเนินไปในทางเดียวกัน คือ มีใจที่ซื่อสัตย์ในคำปฏิญาณที่เรากล่าวออกมา

6. เงื่อนไขที่หก “ مَحَبَّة (มะฮับบะฮฺ) ความรัก”

คือ มีความรักในคำปฏิญาณที่กล่าวออกไป และรักที่จะปฏิบัติตามคำปฏิญาณนี้ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความรักต่อบรรดาผู้ที่ปฏิญาณในถ้อยคำนี้และปฏิบัติตามคำปฏิญาณนี้ด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าบางครั้งเราจะไม่ชอบเรื่องอื่นๆบางเรื่องของเขาก็ตาม แต่เราก็จะมีความรักต่อเขา เพราะเขามีความรักต่อ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

เครื่องหมายบ่งชี้สำหรับเงื่อนไขนี้ก็คือ เราจะให้ความรักที่มีต่อ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นำหน้าทุกสิ่ง แม้ว่าเราจะไม่ชอบคนๆหนึ่ง แต่เมื่อเขาเชิญชวนเราไปสู่เรื่องราวของอัลอิสลาม เราก็พร้อมจะรับฟัง พร้อมจะให้การช่วยเหลือเขาในเรื่องราวของหลักการศาสนาตามกำลังความสามารถ เราจะเป็นมิตรกับผู้ที่เป็นมิตรต่อ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาและร่อซูลของพระองค์ ในขณะเดียวกันก็พยายามปลีกตัวออกห่างจากผู้ที่เป็นศัตรูต่อพระองค์และร่อซูลของพระองค์ ซึ่งนั่นก็คือ หลัก “อัลวะล๊าอ์ วัลบะร็ออ์ (การเป็นมิตร และการปลีกตัวออกห่างจากกุฟรฺ)” นั่นเอง พร้อมทั้งเชื่อฟัง ยอมรับและปฏิบัติตามแนวทาง แบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมโดยเคร่งครัด

7. เงื่อนไขที่เจ็ด “ اخْلَاصٌ (อิคลาศ) ความบริสุทธิ์ใจที่ต้องการจะออกห่างจากชิริกทุกรูปแบบ“

มีความบริสุทธิ์ใจในการกล่าวถ้อยคำปฏิญาณนี้ เพื่อความพอพระทัย เพื่อความโปรดปรานของ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดเคลือบแฝงในการกล่าวคำปฏิญาณนี้เลย ในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺ อัลบัยยินะฮฺ อายะฮฺที่ 5 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสความว่า

“และพวกเขาไม่ได้ถูกบัญชาให้กระทำสิ่งใด นอกจากเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ

เป็นผู้มีอิคลาศ (คือมีเจตนาบริสุทธิ์ในการเคารพภักดีต่อพระองค์เพียงองค์เดียว โดยออกห่างจากการชิริกทั้งหมด)
พวกเขาเป็นผู้อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง…”

ดังกล่าวข้างต้นนี้ทั้งหมด คือ เงื่อนไข 7 ประการ ที่อุละมาอ์ได้อธิบายไว้ว่าจะทำให้การกล่าวคำปฏิญาณ “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ” ของเราสามารถเป็นกุญแจไขประตูสวรรค์ได้

ดังนั้นขอให้เราศึกษา ทำความเข้าใจในรายละเอียดของเงื่อนไขทั้งหมด พร้อมทั้งพยายามยึดถือ และปฏิบัติตามอย่างเต็มความสามารถของเรา เพื่อประโยชน์แก่ตัวเราเองทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ
จากอัลฮะดีสในบันทึกของ อิมาม มุสลิม ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

مَنْ مَاتَ وَهُوَ يَعْلَمُ أَنَّهُ لاَإِلَهَ إِلاَّاللَّهُ دَخَلَ الْجَنَّةَ

“ผู้ใดที่เสียชีวิตไปในขณะที่เขาเข้าใจในถ้อยคำ ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ แน่นอน เขาผู้นั้นได้เข้าสวรรค์”

อัพเดทล่าสุด