ร่อบีอุ้ลเอาวั้ล เหตุการณ์สำคัญในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล มีอะไรบ้าง....
ร่อบีอุ้ลเอาวั้ล เหตุการณ์สำคัญในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล
บทความโดย: อ.อาลี เสือสมิง
การประสูติของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.)
ท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้ทรงถือกำเนิดในวันจันทร์ตรงกับวันที่ 12 เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีช้าง ซึ่งนับเป็นวันที่น่าปิติยินดีที่สุดวันหนึ่งที่ดวงตะวันได้ขึ้นทอแสงเฉิดฉายในวันนั้น พระองค์คือ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.) ผู้เป็นบุตรของท่านอับดุลลอฮฺ บุตรท่านอับดุลมุตตอลิบ บุตรท่านฮาชิม บุตรท่านอับดุลม่านาฟ บุตรท่านกุซอยย์ บุตรท่านฮ่ากีม (กิล๊าบ) บุตรท่านมุรเราะห์ บุตรท่านกะอฺบ์ บุตรท่านลุอัยย์ บุตรท่านฆอลิบ บุตรท่านฟิฮฺริน บุตรท่านมาลิก บุตรท่านอันนัฎร์ บุตรท่านกินานะฮฺ บุตรท่านคุซัยมะห์ บุตรท่านมุดริกะห์ บุตรท่านอิลย๊าส บุตรท่านมุฎ็อร บุตรท่านนิซาร บุตรท่านมุอัด บุตรท่านอัดนาน เชื้อสายของท่านอัดนานสืบสิ้นสุด ณ ท่านศาสดาอิสมาแอล (อ.ล.) บุตรท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.ล.)
ครั้นเมื่อมารดาของท่านศาสดาได้ทรงคลอดท่านศาสดาแล้ว พระนางก็ได้ส่งคนไปบอกท่านอับดุลมุตตอลิบผู้เป็นปู่ว่า “ท่านได้หลานชายแล้ว” อับดุลมุตตอลิบจึงรุดมาหา ดูหน้าหลานชายและอุ้มเข้าสู่ภายในตัวอาคารอัลกะอฺบะฮฺ และได้ตั้งชื่อให้ว่า “มุฮัมมัด” (ผู้ได้รับการแซ่สร้องสาธุการ) ซึ่งชื่อนี้เป็นชื่อที่เรียกและตั้งกันน้อยมาก (จนแทบไม่ปรากฏ) ทำให้ชาวอาหรับในยุคนั้นพากันประหลาดใจไปตาม ๆ กัน
ท่านศาสดาได้เดินทางอพยพถึงนครม่าดีนะห์ในวันที่ 12 เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ตรงกับ วันจันทร์ พระองค์ได้ทรงวางศิลารากฐานแรกแห่งสังคมอิสลามยุคแรกเริ่ม ณ นครม่าดีนะห์
ท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้ทรงสิ้นพระชนม์ในวันจันทร์ที่ 12 เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 11 แห่งฮิจเราะห์ศักราช ท่านอิบนุกะซีรได้กล่าวว่า “ไม่มีการขัดแย้งกันว่าท่านศาสดาได้ทรงเสียชีวิตในวันจันทร์” และท่านอิบนุอับบ๊าส ได้กล่าวว่า “ศาสดาของพวกท่านทั้งหลายได้ทรงถือกำเนิดในวันจันทร์ และได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นศาสดาในวันจันทร์ และอพยพออกจากนครมักกะฮฺในวันจันทร์และเข้าสู่นครม่าดีนะห์ในวันจันทร์และทรงเสียชีวิตในวันจันทร์ (รายงานโดยท่านอิหม่ามอะห์หมัดและท่านอัลบัยฮ่ากีย์)
ท่านซุฟยาน อัซเซารีย์ รายงานจากท่านฮิชาม อิบนิ อุรวะห์ จากบิดาของเขาจากพระนางอาอิชะห์ (รฎ.) พระนางกล่าวว่า “ท่านอบูบักรได้กล่าวแก่ฉันว่าท่านศาสดาทรงเสียชีวิตวันใด ฉันกล่าวว่า วันจันทร์” ท่านอบูบักรก็ได้กล่าวขึ้นว่า “ฉันก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าฉันจะตายในวันจันทร์ และท่านก็ได้เสียชีวิตในวันนั้น” (รายงานโดยอัลบัยฮะกีย์) และรายงานจากท่านอนัส ว่า “ท่านศาสดาทรงเสียชีวิตขณะมีอายุได้ 63 ปีและท่านอุมัรก็ได้เสียชีวิตเมื่ออายุได้ 63 ปี” (อิหม่ามมุสลิมรายงานเพียงลำพัง)
และได้มีรายงานมาในซอเฮียะห์บุคอรีและมุสลิมจากหะดีษของท่านอัลลัยซฺ อิบนิสะอฺด์จากท่านอุกอยล์จากท่านอัซซุฮรีย์จากท่านอุรวะฮฺจากพระนางอาอิชะฮฺ (รฎ.) พระนางกล่าวว่า “ท่านศาสนทูต (ซ.ล.) ทรงเสียชีวิตขณะท่านมีอายุได้ 63 ปี” และพระนางอาอิชะฮฺยังได้กล่าวไว้ในอีกสายรายงานหนึ่งว่า “ท่านศาสดาและท่านอบูบักรได้กล่าวถึงวันเวลาเกิดของทั้งสองต่อหน้าฉัน ท่านศาสดามีอายุมากกว่าท่านอบูบักรและท่านเสียชีวิตขณะมีอายุได้ 63 ปี และท่านอบูบักรได้เสียชีวิตหลังจากท่านศาสดาขณะมีอายุได้ 63 ปี”
ส่วนช่วงเวลาที่ท่านเสียชีวิตในวันจันทร์ที่ 12 นั้นมีสายรายงานจากท่านอัซซุฮฺรีย์จากท่านอนัสว่าท่านศาสดาทรงเสียชีวิตในช่วงเวลาเย็นของวันนั้น ท่านอิบนุกะซีรกล่าวว่า “หะดีษบทนี้เป็นหะดีษซอเฮียะห์และบ่งชี้ว่าเวลาที่ท่านศาสดาเสียชีวิตนั้นเป็นช่วงเวลาหลังตะวันคล้อยไปแล้ว วัลลอฮุอะอฺลัม” แต่สายรายงานจากท่านอัลเอาซาอีย์ กล่าวว่าท่านเสียชีวิตในช่วงก่อนเวลาบ่าย
ในช่วงเวลาที่เหลือของวันที่ 12 (วันจันทร์) และอีกบางส่วนของวันอังคารเหล่าอัครสาวกก็ยุ่งอยู่กับการให้สัตยาบันแก่ท่านอบูบักร อัซซิดดีก ครั้นเมื่อเสร็จกิจธุระในเรื่องนี้แล้ว เหล่าอัครสาวกก็เริ่มเตรียมการเกี่ยวกับศพของท่านศาสดา (ซ.ล.) โดยปฏิบัติตามท่านอบูบักรในกรณีเกิดปัญหาใด ๆ มีรายงานจากพระนางอาอิชะฮฺว่า ท่านศาสดาทรงเสียชีวิตในวันจันทร์และถูกฝังศพในวันพุธ
รายงานจากท่านอิกริมะฮฺ จากท่านอิบนิ อับบ๊าสว่า “ผู้คนได้รวมตัวกันเพื่อทำการอาบน้ำศพท่านศาสดา และในบ้านของท่านศาสดาก็มีแต่วงศ์วานของท่าน อันได้แก่ท่านอับบ๊าส อิบนุ อับดิลมุตตอลิบ ท่านอาลี อิบนุ อบีตอเล็บ ท่านฟัดส์ อิบนุ อับบ๊าส ท่านกุซุม อิบนุ อับบ๊าส ท่านอุซามะหฺ อิบนุ เซด อิบนิ ฮาริซะฮฺ และท่านซอและห์คนรับใช้ของท่านอุซามะห์ ท่านอับบ๊าส ท่านฟัดส์ ท่านกุซุม คอยร่วมกันพลิกศพพร้อมกับท่านอาลี และท่านอุซามะห์กับท่านซอและห์คอยรดน้ำ ท่านอาลีเป็นผู้เริ่มอาบโดยศพของท่านศาสดาถูกปดปิดมิดชิดและท่านอาลีก็ไม่พบว่ามีสิ่งใดออกมาจากศพของท่านดังเช่นศพของบุคคลอื่นที่มักจะมีสิ่งที่ไม่ดีออกมาปรากฏให้เห็น (เช่นมีน่ายิส)
วันที่ 12 เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีเดียวกัน (ฮ.ศ.11)
ชาวอันซ๊อร (ชาวนครม่าดีนะห์ที่ให้การช่วยเหลือท่านศาสดาและเหล่าสาวกจากนครมักกะห์) ได้ร่วมชุมนุมหารือกัน ณ กระโจมแห่งตระกูลบ่านีซาอิดะฮฺ (ซ่ากีฟะห์) เพื่อทำการเลือกท่านสะอฺด์ อิบนุ อุบาดะห์ (รฎ.) ให้ดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์สืบต่อจากท่านศาสดา (ซ.ล.) ซึ่งต่อมาในช่วงท้ายของการประชุมก็ได้มีมติเห็นพ้องจากทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายชาวอันซ๊อร และฝ่ายมุฮาญีรีน (บรรดาผู้อพยพจากนครมักกะห์) ที่มาสมทบในการประชุมในช่วงหลังให้เลือกท่านอบูบักร อัซซิดดิ๊ก (รฎ.) ดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์สืบต่อจากท่านศาสดา (ซ.ล.)
ชาวอาหรับบางเผ่าได้สิ้นสภาพจากการถือในศาสนาอิสลาม (ตกศาสนา) และบางเผ่าได้ปฏิเสธการจ่ายและรวบรวมทานซะกาตแก่ท่านค่อลีฟะห์อบูบักร อัซซิดดิ๊ก (รฎ.) -อันเป็นการแสดงถึงการไม่ยอมรับอำนาจของส่วนกลางที่มีค่อลีฟะห์เป็นประมุข- ตลอดจนมีการกล่าวอ้างการเป็นศาสดาเก๊ของผู้นำบางเผ่าเช่นมุซัยลิมะห์ อัลกัซซาบแห่งเผ่าฮานีฟะห์ที่ อัลยามามะฮฺ, อัลอัสวัด อันอันซีย์ซึ่งมีนามว่าอับฮ่าละฮฺอิบนุกะอฺบ์อิบนิเฆาซ์ เป็นคนจากตำบลที่มีชื่อเรียกว่า กะฮฺฟิฮันนาน มีพลพรรคจำนวน 700 นาย
อัลอัสวัดได้มีสาส์นถึงข้าหลวงของท่านศาสดาว่า “โอ้บรรดาผู้กบฎแข็งข้อต่อเรา พวกเจ้าจงยึดสิ่งที่พวกเจ้าเอาไปจากผืนแผ่นดินของเรา และจงเพิ่มพูนสิ่งที่พวกเจ้าได้รวบรวมเอาไว้เถิด พวกเรามีสิทธิอันสมควรกว่าต่อสิ่งนั้น พวกเจ้าก็จงเป็นเช่นที่พวกเจ้าเป็นอยู่” อัลอัสวัดได้นำไพร่พลของตนมุ่งหน้าสู่แคว้นนัจรอนและยึดนัจรอนได้ ต่อมาก็มุ่งหน้าสู่นครซอนอาอฺ ท่านชะฮฺร์ อิบนุ บาซานก็ได้ออกมาขัดตาทัพและมีการสู้รบกันระหว่างสองฝ่าย แต่อัลอัสวัดก็สามารถเอาชนะและสังหารท่านชะฮฺร์ได้ในที่สุด
ทัพของท่านชะฮฺร์ก็แตกกระเจิง อัลอัสวัดเข้ายึดครองนครซอนอาอฺได้ท่านมุอ๊าซ อิบนุ ญะบัลข้าหลวงแห่งแคว้นยะมันก็ได้หลบหนีออกจากที่นั่น และไปสมทบกับท่านอบีมูซา อัลอัชอารีย์ ทั้งสองได้เดินทางสู่อัฎร่อเมาต์ บรรดาเจ้าพนักงานของท่านศาสดาก็พากันหนีไปสู่เมืองอัตตอฮิร ท่านอุมัร อิบนุ ฮิรอม ท่านคอลิด อิบนุ ซะอีด อิบนิ อัลอ๊าศก็กลับสู่นครม่าดีนะห์ แคว้นยะมันทั้งหมดก็ได้ตกอยู่ในน้ำมือของอัลอัสวัด และเริ่มแผ่อิทธิพลอันชั่วร้าย จนมีผู้คนเป็นจำนวนมากตกศาสนา
บรรดามุสลิมที่ยังอยู่ที่นั่นก็ปฎิบัติต่ออัลอัสวัด ด้วยการอำพรางทัศนะแบบเสแสร้งเพื่อเอาตัวรอด ต่อมาในภายหลังท่านศาสดาได้มีสาส์นถึงชาวยะมันเมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวของอัลอัสวัดโดยมีคำสั่งให้เหล่ามุสลิมที่นั่นต่อสู้กับอัลอัสวัด ท่านมุอ๊าซ ก็ได้ปฎิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ในท้ายที่สุดอัลอัสวัดก็ถูกสังหาร และข่าวการสังหารอัลอัสวัดก็ได้มาถึงท่านอบูบักรในปลายเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ลหลังการจัดเตรียมทัพของท่านอุซามะห์
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของซ่าญาฮฺ บินติ อัลฮาริษ อิบนิ ซุวัยด์ จากเผ่าตะมีม รายนี้เป็นหญิงชาวคริสเตียนอาหรับ นางได้กล่าวอ้างการเป็นศาสดาโดยมีพรรคพวกและสมุนเป็นกำลังสนับสนุนมีเจตนาที่จะทำสงครามกับท่านอบูบักร เมื่อนางได้นำไพร่พลผ่านไปในถิ่นของเผ่าตะมีม นางได้เรียกร้องเชิญชวนพวกนั้น ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ของเผ่านี้ก็ได้ตอบรับ
ส่วนหนึ่งจากพวกเหล่านี้คือมาลิก อิบนุ นุวัยเราะห์ อัตตะมีมีย์ อ้าตอริด อิบนุ ฮาญิบ และกลุ่มหนึ่งจากผู้นำเผ่าตะมีม ส่วนที่เหลือไม่เข้าร่วมซ่าญาฮฺได้นำไพร่พลมุ่งสู่อัลยามามะห์เพื่อแย่งชิงจากมุซัยลิมะหฺ อิบนิ ฮุบัยยิบ อัลกัซซาบ ซึ่งต่อมาทั้งสองได้ร่วมมือกันและซ่าญาฮฺ ก็ได้แต่งงานกับมุซัยลิมะห์ ซึ่งสินสอดที่มุซัยลิมะห์ได้มอบแก่ ซ่าญาฮฺ ก็คือ ยกเลิกการละหมาดอัลฟัจร์ และละหมาดอิชาอฺ (ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงสาปแช่งบุคคลทั้งสอง)
ท่านอบูบักร (รฎ.) ได้ทรงส่งท่านค่อลิด อิบนุ อัลว่าลีด ให้นำทัพไปปราบปรามพวกกบฎเผ่าฮ่านีฟะห์ ณ อัลย่ามามะห์ เหล่ามุสลิมก็ได้รวมกำลังพลเพื่อร่วมรบกับท่านคอลิด โดยมีท่านซาบิต อิบนุ ก็อยซฺ อิบนิ ชัมมาส เป็นผู้นำชาวอันซ๊อร กองกำลังของฝ่ายมุสลิมได้จัดการกับพวกกบฏทุกแห่งหนที่เคลื่อนกำลังผ่านไปและทหารม้าของมุสลิมได้ฝ่าแนวกำลังไพร่พลของซ่าญาฮฺและตีจนแตกพ่าย และขับไล่พวกที่เหลืออยู่ออกมานอกเขตคาบสมุทรอาหรับ ท่านอบูบักร (รฎ.) ได้ส่งกองหนุนไปช่วยระวังหลังให้ท่านคอลิด โดยก่อนหน้านี้ท่านอบูบักรได้ส่งท่านอิกริมะหฺ อิบนิ อบีญะฮฺลิน, ชุเราะฮฺบีล อิบนุ ฮัสนะฮฺ แต่ทั้งสองท่านก็มิได้ต่อสู้กับเผ่าฮานีฟะห์เพราะพวกนี้มีกำลังพลถึง 40,000 นาย
ครั้นเมื่อมุซัยลิมะห์ทราบข่าวการเคลื่อนกำลังพลมาของท่านคอลิด มุซัยลิมะห์ก็ได้ออกมาตั้งค่ายที่ตำบลแห่งหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า อักร่อบา ชานเมืองอัลย่ามามะห์ กองทัพของมุสลิมได้รุกคืบหน้าจนท่านคอลิดได้ปักหลักสู้ ณ เนินทรายสูงแห่งหนึ่งซึ่งสามารถมองเห็นเมืองอัลย่ามามะห์ ได้ท่านซาลิม คนสนิทท่านฮุซัยฟะห์ เป็นผู้ถือธงรบของชาวมุฮาญีรีน ท่านซาบิต อิบนุ ก็อยซฺ อิบนิ ชัมมาส ถือธงรบของชาวอันซ๊อร
การประจัญบานในระลอกแรกกองทัพฝ่ายมุสลิมเกือบเสียที แต่เหล่าอัครสาวกก็ได้ยืนหยัดต่อสู้ และป่าวประกาศว่า “โอ้ชาวซูเราะห์ อัลบ่ากอเราะห์ วันนี้ไสยศาสตร์ อวิชาได้โมฆะแล้ว” ท่านซาบิต อิบนุ ก็อยซฺ ได้ขุดหลุมฝังขาทั้งสองข้างจนถึงหน้าแข้ง ในสภาพที่ท่านถือธงรบของชาวอันซ็อรหลังจากที่ท่านได้ห่อร่างกายของท่านด้วยผ้ากาฝั่น ท่านยังคงยืนหยัดต่อสู้จนถูกสังหาร ณ ที่นั่น ท่านอบูฮุซัยฟะห์ได้รับธงรบต่อมาจากท่านซาลิมและได้รับบาดเจ็บ
ในเวลาต่อมา ท่านคอลิดจึงถือธงรบต่อและนำทัพมุสลิมเข้าตีฝ่าและไล่ติดตามตัวมุซัยลิมะห์ ในที่สุดมุซัยลิมะห์ อัลกัซซาบ ก็ได้ถูกสังหารพร้อมกับไพร่พลของตนซึ่งหลบหนีเข้าไปในสวนแห่งหนึ่ง โดยมุซัยลิมะห์ถูกสังหารด้วยหอกของวะฮฺซีย์ อิบนุ ฮัรบ์ อดีตมือสังหารท่านฮัมซะห์ นั่นเอง หอกของวะฮฺซีย์แทงทะลุมุซัยลิมะห์ และท่านอบู ดัจญานะฮฺ ก็เข้าฟันซ้ำจนมุซัยลิมะห์ล้มคะมำขาดใจตาย
ท่านอบูบักร อัซซิดดิ๊ก ได้ดำเนินการจัดเตรียมทัพภายใต้การนำของท่านอุซามะห์ เพื่อทำศึกกับโรมันพร้อมกันนี้ท่านก็ยังคงยืนกรานที่จะทำสงครามกับพวกตกศาสนา (มุรตัดดีน) และพวกที่ปฏิเสธการจ่ายซะกาต ในตอนปลายเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ท่านได้กล่าวสุนทรพจน์อันเลื่องลือว่า “ขอสาบานต่อองค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่แก้ปมที่ท่านศาสนทูตได้ขมวดปมเอาไว้ ถึงแม้ว่า ฝูงนกจะฉกเฉี่ยวพวกเรา และฝูงสัตว์ร้ายจะ (ป้วนเปี้ยน) อยู่รอบ ๆ เมืองม่าดีนะห์ และถึงแม้ว่าฝูงสุนัขจะลาก (ดึง) ขาของบรรดามารดาแห่งปวงชนผู้ศรัทธาก็ตามทีข้าพเจ้าจะต้องตระเตรียมจัดกองทัพของท่านอุซามะห์ (รฎ.)”
กองทัพของท่านอุซามะห์ซึ่งมีกำลังพลจำนวน 700 นาย ได้มุ่งสู่แคว้นชาม เมื่อเคลื่อนทัพถึงตำบลซุคอซับ ท่านศาสดาก็เสียชีวิตเสียก่อน และชาวอาหรับรอบ ๆ นครม่าดีนะห์ได้ตกศาสนาเหล่าอัครสาวกก็ได้ร่วมประชุมกับท่านอบูบักร และกล่าวว่า “โอ้ท่านอบูบักรให้พวกเขาเหล่านั้นกลับมาเถิด พวกเขาเหล่านั้นได้มุ่งหน้าสู่พวกโรมัน และพวกอาหรับรอบ ๆ เมืองม่าดีนะห์ก็ได้ตกศาสนา” ท่านอบูบักรจึงได้กล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าว
ภาพไม่เกี่ยวกับเนื้อหา
วันที่ 30 ร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 12 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ท่านค่อลีฟะห์อบูบักร (รฎ.) ได้ขอคำปรึกษาจากเหล่าสาวก (มุชาว่าเราะห์) ที่มีชีวิตอยู่ในขณะนั้นในเรื่องการพิชิตแคว้นชาม ทั้งหมดได้ลงมติพร้อมกันให้ทำการพิชิตและท่านค่อลีฟะห์อบูบักรก็ได้กล่าวปราศัยท่ามกลางปวงชนชาวมุสลิมว่า “พวกท่านทั้งหลายจงเตรียมพร้อม โอ้บรรดาปวงบ่าวแห่งองค์พระผู้เป็นเจ้า สู่การศึกกับโรมัน ณ แคว้นชามเถิด”
กองกำลังทางทหารของอิสลามิกชนภายใต้การนำของท่านคอลิด อิบนุ อัลวะลีด ได้เข้าโจมตีกองทัพของเปอร์เซียในสมรภูมิอัลม่าก็อร ณ ชายฝั่งของแม่น้ำยูเฟรติส ในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 12 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ท่านคอลิด อิบนุ อัลวะลีดได้พิชิตเมืองอัลฮีเราะห์ (อิรัก) ได้โดยการประนีประนอมภายหลังการปิดล้อมเมืองนี้ในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีฮ.ศ.ที่ 12 ท่านคอลิดได้ยื่นข้อเสนอให้ชาวเมืองเลือกเอาระหว่างการเข้ารับอิสลาม หรือจ่ายส่วย (ญิซฺยะห์) หรือสงคราม ชาวเมืองได้เลือกเอาการจ่ายส่วยและท่านคอลิดก็ได้เขียนสนธิสัญญาประนีประนอมที่ทำกับชาวเมือง
(เมืองอัลฮีเราะห์ ปัจจุบันเป็นซากปรักหักพัง อดีตราธานีของเหล่ากษัตริย์อัลลัคมียีน (ลาเคเมี่ยน) อยู่ระหว่างเมืองอันน่าญัฟและเมืองอัลกูฟะห์ในอิรัก ชาวเมืองเป็นพวกคริสเตียนนิกายนัสตอเรียนหรือนิสตอเรียน -อันน่าซาติเราะห์- เมืองนี้เป็นที่รู้จักในนามนครฮีเราะห์แห่งอันั้วมานเจริญสุดขีดในรัชสมัยของอัลมุนซิรที่ 3)
ท่านมุซันนา อิบนุ ฮาริซะฮฺ แม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพของมุสลิมได้สร้างความปราชัยแก่กองกำลังทหารของเปอร์เซียในเมืองอัลฮีเราะห์ซึ่งมีฮุรมุซ ญาซุวัยฮฺ เป็นแม่ทัพของฝ่ายเปอร์เซีย ในช่วงปลายเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 13 แห่งฮิจเราะห์ศักราช ในสมรภูมิบาบิ้ล (บาบิโลน) ท่านอัลมุซันนา และกองทหารมุสลิมได้รุกไล่บดขยี้กองทัพเปอร์เซียจนกระทั่งถึงนครอัลม่าดาอิน
ภาพไม่เกี่ยวกับเนื้อหา
วันที่ 25 ร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 13 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
กองกำลังทหารของมุสลิม ภายใต้การนำของท่านอบู อุบัยดะฮฺ อิบนุ อัลญัรรอฮฺ ท่านยะซีด อิบนุ อบีซุฟยาน ท่านชุเราะห์บีล อิบนุฮาซานะห์ และท่านคอลิด อิบนุ อัลวะลีด (รฎ.) ได้ทำการปิดล้อมเมืองบุซรอ จนทำให้ประชาชนชาวเมืองบุซรอยอมแพ้โดยการประนีประนอม และการจ่ายส่วย (ญิซยะห์) ของชาวเมืองบุซรอ นับว่าเป็นการจ่ายส่วยครั้งแรกที่เกิดขึ้น ณ แคว้นชาม ในสมัยของท่านค่อลีฟะห์อบูบักร อัซซิดดิ๊ก (รฎ.) (เมืองบุซรอ อิสกีย์ชาม เป็นเมืองในซีเรีย อยู่ในจังหวัดฮูรอน)
ในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 16 แห่งฮิจเราะห์ศักราช (ตามคำกล่าวของอิบนิ อัลอะซีร ซึ่งมีนามเต็มว่า อิซฺซุดดีน อาลี -11601/1234- นักประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่)
ท่านอัมร์ อิบนุ อัลอ๊าศ (รฎ.) ได้ทำการพิชิตอียิปต์โดยการประนีประนอมหลังการปิดล้อมตำบลอัยน์ชัมส์ (เฮโลโปลิส) และยังได้ร่างสาส์นยืนยันความปลอดภัยในชีวิต ศาสนาลัทธิ (ความเชื่อ) และทรัพย์สินแก่ประชาชนชาวอียิปต์
ในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 25 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ท่านอัมร์ อิบนุ อัลอ๊าศได้นำกองทัพเข้าตีนครอเล็กซานเดรีย หลังการละเมิดสัญญาประนีประนอมของชาวเมืองโดยได้รับการยุยงจากพระจักรพรรดิแห่งกรุงโรม
ในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 41 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ท่านฮะซัน อิบนุ อาลี (รฎ.) ได้สละตำแหน่งค่อลีฟะห์แก่ท่านมุอาวียะห์ อิบนิ อบีซุฟยาน (รฎ.) ในวันที่ 5 เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ภายหลังการถอนตัวของชาวอิรักจากการให้ความช่วยเหลือและให้การสนับสนุนท่านฮะซัน อิบนุ อาลี (รฎ.)
ท่านอาลี อิบนุ อบีตอลิบ (รฎ.) อมีรุ้ลมุอฺมีนีน ค่อลีฟะห์ที่ 3 แห่งอิสลามได้ถูกอิบนุ มุ้ลญัม ลอบแทงด้วยดาบที่ศีรษะด้านขวาของท่านอาลีจนเลือดไหลลงมาชะโลมเคราของท่าน ขณะที่ท่านกำลังออกไปมัสญิดเพื่อละหมาดซุบฮ์ อิบนุ มุ้ลญัมถูกจับตัวได้และถูกมัดไว้ ท่านอาลี ถูกหามมายังบ้านของท่าน
โดยท่านกล่าวแก่อิบนิ มุ้ลญัม ว่า “โอ้ ศัตรูของอัลลอฮฺ ฉันไม่เคยทำดีกับท่านเลยหรือไร อิบนุ มุ้ลญัมตอบว่า หามิได้ … ต่อมาท่านอาลี (รฎ.) ก็ได้กล่าวขึ้นว่า หากว่าฉันตาย พวกท่านทั้งหลายจงสังหารเขาเถิด และถ้าหากฉันยังมีชีวิตรอดอยู่ ฉันย่อมรู้ดีว่าฉันจะจัดการเขาอย่างไร ท่านญุนดุบ อิบนุ อับดิลลาฮฺกล่าวว่า ”โอ้ท่านอมีรุ้ลมุอฺมีนีน ถ้าหากว่าท่านเสียชีวิต พวกเราจะให้สัตยาบันแก่ท่านฮะซันนะ” ท่านอาลีตอบว่า “ฉันจะไม่ใช้พวกท่านและก็จะไม่ห้ามพวกท่าน พวกท่านรู้ดีกว่าในเรื่องนี้” ครั้นเมื่อท่านอาลีใกล้จะสิ้นลมท่านก็พร่ำกล่าวคำว่า ลาอิลาฮ่าอิ้ลลั้ลลอฮฺ
ท่านอาลีได้สั่งเสียท่านฮะซันและท่านฮูเซ็นบุตรชายทั้งสองของท่านให้มีความยำเกรงต่อพระองค์อัล ลอฮฺ (ซ.บ.) การละหมาด การจ่ายซะกาต ช่วยเหลือปลดทุกข์คนยากเข็ญ ติดต่อเครือญาติ และมีการให้อภัยไม่ถือโทษคนที่ไม่รู้และให้ทำความเข้าใจในเรื่องศาสนา มีความแน่วแน่มั่นคง ฯลฯ และท่านอาลียังได้สั่งเสียเรื่องเดียวกันนี้แก่ท่านมุฮัมมัด อิบนิ อัลฮ่าน่าฟียะห์ นอกเหนือจากการที่ท่านมุฮัมมัดจะต้องให้เกียรติต่อท่านฮะซันและท่านฮุซัยน์ผู้เป็นพี่ชายร่วมบิดา และจะต้องไม่กระทำสิ่งใดนอกจากต้องปรึกษาท่านทั้งสองเสียก่อน
หลังจากท่านอาลี (รฎ.) ได้เสียชีวิต ท่านฮะซันก็ได้นำละหมาดให้แก่ศพของท่านอาลี ทั้งนี้เพราะท่านฮะซันเป็นบุตรชายคนโตของท่าน หลังเสร็จสิ้นเรื่องนี้ท่านก็อยซ์ อิบนุ ซะอฺด์ อิบนิ อุบาดะฮฺได้มาหาท่านฮะซันและให้สัตยาบันแก่ท่าน ต่อมาปวงชนก็ได้ให้สัตยาบันในภายหลัง วันนั้นเป็นวันเดียวกันกับที่ท่านอาลีเสียชีวิตซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 27 ร่อมาฎอน ปีที่ 40 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ท่านฮะซันจึงดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์ ต่อมาท่านฮะซันได้พบว่าทหารใต้การบังคับบัญชาไม่สามัคคีกัน ท่านก็ไม่พอใจจึงได้เขียนสาส์นถึงท่านมุอาวียะห์ อิบนิ อบีซุฟยาน ซึ่งกุมอำนาจอยู่ในเมืองชาม ทั้งนี้เพื่อทำการประนีประนอมกันระหว่างทั้งสองฝ่าย (กองทัพของท่านฮะซันอยู่ภายใต้การนำของท่านก็อยซ์ อิบนิ ซะอฺด์ซึ่งเคลื่อนทัพออกจากเมืองอัลม่าดาอิน เพื่อทำศึกกับแคว้นชาม ของท่านมุอาวียะห์)
ท่านมุอาวียะห์ได้ส่งอับดุลลอฮฺ อิบนิ อามิรและอับดุรเราะห์มาน อิบนิ ซุมเราะฮฺไปยังนครกูฟะฮฺ โดยได้มีการตกลงกันว่า ท่านฮะซันจะได้รับเบี้ยเลี้ยงจากคลังของนครกูฟะฮฺ จำนวน 5,000,000 ดิรฮัม และภาษีท้องที่เพาะปลูกของดารอับญ่ารอจ และจะต้องไม่ทำการบริภาษท่านอาลี ถ้าทำตามข้อเสนอนี้ ท่านฮะซันจะยอมสละตำแหน่งให้กับท่านมุอาวียะห์ และปวงชนมุสลิมก็มิต้องเสียเลือดเสียเนื้อเกี่ยวกับเรื่องนี้ท่านฮุซัยน์ไม่เห็นด้วย ท่านฮะซันได้ส่งคนไปแจ้งเรื่องการสละอำนาจดังกล่าวแก่ท่านก็อยซ์ ผู้เป็นแม่ทัพของท่านปรากฏว่าท่านก็อยซ์ปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของท่านฮะซันและกบฎแข็งขืน
ท่านฮะซันจึงปลีกตัวอยู่เฉพาะกับบรรดาผู้ให้การสนับสนุนท่าน และไม่นานท่านก็ได้ให้สัตยาบันต่อท่านมุอาวียะห์ท่านอิบนุ กะซีรได้กล่าวว่า ที่เป็นที่ทราบกันดีนั้น ท่านฮะซันได้ให้สัตยาบันต่อท่านมุอาวียะห์ในปีที่ 40 และปีนี้ถูกเรียกว่า ปีแห่งหมู่คณะ (อาม-อัลญ่ามาอะห์) และเป็นที่ทราบกันดี (มัชฮู๊ร) ตามรายงานของท่านอิบนุญะรีรและท่านอื่น ๆ จากบรรดานักประวัติศาสตร์ ระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงต้นปีฮ.ศ.ที่ 41 ท่านฮะซัน อิบนุ อาลี (รฎ.) เป็นหนึ่งจากบรรดาคุล่าฟาฮฺ อัรรอชีดีน
ทั้งนี้มีรายงานหะดีษจากท่านศาสดา (ซ.ล.) ว่า “การเป็นค่อลีฟะห์หลังจากฉันนั้น (คือในช่วง) เวลา 30 ปี หลังจากนั้นก็จะเป็นกษัตริย์” ท่านอิบนุ กะซีรกล่าวว่า อันที่จริงแล้วช่วงระยะเวลา 30 ปีนั้นได้ครบสมบูรณ์ด้วยการเป็นค่อลีฟะห์ของท่านฮะซัน อิบนุ อาลี (รฎ.) ทั้งนี้เพราะท่านได้สละตำแหน่งให้แก่ท่านมุอาวียะห์ในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 41 แห่งฮิจเราะห์ศักราชเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นใน…ช่วงเวลาครบถ้วนบริบูรณ์ 30 ปีพอดีนับแต่การเสียชีวิตของท่านศาสดา (ซ.ล.) เพราะท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้ทรงเสียชีวิตในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 11 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
มีรายงานจากท่านอบีบักเราะห์ อัซซ่อกอฟีย์ว่าท่านศาสดา (ซ.ล.) มีอยู่วันหนึ่งท่านได้ขึ้นมิมบัร (ธรรมาสน์) และท่านฮาซัน อิบนุ อาลี (รฎ.) ได้นั่งอยู่ข้าง ๆ ท่าน ท่านก็ได้แต่มองไปยังผู้คนพลาง และยังท่านฮาซันพลาง ต่อมาท่านก็ได้กล่าวว่า “โอ้ปวงชนทั้งหลาย แท้จริงลูกชายคนนี้ของฉันเป็นนาย (ผู้นำ) และพระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) จะทรงให้กลุ่มคนอันยิ่งใหญ่สองกลุ่มจากปวงชนมุสลิมได้ประนีประนอมกันด้วยเขาผู้นี้” รายงานโดยอัลบุคอรีย์
ในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 64 แห่งฮิจเราะฮฺศักราช
ท่านยะซีด อิบนุ มุอาวียะห์ ค่อลีฟะห์แห่งราชวงศ์อุม่าวียะห์ได้เสียชีวิต และได้มีการให้สัตยาบันแก่มุอาวียะห์ที่ 2 ผู้เป็นพระโอรส ในวันที่ 14 ร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 64 แห่งฮิจเราะห์ศักราช ขึ้นสืบอำนาจต่อยะซีด อิบนุ มุอาวียะห์ อิบนิ อบีซุฟยาน อิบนิ ซ็อคร์ อิบนิ ฮัรบ์ อิบนิ อุมัยยะห์ อิบนิ อับดิชัมส์ เกิดเมื่อปีที่ 25 หรือ 27 ได้รับการให้สัตยาบันเป็นผู้สืบทอดอำนาจขณะที่มุอาวียะห์ผู้เป็นบิดายังมีชีวิตอยู่ และได้รับการให้สัตยาบันอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อบิดาเสียชีวิตในช่วงกลางเดือนร่อญับ ปีที่ 60 มารดาของยะซีดคือ มัยซูน ท่านยะซีดได้รายงานจากบิดาของท่านว่า ท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า “บุคคลใดก็ตามที่พระองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงมีพระประสงค์ให้เขาได้รับความดี พระองค์ก็จะทรงให้เขาผู้นั้นเข้าใจในเรื่องของศาสนา” และยังมีรายงานหะดีษอีกบทหนึ่งในเรื่องการอาบน้ำละหมาด ท่านอบูซัรอะห์ อัดดิมัชกีย์ได้กล่าวว่า “ท่านญะซีดได้รายงานหะดีษไว้หลายบท ท่านเป็นคนอ้วน ๆ ร่างใหญ่ ขนดก หน้าตาดี ร่างสูง … บิดาของท่านได้หย่ามารดาของท่านขณะอยู่ในครรภ์”
ท่านยะซีด มีบุตรหลายคนด้วยกัน เช่น ท่านมุอาวียะห์ ซึ่งมีฉายาว่าอบูลัยลา หรือ อบูอับดิรเราะห์มาน มีมารดาชื่อ อุมมุอาซิม บินติ อบีฮาชิม ท่านมุอาวียะห์ อิบนุ ยะซีดผู้นี้ได้สืบอำนาจจากยะซีด ท่านเป็นคนดี ทำอิบาดะห์สม่ำเสมอ ท่านอยู่ในอำนาจเพียง 40 วัน บ้างก็ว่าเพียง 20 วัน บ้างก็ว่า 2 เดือน หรือเดือนครึ่ง หรือสามเดือนยี่สิบวัน บ้างก็ว่าสี่เดือน ช่วงที่ท่านอยู่ในอำนาจนั้นท่านป่วยไม่ได้ออกไปพบผู้คน
ท่านอัฎฎอฮาก อิบนุ ก็อยซ์ได้ทำหน้าที่ละหมาดนำประชาชนแทนตลอดจนการเป็นผู้สำเร็จราชการบริหารแผ่นดิน ต่อมาท่านมุอาวียะห์ก็ได้เสียชีวิตขณะมีอายุได้ 21-25 ปีบ้างก็ว่าไม่ถึง 20 ปีท่านอัลว่าลีด อิบนุ อุตบะฮฺได้นำละหมาดให้แก่ศพของท่านโดยมีมัรวาน อิบนุ อัลฮะกัมมาร่วมละหมาดด้วย ศพของท่านถูกฝังอยู่สุสาน บาบอัซซ่อฆีร กรุงดามัสกัส ท่านมุอาวียะห์ (ร.ฮ.) ผู้นี้มีผิวขาวจัด ขนดก ตาโต มีใบหน้าหล่อเหลา ร่างกายสมส่วน
ในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 17 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ท่านฮารูน อัรร่อชีด โอรสของท่านค่อลีฟะห์อัลมะฮฺดีย์ แห่งราชวงศ์อับบาซียะห์ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งค่อลีฟะห์สืบต่อจากท่านค่อลีฟะห์มูซา อิบนุ อัลมะฮฺดีย์ หรือ อัลฮาดี ค่อลีฟะห์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์ (ฮ.ศ.169-170/คศ.785-789) อัลฮาดี มูซา อิบนุ อัลมะฮฺดีย์ ผู้นี้พยายามบีบฮารูน อัรร่อชีด ให้ยอมสละตำแหน่งรัชทายาทที่จะสืบอำนาจต่อจากตน ต่อมาอัลฮาดีก็ถูกลอบสังหาร ณ เมืองโมซุล ด้วยการที่พระนางคอยซุรอน ผู้เป็นพระมารดาของทั้งสองพระองค์วางแผนการอยู่เบื้องหลังซึ่งพระนางทรงมีพระราชประสงค์ให้ฮารูนขึ้นสืบอำนาจ
ในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 179 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ท่านอิหม่ามมาลิก อิบนุ อนัส (รฎ.) อิบนิ มาลิก อิบนิ อบีอามิร (รฎ.) อิหม่ามแห่งดินแดนแห่งการอพยพได้เสียชีวิต ท่านอิหม่ามมาลิก มีเชื้อสายสืบถึงเผ่าซีอัสบาฮฺ ซึ่งเป็นเผ่าหนึ่งในยะมันที่มีบรรพบุรุษเดินทางมาอาศัยอยู่ ณ นครม่าดีนะห์ ปู่ของท่านอิหม่ามคือท่านอบูอามิร เป็นอัครสาวกท่านหนึ่งของท่านศาสดา (ซ.ล.) ท่านถือกำเนิด ณ นครม่าดีนะห์ ปีฮ.ศ.ที่ 93
ท่านได้ร่ำเรียนกับบรรดาปราชญ์แห่งนครม่าดีนะห์ อาจารย์ท่านแรกของท่านคือ อับดุรเราะห์มาน อิบนุ ฮุรมุซฺ ท่านได้ฟังหะดีษจากท่านนาฟิอฺ ท่านอบูอัซซุบัยร์ ท่านอัซซุฮฺรีย์ และบรรดาตาบีอีน และตาบิอิตตาบีอีนเป็นจำนวนมาก กล่าวกันว่า ท่านอิหม่ามมีครูผู้ประสิทธิประสาทวิชาเป็นจำนวนถึง 900 คน เป็นตาบีอีนเสีย 300 คน มีบุคคลเป็นจำนวนมากได้รายงานหะดีษต่อจากท่าน อาทิ ท่านยะฮฺยา อัลอันซอรีย์ ซึ่งเป็นครูของท่านอิหม่ามมาลิกด้วย ท่านอิบนุญุรอยจ์ ท่านอัลเอาซาอีย์ ท่านซุฟยาน อัซเซารีย์ ท่านอิบนุ อุยัยนะฮฺ ท่านชุอฺบะฮฺ ท่านอิบนุ อัลมุบารอก ท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ ท่านอบูยูซุฟ และท่านมุฮัมมัดสหายทั้งสองของท่านอิหม่ามอบูฮานีฟะห์ (ร.ฮ.) ฯลฯ บรรดาปวงปราชญ์ได้ลงมติถึงการเป็นอิหม่ามของท่าน
ความยิ่งใหญ่ของท่านทางด้านวิชาการอัลหะดีษ การวิจารณ์นักรายงานตลอดจนการวินิจฉัยนำเอาตัวบทของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านและซุนนะอฺออกมาใช้ มีบรรดาปราชญ์ร่วมสมัยกับท่านได้ให้การรับรองถึงความรู้ของท่านมากมายหลายท่าน
ท่านอิหม่ามมีความชำนาญเจนจัดในวิชาอัลหะดีษและรอบรู้ถึงบรรดาสายรายงานและเป็นที่มั่นใจได้ในการรายงานหะดีษต่อจากท่าน รายงานส่วนใหญ่ของท่านจะรายงานจากชาวฮิญาซฺ เป็นส่วนใหญ่ทั้งนี้เป็นเพราะท่านอยู่ในนครม่าดีนะห์โดยตลอดผู้คนจากทุกสารทิศได้หลั่งไหลมาศึกษากับท่าน ณ นครม่าดีนะห์ ในปี ฮ.ศ.147 ท่านถูกเฆี่ยนด้วยแส้
สาเหตุในการถูกเฆี่ยนของท่านนี้นั้นมีหลายทัศนะด้วยกัน บ้างก็ว่าเป็นเพราะท่านได้ตอบวิสัชนาปัญหาศาสนาว่าด้วยเรื่องการหย่าร้างของผู้ที่ถูกบังคับนั้นถือว่าไม่มีผล ผู้ปกครองในยุคนั้นได้บังคับให้ผู้คนให้ทำการสาบานด้วยการหย่าขาดภรรยาหากผิดคำให้สัตยาบัน พวกนี้จึงเห็นว่าการตอบปัญหาเช่นนี้ของท่านอิหม่ามมาลิกจะทำให้ประชาชนนั้นสามารถยกเลิกสัตยาบันดังกล่าวได้
บ้างก็ว่าสาเหตุมาจากท่านอิบนุ อัลกอเซ็มได้ถามท่านอิหม่ามถึงพวกกบฏแข็งข้อต่ออำนาจของค่อลีฟะห์ (อัลบุฆอต์) ที่อนุญาตให้สู้รบกับพวกนั้นได้ ท่านได้ตอบว่า ถ้าหากพวกนั้นกบฏแข็งข้อต่อค่อลีฟะห์เฉกเช่นท่านอุมัร อิบนุ อับดิล อะซีซฺก็ย่อมเป็นที่อนุญาต ท่านอิบนุ กอเซ็มได้ถามต่อว่า ถ้าหากไม่เหมือนเช่นท่านอุมัรเล่า ท่านอิหม่ามตอบว่าปล่อยพวกนั้นเถอะ พระองค์อัลลอฮฺจะทรงจัดการผู้อธรรมด้วยผู้อธรรมและท้ายที่สุดพระองค์ก็จะจัดการเขาทั้งสอง
การวิสัชนาปัญหาข้อนี้นี่เองที่ทำให้อิหม่ามถูกข้าหลวงของค่อลีฟะห์ อัลมันซูร ประจำนครม่าดีนะห์ ทำการเฆี่ยน 70 ครั้ง ครั้นเมื่อเรื่องนี้รู้ถึงค่อลีฟะห์ อัลมันซูร ท่านก็กริ้วต่อข้าหลวงและปลดออกจากตำแหน่ง ต่อมาค่อลีฟะห์ อัลมันซูร ก็ได้พบท่านอิหม่ามมาลิกในช่วงเทศกาลฮัจญ์และได้ขออภัยต่อท่านตลอดจนได้ซักถามปัญหาศาสนาต่าง ๆ และเรียกร้องให้ท่านรวบรวมหะดีษต่าง ๆ
ในที่สุดท่านอิหม่ามมาลิกก็ได้รวบรวมและแต่งหนังสืออัลมุวัตเตาะฮฺ ขึ้นตามคำขอนั้น ท่านอิหม่ามมาลิก มีความนอบน้อมถ่อมตนอย่างมาก มีความละอายต่อบาปเป็นที่สุด มีความรักอันยิ่งใหญ่ต่อท่านศาสดา (ซ.ล.) ถึงขนาดที่ว่าท่านจะไม่ขี่สัตว์พาหนะในนครม่าดีนะห์ ทั้งนี้เพราะท่านให้ความสำคัญและให้เกียรติต่อผืนแผ่นดินซึ่งที่ได้รวมเอาร่างของท่านศาสดาเอาไว้ ท่านได้เสียชีวิตปีฮ.ศ.ที่ 179 น นครม่าดีนะห์ และถูกฝังในสุสานอัลบ้าเกียะอฺ
ในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 227 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ท่านค่อลีฟะห์อบูอิสหาก มุฮัมมัด อัลมุอฺตะซิม บิลลาฮฺ อิบนุ ฮารูน อัรร่อชีด แห่งราชวงศ์อับบาซียะห์ผู้พิชิตนครอะมูรียะฮฺอันเป็นนครหนึ่งที่สวยงามและรุ่งเรืองที่สุดแห่งหนึ่งในจักรวรรดิไบแซนไทน์ในเอเซียน้อย-ได้สิ้นพระชนม์ (ฮ.ศ.218-227/คศ.833-842)
พระองค์ทรงเป็นค่อลีฟะห์องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์ต่อจากค่อลีฟะห์อัลมะมูน พระองค์ทรงดึงพวกเติร์กเข้ามาเป็นกำลังสนับสนุน ในสมัยของพระองค์อัลอัฟชีน แม่ทัพของพระองค์ได้ปราบกบฏบาบักในแคว้นอาเซอร์ไบญาน ทรงสร้างความปราชัยแก่กองทัพไบแซนไทน์และยึดครองนครอะมูรียะฮฺ พระองค์ทรงสร้างนครซามัรรอฮฺเป็นราชธานีแทนนครแบกแดดทรงให้การสนับสนุนพวกมุอฺตะซิละฮฺ และดำเนินตามนโยบายของอัลมะมูน และพระโอรสของพระองค์คือ อัลวาซิกขึ้นสืบอำนาจสืบมา
ในเดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 241 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ท่านอิหม่ามอะฮฺหมัด อิบนุ ฮัมบั้ลได้เสียชีวิต (ร.ฮ.) ท่านคืออิหม่ามอบูอับดิลลาฮฺ อะฮฺหมัด อิบนุฮัมบั้ล อัชชัยบานีย์ อัลม่ารูซีย์ อับบัฆดาดีย์ ถือกำเนิดในปีที่ 163 ณ นครแบกแดดในช่วงเยาว์วัยท่านเทียวไปเทียวมาในการแสวงหาความรู้จากท่านอบูยูซุฟ อัลกอฎี ต่อมาท่านได้ศึกษาวิชาการหะดีษในปี ฮ.ศ.187 และท่องเที่ยวหาความรู้ตามหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อรับฟังหะดีษจากบรรดาปวงปราชญ์ในยุคนั้น ส่วนหนึ่งจากบรรดาคณาจารย์ของท่านคือ ท่านฮ่าชีม ท่านอิบรอฮีม อิบนุซะอีด ท่านซุฟยาน อิบนุ อุยัยนะฮฺ และท่านได้ศึกษานิติศาสตร์อิสลามจากท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์เมื่อตอนที่ท่านเดินทางสู่นครแบกแดด
ท่านอิหม่ามอะฮฺหมัดได้เอาใจใส่ต่อซุนนะฮฺและนิติศาสตร์จนกระทั่งเหล่านักวิชาการอัลหะดีษถือว่าท่านเป็นอิหม่ามของพวกเขาและเป็นนักนิติศาสตร์ในสายหะดีษ ท่านมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก อาทิ ท่านอิหม่ามบุคอรีย์ ท่านอิหม่ามมุสลิมโดยเฉพาะท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ ท่านได้ยึดท่านอิหม่ามอะฮฺหมัดเป็นหลักในการชี้ขาดระดับของอัลหะดีษว่าเป็นหะดีษซอเฮียะห์หรือถือว่าเป็นหะดีษอ่อนซึ่งอายุของท่านอิหม่ามอะฮฺหมัดในขณะนั้นมีอายุได้ 30 ปี
ท่านอิหม่ามอัชชาฟิอีย์ได้กล่าวว่า “ฉันได้ออกจากอิรัก โดยมิได้ทิ้งบุคคลใดที่ประเสริฐที่สุด รอบรู้ที่สุด มีความสุขุมคัมภีรภาพและความยำเกรงที่สุดมากไปกว่า อะฮฺหมัด อิบนุฮัมบั้ล” ท่านอิสหาก อิบนุ รอฮูยะฮฺ ได้กล่าวว่า “อะฮฺหมัดคือหลักฐาน(ฮุจญะฮฺ)ระหว่างพระองค์อัลลอฮ์และระหว่างมวลบ่าวของพระองค์ในพื้นพิภพ”
ท่านยะฮฺยา อิบนุ ม่าอีนกล่าวว่า “ผู้คนทั้งหลายต้องการให้เราเป็นเฉกเช่นอะฮฺหมัด อิบนุ ฮัมบั้ล ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ พวกเรามิสามารถที่จะเป็นเฉกเช่นเขาได้และเราก็มิสามารถที่จะดำเนินตามวัตรปฏิบัติของเขาได้”
ในขณะนั้นพวกมุอฺตะซิละฮฺได้เข้ามามีอิทธิพลทางความเชื่อต่อค่อลีฟะห์อัลมะมูน อัลมุอฺตะซิม และอัลวาซิกและได้ขอให้คอลีฟะห์ทั้งสองบีบให้ผู้คนทั้งหลายยอมรับต่อทัศนะที่ว่า อัลกุรอ่านเป็นสิ่งที่ถูกสร้าง ส่วนหนึ่งจากบุคคลที่ตกเป็นเป้าในเรื่องนี้ก็คือท่านอิหม่ามอะฮฺหมัด ท่านอิหม่ามได้ปฏิเสธสิ่งดังกล่าวโดยสิ้นเชิง ดังนั้นท่านจึงถูกกระทำทารุณด้วยการเฆี่ยนตีและคุมขังในสภาพที่ท่านยืนกรานไม่ตอบรับในทัศนะดังกล่าว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีฮ.ศ.220 ตรงกับรัชสมัยของค่อลีฟะห์อัลมุอฺตะซิมบิลลาฮฺ
ท่านอาลี อิบนุ อัลม่าดีนีย์ กล่าวว่า “ไม่เคยมีใครในอิสลามที่ได้ยืนหยัดเยี่ยงที่อะฮฺหมัด อิบนุฮัมบั้ลได้ยืนหยัด” เมื่อคำพูดของท่านอาลีได้รู้ถึงหูท่านอบูอุบัยด์ อัลกอเซ็ม อิบนุ ซ่าลามท่านได้กล่าวว่า “ท่านอาลีพูดถูก แท้จริงท่านอบูบักร (ค่อลีฟะห์) นั้นท่านได้พบว่ามีบรรดาผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในวันที่อาหรับได้ตกศาสนา แต่ท่านอะฮฺหมัดนั้นท่านไม่มีใครเลยที่ให้การสนับสนุนและข่วยเหลือ” ท่านอิหม่ามอะฮฺหมัด อิบนุฮัมบั้ล (ร.ฮ.) ได้เสียชีวิตในปีฮ.ศ.ที่ 241 ณ มหานครแบกแดด
วันที่ 21 เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 923 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
ได้มีการประหารชีวิตโตมานบาย ผู้ปกครองอียิปต์ด้วยการแขวนคอ หลังจากที่พวกเติร์กแห่งอุษมานียะห์ ภายใต้การนำของซุลตอนส่าลีม ข่านที่ 1 แห่งราชวงศ์อุษมานียะห์ได้สร้างความปราชัยแก่พวกม่ามาลีก (แมมลัก) และซุลตอนส่าลีมข่านที่ 1 ก็ได้ทรงผนวกรวมอียิปต์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอุษมานียะห์อันเกรียงไกร อียิปต์ก็กลายเป็นมณฑลหนึ่งของจักรวรรดินับตั้งแต่นั้นมา
มีตำราบางเล่มได้กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ว่า หลังการพ่ายแพ้ของพวกม่ามาลีกซึ่งนำโดยโตมานบาย และสูญเสียอียิปต์แก่อุษมานียะห์ในสมรภูมิบ้ารอกะฮฺอัลฮ้าจ ซุลตอน ส่าลีม ข่านที่ 1 ได้ส่งคนออกล่าติดตามโตมานบาย จนกระทั่งสามารถจับตัวมาได้เป็น ๆ พวกนั้นได้นำตัวโตมานบาย ซึ่งถูกพันธนาการเข้าเฝ้าซุลตอนที่กำลังทรงกริ้ว
ใบหน้าของโตมานบาย บ่งบอกถึงความสิ้นหวังและเศร้าใจต่อสิ่งที่บ้านเมืองของตนได้ประสบจึงทำให้ซุลตอนเกิดความเวทนา พระองค์จึงมีคำสั่งให้แก้มัดโตมานบายและอนุญาตให้เขาสามารถเข้าร่วมในการประชุมต่าง ๆ ที่ซุลตอนได้จัดให้มีขึ้นเพื่อบริหารบ้านเมือง พระองค์ได้ทรงถามโตมานบายถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเศรษฐกิจ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดินซึ่งมีการประชุมตลอดช่วงเวลา 10 วันในวันที่ 10 ซุลตอนทรงเห็นว่าพระองค์มิทรงมีความต้องการใด ๆ อีกแล้วจากโตมานบาย ในการให้คำปรึกษาแก่พระองค์จึงทรงมีคำสั่งให้ประหารชีวิตโตมานบายด้วยการแขวนคอในวันที่ 21 (บ้างก็ว่า 19) ร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปี ฮ.ศ.923 ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ปี คศ.1517 ณ ประตูเมืองของกรุงไคโรที่มีนามว่า ซุวัยละฮฺถูกฝังศพของโตมานบายในสุสานซึ่งซุลตอนอัลฆูรีย์ แห่งราชวงศ์อัลมัมลูกียะห์ ได้ทรงสร้างเตรียมไว้สำหรับพระองค์เมื่อสิ้นพระชนม์การประหารชีวิตโตมานบายทำให้อาณาจักรอัลมัมลูกียะห์ (ซึ่งปกครองโดยพวกม่ามาลีก อัชช่ารอกีซะฮฺ หรือพวกม่ามาลีก อัลบุรญียะฮฺ) ได้สิ้นสุดลงหลังจากที่ได้ปกครองอียิปต์และบางส่วนของซีเรียประมาณ 139 ปี
อียิปต์ก็ได้กลายเป็นมณฑลหนึ่งของจักรวรรดิอุษมานียะห์และซุลตอนส่าลีม ข่านที่ 1 ก็เป็นซุลตอนองค์แรกของพวกอุษมานียะห์ที่ได้ขึ้นกล่าวอัลคุตบะฮฺ (แสดงธรรม) เหนือแท่นมิมบัรในอียิปต์
เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 1213 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
บรรดานายพลแห่งกองกำลังยึดครองของฝรั่งเศสในอียิปต์ ได้ยืนกรานที่จะจัดงานรำลึกถึงวันคล้ายวันประสูติของท่านศาสดา (ซ.ล.) ถึงแม้ว่าชาวเมืองอียิปต์จะปฏิเสธที่จะจัดงานรำลึกนี้ก็ตาม อนึ่ง การจัดงานดังกล่าวเป็นนโยบายของจักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศสเพื่อหวังผลทางการเมืองและจิตวิทยาต่อพลเมืองมุสลิมในอียิปต์
วันที่ 21 ร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 1213 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
จักรวรรดิอุษมานียะห์ได้ประกาศสงครามกับฝรั่งเศสและทำการระดมกำลังพลเพื่อเข้าตีอียิปต์กลับคืนมาและขับไล่กองกำลังยึดครองของฝรั่งเศสให้ออกไปจากอียิปต์ อุษมานียะห์ได้เริ่มระดมพลในเมืองดามัสกัส เกาะโรดส์ กองทัพเรือของรุสเซียก็เดินทางจากทะเลดำสู่ช่องอิสตันบูลและมุ่งสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนพร้อมกับกองทัพเรือของอุษมานียะห์ การณ์ดังกล่าวเป็นไปตามสนธิสัญญาที่ได้กระทำกันไว้ระหว่างอังกฤษ รุสเซีย และอุษมานียะห์ในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกันเพื่อป้องกันการคุกคามของเจ้าอาณานิคมเช่นฝรั่งเศส
เมื่อ นโปเลียน โปนาปาร์ต จอมทัพแห่งฝรั่งเศสทราบข่าวการระดมกำลังพลดังกล่าว จึงได้ชิงเข้าตีมณฑลซีเรียเสียก่อน เพราะฝรั่งเศสย่อมไม่ปลอดภัยยกเว้นต้องชิงเข้าตีซีเรียก่อน นโปเลียน จึงได้นำกำลังพลจำนวน 13,000 นายมุ่งพิชิตซีเรียโดยผ่านเส้นทางของเมืองอัลอ้ารีช ฝรั่งเศสตีได้เมืองฆอซซะฮฺ (กาซา) เมืองรอมละฮฺ เมืองยาฟาซึ่งก่อนเข้าตีเมืองยาฟา นโปเลียน ได้มีคำสั่งให้ปลิดชีพเหล่าทหารที่บาดเจ็บและป่วยเพื่อที่จะได้ไม่เป็นอุปสรรคในการเดินทัพซึ่งต้องแข่งกับเวลา
แต่ฝรั่งเศสก็มิสามารถตีเมืองอักกาได้เพราะอักกาได้รับกำลังสนับสนุนผ่านทางทะเลและแม่ทัพเรือของอังกฤษ ซิดนีย์ สมิทธ สามารถเข้ายึดครองปืนใหญ่ที่ถูกส่งมาจากอียิปต์ได้ และอะฮฺหมัด ปาชา อัลญัซฺซาร แม่ทัพกองทหารรักษาเมืองอักกาก็สามารถทำลายระเบิดของฝรั่งเศสที่จะใช้ยิงถล่มกำแพงเมืองได้
ครั้นเมื่อนโปเลียนทราบข่าวการเคลื่อนกำลังพลของอุษมานียะห์ประจำนครดามัสกัส เพื่อช่วยเหลือเมืองอักกา นโปเลียนจึงได้ส่งนายพลกิลเบอร์ พร้อมด้วยกองกำลังทหารจำนวนหนึ่งเพื่อขัดตาทัพ นายพลกิลเบอร์ ได้เผชิญหน้ากับพวกอุษมานียะห์ ณ ภูเขาอัตตอบูร
กองกำลังของอุษมานียะห์เกือบจะได้รับชัยชนะอยู่แล้วถ้าหากว่า นโปเลียน ไม่นำทหารจำนวน 3,000 นาย มาตีตลบหลังพวกอุษมานียะห์เสียก่อน กองทหารของอุษมานียะห์ก็แตกพ่าย นโปเลียนก็เดินทัพย้อนกลับเข้าตีอักกาแต่เมื่อทราบข่าวการเคลื่อนทัพของอุษมานียะห์ที่รวมกำลังในเกาะโรดส์มุ่งหน้ามา นโปเลียนก็รู้ว่าไม่ประสบความสำเร็จแน่ในการเข้าพิชิตแคว้นชาม จึงได้ถอนทัพกลับสู่กรุงไคโร และเข้าสู่กรุงไคโรเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ปีเดียวกัน (เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล)
เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 1213 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
กองทัพเรือแห่งราชนาวีอังกฤษได้จมกองเรือรบของฝรั่งเศสที่เข้ายึดครองอียิปต์ในอ่าวอบูกีร (บูกีร) ณ นครอเล็กซานเดรีย (1798) โดยกองทัพเรือแห่งราชนาวีอังกฤษซึ่งมีฮูโรธิโอ เนลสัน (1758-1805) เป็นแม่ทัพเรือได้ปิดล้อมเขตชายฝั่งของอียิปต์ เพื่อตัดเส้นทางส่งกำลังบำรุงของกองกำลังยึดครองฝรั่งเศส ซึ่งยังคงตั้งมั่นอยู่ในอียิปต์
วันที่ 4 เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 1216 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
กองกำลังยึดครองฝรั่งเศสได้เริ่มทำการถอนกำลังออกจากอียิปต์ เมื่ออังกฤษและพวกอุษมานียะห์รู้ข่าวการเสียชีวิตของนายพลกิลเบอร์ และทราบว่านโปเลียน โปนาปาร์ตพร้อมด้วยบรรดาแม่ทัพนายกองที่มีความเชี่ยวชาญการรบได้ออกจากอียิปต์ อังกฤษและอุษมานียะห์จึงมั่นใจว่าสามารถเอาชนะฝรั่งเศสได้ จึงยกพลขึ้นบกที่อ่าวอบูกีร ด้วยจำนวนทหาร 30,000 นายภายใต้การนำของนายพลเอบเบอร์ ครอมบี้
ต้นปี คศ.1801 แม่ทัพมิโน่ (ซึ่งเข้ารับอิสลาม โดยมีชื่อว่า อับดุลลอฮฺ มิโน่) จึงนำทัพของตนไปขัดตาทัพ แต่ปราชัยในวันที่ 21 มีนาคม จึงได้ล่าถอยสู่นครอเล็กซานเดรียเพื่อตั้งมั่นที่นั่นอังกฤษและตุรกีได้นำทัพมุ่งสู่กรุงไคโรโดยผ่านเส้นทางอัซซอลีฮียะห์ และปิดล้อมพวกฝรั่งเศสที่ยังหลงเหลืออยู่ในเมืองนี้
และด้วยการประเมินสถานการณ์ของนายพลบิลิแอร์ เห็นว่าไม่มีทางอื่นนอกจากยอมแพ้ เขาจึงส่งข่าวถึงบรรดาแม่ทัพของอังกฤษและอุษมานียะห์ และแจ้งว่าฝรั่งเศสจะถอนทหารออกจากเขตลุ่มแม่น้ำไนล์โดยเป็นไปตามเงื่อนไขของข้อตกลง ณ เมืองอัลอ้ารีช ในวันที่ 24 มกราคม คศ.1800 อังกฤษและอุษมานียะห์ก็ยอมรับข้อเสนอดังกล่าวและทำข้อตกลงถึงกรณีดังกล่าวในวันที่ 16 เดือนซอฟัร ฮ.ศ.1216 (28 มิถุนายน 1801) วันที่ 28 เดือนซอฟัร ปีเดียวกันจึงมีการถอนกำลังทหารฝรั่งเศสออกจากลุ่มแม่น้ำไนล์พร้อมด้วยสรรพวุธและยุทโธปกรณ์ หลังจากนั้นกองทหารฝรั่งเศสจึงเดินทางสู่หัวเมืองชายทะเลอัรร่อชีดโดยลงเรือของอังกฤษ ณ ที่นั่น
ส่วนนายพลมิโน่ซึ่งยังคงถูกปิดล้อมอยู่ในนครอเล็กซานเดรียนั้นเพิ่งจะประกาศยอมแพ้เมื่อวันที่ 22 ร่อบีอุ้ลอาคิร ฮ.ศ.1216 หลังเกิดการรบครั้งใหญ่ซึ่งต่างก็เสียไพร่พลเป็นจำนวนมาก นายพลมิโน่ และกองกำลังของตนได้เดินทางออกจากอียิปต์กลับสู่ฝรั่งเศสด้วยกองเรือของอังกฤษ และสงครามได้ยุติ อียิปต์ก็กลับสู่การปกครองของจักรวรรดิอุษมานียะห์อีกครั้งหนึ่ง
วันที่ 24 เดือนร่อบีอุ้ลเอาวั้ล ปีที่ 1334 แห่งฮิจเราะห์ศักราช
เซอร์ อาเธอร์ เฮนรี่ แมกมาฮอน ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งอังกฤษประจำอียิปต์ ได้ส่งจดหมายโต้ตอบกับท่านชะรีฟ ฮุเซ็น (ชะรีฟ คือเจ้าเมืองแห่งแคว้นฮิญาซในขณะนั้น) โดยขอให้ท่านชะรีฟฮุเซ็นได้วางใจ ในจดหมายดังกล่าวยังได้กล่าวถึงบรรดาสิทธิของชาติอาหรับและยังได้แสดงความขอบคุณต่อการช่วยเหลือสนับสนุนของชาติอาหรับอย่างแข็งขันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จดหมายดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในนาม “สาส์นตอบโต้ของชะรีฟ ฮุเซ็น-แมกมาฮอน”
ที่มา: alisuasaming.org