การที่บุคคลหนึ่งมีทั้งความเกรงกลัวและความหวัง โดยที่เมื่อเขาเกรงกลัวอัลลอฮฺ
ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์
ส่วนการหมดหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺนั้น คือการที่คนคนหนึ่งเกิดความท้อแท้สิ้นหวังที่จะได้ความความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ และไม่มีความหวังว่าพระองค์จะทรงอภัยและเมตตาเขา ซึ่งกรณีนี้ตรงกันข้ามกับการรู้สึกว่ารอดพ้นปลอดภัยจากการทดสอบของอัลลอฮฺ ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ล้วนเป็นบาปใหญ่
อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿ قَالَ وَمَن يَقۡنَطُ مِن رَّحۡمَةِ رَبِّهِۦٓ إِلَّا ٱلضَّآلُّونَ ٥٦ ﴾ [الحجر: ٥٦]
“เขากล่าวว่า และจะไม่มีผู้ใดที่สิ้นหวังในพระเมตตาของพระเจ้าของเขา นอกจากพวกหลงผิด”
(อัลหิจญรฺ: 56)
และพระองค์ตรัสว่า
﴿ قُلۡ يَٰعِبَادِيَ ٱلَّذِينَ أَسۡرَفُواْ عَلَىٰٓ أَنفُسِهِمۡ لَا تَقۡنَطُواْ مِن رَّحۡمَةِ ٱللَّهِۚ إِنَّ ٱللَّهَ يَغۡفِرُ ٱلذُّنُوبَ جَمِيعًاۚ إِنَّهُۥ هُوَ ٱلۡغَفُورُ ٱلرَّحِيمُ ٥٣ ﴾ [الزمر: ٥٢]
“จงกล่าวเถิดมุหัมมัด ปวงบ่าวของข้าเอ๋ย ! บรรดาผู้ละเมิดต่อตัวของพวกเขาเอง
พวกท่านอย่าได้หมดหวังต่อพระเมตตาของอัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงอภัยความผิดทั้งหลายทั้งมวล
แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”
(อัซซุมัรฺ: 52)
ชัยคฺ อับดุรเราะหฺมาน บิน หะสัน กล่าวในหนังสือ “ฟัตหุลมะญีด” ของท่านว่า สองอายะฮฺข้างต้นนี้คือหลักฐานที่ยืนยันว่า ไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีความเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺสิ้นหวังในความเมตตาของพระองค์ ทว่าเขาควรที่จะกลัวบาปความผิด แล้วมุ่งปฏิบัติสิ่งที่เป็นการเคารพเชื่อฟังอัลลอฮฺ ด้วยใจที่เปี่ยมด้วยความหวังในความเมตตาของพระองค์ อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ أُوْلَٰٓئِكَ ٱلَّذِينَ يَدۡعُونَ يَبۡتَغُونَ إِلَىٰ رَبِّهِمُ ٱلۡوَسِيلَةَ أَيُّهُمۡ أَقۡرَبُ وَيَرۡجُونَ رَحۡمَتَهُۥ وَيَخَافُونَ عَذَابَهُۥٓۚ ﴾ [الإسراء: ٥٧]
“บรรดาสิ่งที่พวกเขาวิงวอนขอนั้น พวกมันก็ยังหวังที่จะหาทางเข้าสู่พระเจ้าของพวกมันว่า ผู้ใดในหมู่พวกมันจะเข้าใกล้ที่สุด
และพวกมันยังหวังในความเมตตาของพระองค์ และกลัวการลงโทษของพระองค์”
(อัลอิสรออ์: 57)
และพระองค์ตรัสว่า
﴿ أَمَّنۡ هُوَ قَٰنِتٌ ءَانَآءَ ٱلَّيۡلِ سَاجِدٗا وَقَآئِمٗا يَحۡذَرُ ٱلۡأٓخِرَةَ وَيَرۡجُواْ رَحۡمَةَ رَبِّهِۦۗ ﴾ [الزمر: ٩]
“ผู้ที่เขาเป็นผู้ภักดีในยามค่ำคืนในสภาพของผู้สุญูดและผู้ยืนละหมาด โดยที่เขาหวั่นเกรงต่อโลกอาคิเราะฮฺ
และหวังความเมตตาของพระเจ้าของเขา (จะเหมือนกับผู้ที่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ กระนั้นหรือ?)”
(อัซซุมัรฺ: 9)
อัลหะสัน อัลบัศรีย์ กล่าวว่า “ผู้ศรัทธาจะปฏิบัติคุณงามความดี โดยที่เขามีความรู้สึกกลัวและไม่มั่นใจว่าสิ่งที่ทำไปจะถูกตอบรับหรือไม่ ในขณะที่คนชั่วนั้นมักจะกระทำการฝ่าฝืนโดยที่เขานั้นมีความสบายใจและรู้สึกปลอดภัย”
(ตัฟสีรฺอิบนุกะษีรฺ เล่ม 6 หน้า 355)
อัลลอฮฺได้ตรัสถึงบทสนทนาระหว่างท่านนบีอิบรอฮีม อะลัยฮิสสลาม กับมลาอิกะฮฺเมื่อท่านได้รับแจ้งข่าวดีว่าท่านจะมีลูกชายชื่ออิสหากว่า
﴿ قَالَ أَبَشَّرۡتُمُونِي عَلَىٰٓ أَن مَّسَّنِيَ ٱلۡكِبَرُ فَبِمَ تُبَشِّرُونَ ٥٤ ﴾ [الحجر: ٥٤]
“เขากล่าวว่า พวกท่านมาแจ้งข่าวดีแก่ฉันเมื่อความชราภาพได้ประสบแก่ฉันแล้วกระนั้นหรือ?
แล้วเรื่องอะไรเล่าที่พวกท่านจะแจ้งข่าวดีแก่ฉัน?”
(อัลหิจญรฺ: 54)
ทั้งนี้ เพราะโดยปกติแล้วคู่สามีภรรยาที่มีอายุมากนั้น โอกาสที่จะมีบุตรก็คงเป็นไปได้ยาก แต่อัลลอฮฺทรงมีความสามารถที่จะกำหนดสิ่งใดก็ได้ มลาอิกะฮฺจึงกล่าวว่า
﴿بَشَّرۡنَٰكَ بِٱلۡحَقِّ ﴾ [الحجر: ٥٥] “เราขอแจ้งข่าวดีแก่ท่านซึ่งเป็นความจริง”
(อัลหิจญรฺ: 55)
เป็นความจริงที่ไร้ซึ่งข้อสงสัย เพราะเมื่ออัลลอฮฺทรงต้องการสิ่งใด พระองค์ก็เพียงแต่ตรัสว่า “จงเป็น” สิ่งนั้นก็จะเกิดขึ้นทันที
﴿ فَلَا تَكُن مِّنَ ٱلۡقَٰنِطِينَ ٥٥ ﴾ [الحجر: ٥٥] “ดังนั้นท่านอย่าอยู่ในหมู่ผู้สิ้นหวัง”
(อัลหิจญรฺ: 55)
แล้วอัลลอฮฺก็ทรงตรัสถึงคำพูดของท่านนบีอิบรอฮีมหลังจากนั้นว่า
﴿ قَالَ وَمَن يَقۡنَطُ مِن رَّحۡمَةِ رَبِّهِۦٓ إِلَّا ٱلضَّآلُّونَ ٥٦ ﴾ [الحجر: ٥٦]
“เขากล่าวว่า และจะไม่มีผู้ใดที่สิ้นหวังในพระเมตตาของพระเจ้าของเขา นอกจากพวกหลงผิด”
(อัลหิจญรฺ: 56)
มีผู้ถามท่าน ท่านอิบนุมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า สิ่งใดเป็นบาปใหญ่ที่สุด?
ท่านตอบว่า “การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ การสิ้นหวังในความเมตตาของพระองค์ การรู้สึกปลอดภัยจากบททดสอบและการลงโทษของพระองค์ และการหมดหวังในความเมตตาของพระองค์”
(มุศ็อนนัฟอับดุรเราะซาก 10/459)
การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺถือเป็นบาปที่ใหญ่ที่สุด อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า
﴿ إِنَّ ٱللَّهَ لَا يَغۡفِرُ أَن يُشۡرَكَ بِهِۦ وَيَغۡفِرُ مَا دُونَ ذَٰلِكَ لِمَن يَشَآءُۚ ﴾ [النساء : ١١٦]
“แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่การที่สิ่งหนึ่งจะถูกให้เป็นภาคีกับพระองค์
แต่พระองค์จะทรงอภัยโทษให้ซึ่งสิ่งอื่นจากนั้นสำหรับผู้ที่พระองค์ประสงค์”
(อันนิสาอ์: 116)
การสิ้นหวังในเมตตาของอัลลอฮฺ คือการที่คนคนหนึ่งตัดขาดความหวังทั้งหมดที่มีต่ออัลลอฮฺ ในสิ่งที่เขาเกรงกลัวหรือมุ่งหวัง โดยที่เมื่อมีเหตุการณ์คับขันรุนแรงประสบแก่เขา เขาจะรู้สึกหมดสิ้นหนทาง ความคิดเช่นนี้ถือเป็นการเสียมารยาทต่ออัลลอฮฺ บ่งบอกว่าเขาขาดความรู้เกี่ยวกับความเมตตากรุณาอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงมี พระองค์ได้ตรัสถึงท่านนบียะอฺกูบว่า
﴿ إِنَّهُۥ لَا يَاْيَۡٔسُ مِن رَّوۡحِ ٱللَّهِ إِلَّا ٱلۡقَوۡمُ ٱلۡكَٰفِرُونَ ٨٧ ﴾ [يوسف: ٨7]
“แท้จริงไม่มีผู้ใดเบื่อหน่ายต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ นอกจากหมู่ชนผู้ปฏิเสธ”
(ยูสุฟ: 87)
ท่านอนัส บิน มาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ไปเยี่ยมชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งใกล้จะเสียชีวิต
ท่านได้ถามเขาว่า “ท่านเป็นอย่างไรบ้าง”
เขาตอบว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ แท้จริงฉันหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ แต่ในขณะเดียวกัน ฉันก็เกรงกลัวพระองค์เพราะบาปความผิดที่เคยทำ”
ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า
« لَا يَجْتَمِعَانِ فِي قَلْبِ عَبْدٍ فِي مِثْلِ هَذَا المَوْطِنِ، إِلَّا أَعْطَاهُ اللَّهُ مَا يَرْجُو، وَآمَنَهُ مِمَّا يَخَافُ » [رواه الترمذي برقم 983]
“หากมีสองสิ่งนี้(ความกลัวและความหวัง) อยู่ในใจของบ่าวคนใดในสถานการณ์เช่นนี้ อัลลอฮฺจะให้ได้รับในสิ่งที่เขาแก่เขา และจะทรงให้เขารอดพ้นจากสิ่งที่เขากลัว”
(บันทึกโดย อัตติรฺมิซีย์ หะดีษเลขที่ 983)
หะดีษข้างต้นได้พูดถึงการที่บุคคลหนึ่งมีทั้งความเกรงกลัวและความหวัง โดยที่เมื่อเขาเกรงกลัวอัลลอฮฺ เขาก็จะต้องไม่ท้อแท้สิ้นหวังในความเมตตาของพระองค์ ชาวสลัฟนั้นมักจะมีความเกรงกลัวเมื่อเขามีสุขภาพที่ดี และมีความหวังเมื่อเขาเจ็บป่วย
อบูสุลัยมาน อัดดารอนีย์ กล่าวว่า “สมควรอย่างยิ่งที่ต้องมีความเกรงกลัวมากกว่า เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีความหวังมากกว่า ก็จะเกิดผลเสียต่อหัวใจ”
(ฟัตหุลมะญีด หน้า 417-419)
ท่านญาบิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า ฉันได้ยินท่าน นบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตสามวันว่า
« لَا يَمُوتَنَّ أَحَدُكُم إِلا وَهُوَ يُحْسِنُ الظَّنَّ بِاللهِ » [رواه مسلم برقم 2877]
“คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านอย่าได้ตายนอกจากในสภาพที่เขาคิดต่ออัลลอฮฺในแง่ดี”
(บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 2877)
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า ฉันได้ถามท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถึงอายะฮฺนี้ ว่า รวมถึงผู้ที่ดื่มสุรา หรือลักขโมยด้วยหรือไม่ ?
﴿ وَٱلَّذِينَ يُؤۡتُونَ مَآ ءَاتَواْ وَّقُلُوبُهُمۡ وَجِلَةٌ ﴾ [المؤمنون : ٦٠]
“และบรรดาผู้ที่บริจาคสิ่งที่พวกเขาได้มา โดยที่จิตใจของเขาเปี่ยมไปด้วยความหวั่นเกรง”
(อัลมุอ์มินูน: 60)
ท่านตอบว่า
« لَا يَا بِنْتَ الصِّدِّيقِ، وَلَكِنَّهُم الَّذِينَ يَصُومُونَ وَيُصَلُّونَ وَيَتَصَدَّقُونَ، وَهُمْ يَخَافُونَ أَنْ لَا تُقْبَلَ مِنْهُمْ، أُولَئِكَ يُسَارِعُونَ فِي الْخَيْرَاتِ وَهُمْ لَهَا سَابِقُونَ » [رواه الترمذي برقم 3175]
“โอ้บุตรสาวของอบูบักรฺเอ๋ย มันไม่ใช่เช่นนั้นหรอก
แต่หมายถึงบรรดาผู้ที่ถือศีลอด ละหมาด และบริจาคทาน
แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังหวั่นเกรงว่าการงานของพวกเขานั้นจะไม่ถูกตอบรับ
พวกเขาเหล่านั้นต่างรีบเร่งในการประกอบความดีทั้งหลาย”
(บันทึกโดย อัตติรฺมิซีย์ หะดีษเลขที่ 3127)
والحمد لله رب العالمين،
وصلى الله وسلم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه أجمعين.
แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ / Islamhouse
islammore.com