การนินทาคืออะไร มีกี่แบบ และมีขอบเขตแค่ไหน การพูดถึงหรือ การนินทาแบบใดเป็นข้ออนุโลมของศาสนาบ้างคะ?
การนินทาคืออะไร มีกี่แบบ และมีขอบเขตแค่ไหน การพูดถึงหรือ การนินทาแบบใดเป็นข้ออนุโลมของศาสนาบ้างคะ?
ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน
การนินทา ทางด้านภาษา หมายถึง การพูดถึงบุคคลหนึ่งโดยที่บุคคลนั้นมิได้อยู่ ณ สถานที่นั้นด้วย แต่ถ้าบุคคลนั้นนั่งร่วม ณ สถานที่นั้นนั้นคือการตำหนิติเตียน
ส่วนการนินทาทางด้านบทบัญญัติของอิสลาม หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งพูดถึงพี่น้องของเขาโดยที่เขารังเกียจหากว่าเขาได้ยินสิ่งดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะพูดถึงเชื้อสายตระกูลที่ไม่ดีของเขาทางด้านมารยาท ทางด้านร่างกาย ทางด้านการกระทำที่ไม่ดี หรือข้อบกพร่อง ในด้านศาสนาของเขา และข้อบกพร่องในด้านอื่น ๆ
ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า :
“พวกท่านรู้ไหมอะไรคือการนินทา บรรดาเศาะหาบะฮฺกล่าวตอบว่า พระองค์อัลลอฮฺและรสูล (ซ.ล.) ของพระองค์ย่อมรู้ดียิ่ง ท่านรสูล (ซ.ล.) กล่าวว่า การพูดถึงพี่น้องของท่านในสิ่งที่เขารังเกียจ บางคน กล่าวถามขึ้นว่าโอ้ท่านรสูล (ซ.ล.) ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร หากพี่น้องของฉัน (ที่ฉันพูดถึง) เป็นความจริงอย่างที่ฉันพูด ท่านรสูล (ซ.ล.) กล่าวตอบว่า หากสิ่งที่ท่านพูดเป็นจริง นั้นท่านได้นินทาเขาแล้ว และหากไม่เป็นความจริงดังที่ท่านพูด นั่นก็เท่ากับว่าท่านได้พูดใส่ร้ายป้ายสีเขาแล้ว” (บันทึกโดยมุสลิม)
หุกุมของการนินทา
หุกุมของการนินทาถือว่า หะรอม กล่าวคือ ไม่อนุมัติให้มุสลิมนินทาพี่น้องของเขาเด็ดขาด พระองค์อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ในอัล-กุรอานว่า :
“ผู้ใดในหมู่สูเจ้าชอบที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายแล้วกระนั้นหรือ (หมายถึงการนินทา) ทั้งๆ ที่สูเจ้ารังเกียจมัน” (สูเราะฮฺอัล-หุญรอต :12)
ท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺเล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า :
“มุสลิมทุกคนเป็นที่ต้องห้ามเหนือมุสลิมอีกคนหนึ่งไม่ว่าจะเป็น (การละเมิดทาง) ด้านเลือดเนื้อ เกียรติยศ (ชื่อเสียง) และ ทรัพย์สินของเขา” (บันทึกโดยมุสลิมและติรฺมิซีย์)
ท่านอนัสเล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า :
“เมื่อฉันถูกยกขึ้น (สู่ฟากฟ้า) ฉันเดินผ่านกลุ่มชนหนึ่ง สภาพของพวกเขามีเล็บเป็นทองแดง พวกเขาขีดข่วนใบหน้าและหน้าอกของพวกเขา ฉันจึงกล่าวถามว่า โอ้ญิบรีล กลุ่มคนเหล่านี้เป็นใครกัน ญิบรีลตอบว่า กลุ่มคนดังกล่าวคือกลุ่มคนที่กินเนื้อมนุษย์ด้วยกัน (หมายถึงพวกเขาชอบนินทา) และพวกเขายังทำลายเกียรติยศของผู้คนทั้งหลายอีกด้วย” (บันทึกโดยอบู ดาวูด)
การนินทามี 6 ประเภท
- การนินทาทางด้านร่างกาย
บุคคลหนึ่งกล่าวนินทาบุคคลหนึ่ง “เขาเป็นโรคสายตาสั้น, เขาเป็นคนตาเหล่, เขาเป็นโรคชันนะตุ, เขาเป็นคนผิวดำมาก หรือเขาสูงจัง หรือเขาเตี้ยจัง” ทำนองนี้เป็นต้น
- การนินทาทางด้านเชื้อสายตระกูล
บุคคลหนึ่งกล่าวนินทาบุคคลหนึ่งว่า “ครอบครัวนี้เลวทรามจริง ๆ แม่ของเด็กคนนี้เป็นคนเลว หรือพ่อของเด็กคนนี้เป็นโจร” ทำนองนี้เป็นเต้น
- การนินทาทางด้านมารยาท
บุคคลหนึ่งกล่าวนินทาบุคคลหนึ่งว่า “เขาเป็นคนขี้เหนียว, เขาเป็นคนโอ้อวด, เขาเป็นคนใจแคบ, เขาเป็นคนขี้ขลาด หรือเขาเป็น คนขี้อิจฉา” ทำนองนี้เป็นต้น
- การนินทาทางด้านศาสนา
บุคคลหนึ่งกล่าวนินทาบุคคลหนึ่งว่า “เขาเป็นขโมย, เขาพูดโกหก, เขาดื่มเหล้า, เขาไม่ยอมจ่ายซะกาต, เขานมาซไม่ถูกต้อง, เขาไม่ค่อยระวัง เรื่องนะญิส หรือเขาอกตัญญูต่อพ่อแม่” ทำนองนี้เป็นต้น
- การนินทาทางด้านโลกดุนยาและด้านพฤติกรรม
บุคคลหนึ่งกล่าวนินทาบุคคลหนึ่งว่า “คนนั้นกินจุจังเลย, คนนั้นไม่มีมารยาทเอาเสียเลย, ทำไมเขานอนนานจัง หรือเขาไม่เคยให้เกียรติบุคคลอื่นเลย” ทำนองนี้เป็นต้น
- การนินทาทางด้านการแต่งกาย
บุคคลหนึ่งกล่าวนินทาบุคคลหนึ่งว่า “เสื้อผ้าของเขายาวรุ่มร่ามจังเลย, เสื้อผ้าของเขาสกปรกสิ้นดี หรือกางเกงของเขาดูตัวเล็กอย่างไรก็ไม่รู้” ทำนองนี้เป็นต้น
การนินทาที่ได้รับข้อผ่อนพัน
ท่านอิมามนะวะวีย์กล่าวว่า ศาสนาไม่อนุญาตให้นินทาโดยเด็ดขาดยกเว้นมีสาเหตุ 6 ประการดังต่อไปนี้
- การถูกอธรรม
ศาสนาอนุญาตให้ผู้ถูกอธรรมเอ่ยชื่อผู้ที่อธรรมตนเองเพื่อแจ้งแก่ผู้ปกครอง, อิมาม, ผู้ตัดสิน หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตัวอย่างเช่น “เขาคนนั้น (เอ่ยชื่อ) ได้อธรรมต่อฉันด้วยการโกงที่ดิน 10 ไร่ หรือ เขา (เอ่ยชื่อ) ขโมยทรัพย์สินของฉันประมาณ 10 ล้านบาท หรือเขา (เอ่ยชื่อ) ด่าและใส่ร้ายป้ายสีฉัน” เป็นต้น
- การขอความช่วยเหลือ
ด้วยต้องการจะแก้ไขความชั่วช้าให้หมดไปจากสังคม และต้องการขจัดผู้ฝ่าฝืน หรือทำความผิด ตัวอย่างเช่น “บุคคลนั้น (เอ่ยชื่อ) ขายยาบ้าดังนั้นพวกเขาจงตักเตือนเขา หากเขาไม่เชื่อก็จง แจ้งเจ้าที่ตำรวจพร้อมทั้งออกห่างจากเขา หรือ บุคคลนั้น (เอ่ยชื่อ) เป็นคนขี้ขโมย ท่านจงระวังหากเขาเข้าบ้านท่าน” เป็นต้น
ดังนั้น การห้ามปรามผู้อื่นให้รู้ถึงความชั่วร้ายของบุคคลหนึ่ง ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตือนให้รู้ถึงความชั่วร้ายของเขาและขจัดผู้อธรรมให้หมดไปจากสังคมนั้น ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า “พวกท่านจงช่วยเหลือพี่น้องของท่านที่อธรรม และที่ถูกอธรรม” (บันทึกโดยติรฺมิซีย์)
- การขอคำชี้ขาดหรือการขอคำตัดสิน
บุคคลหนึ่งถูกตัดสินความ หรือกล่าวแก่อิมามว่า “พ่อของฉันอธรรมต่อฉัน” หรือ “สามีของฉันตบตีฉันโดยไร้เหตุผล” หรือ “พี่ชายของฉันทุบตีฉันจนกระทั่งฉันหมดสติ” หรือ “ลุงของฉันขโมย ทรัพย์สินของฉัน” และอื่น ๆ อีกเป็นต้น ฉะนั้นการเอ่ยชื่อบุคคลที่อธรรมหรือเป็นคู่กรณีให้แก่อิมามเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือผู้พิพากษา ศาสนาอนุญาตให้กระทำเช่นนั้นได้และไม่มีบาปแต่ประการใด
- การขอคำแนะนำเพื่อส่งผลต่อการพิจารณา
การตักเตือนพี่น้องมุสลิมให้ระมัดระวังอันตรายต่าง ๆ จากบุคคลรอบข้างโดยมิให้เลินเล่อ หรือขอคำตักเตือนจากบุคคลที่เราต้องการจะแต่งงานด้วย ถือว่าเป็นการแนะนำพี่น้องมุสลิม ศาสนา อนุญาตให้กระทำได้ถึงแม้ว่าจะเอ่ยชื่อบุคคลนั้นก็ตาม ตัวอย่างเช่น “ฉันจะสมัครเป็นคนรับใช้บ้านหลังนั้น คุณมีความเห็นอย่างไร” ผู้ถูกถามอาจจะแนะนำว่า “ทางที่ดีแล้วอย่าดีกว่าเพราะ... (เอ่ยชื่อเจ้าของบ้านหลังนั้น) เป็นคนขี้เหนียวและชอบด่าคนรับใช้” หรือ “นาย.. (เอ่ยชื่อ) มาขอฉันแต่งงาน เธอว่าเขาเป็นคนอย่างไร ผู้ถูกถามอาจ แนะนำว่า “เธอรู้มั้ย ว่าเขาเป็นคนขี้เกียจ”
ท่านฟาฏิมะฮฺ บุตรของก็อยสฺเล่าว่า “ฉันมาหาท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) แล้วกล่าวว่า แท้จริงท่านอบู ญะฮมินและท่านมุอาวิยะฮฺ เขาทั้งสองมาสู่ขอฉัน (ท่านมีความเห็นอย่างไร) ท่านรสูล กล่าวชี้แนะว่า ท่านมุอาวิยะฮฺเป็นคนยากจน เขาไม่มีทรัพย์สิน ส่วนท่านอบู ญะฮมิน ไม่วางไม้เท้าของขาลงจากบ่า (หมายถึงเขาชอบตบตีผู้หญิง)” (บันทึกโดยมุสลิม, อบู ดาวูด, ติรฺมีซีย์ และนะสาอีย์)
ดังนั้น ศาสนาอนุญาตให้สอบถามคุณลักษณะของบุคคลที่เราจะร่วมลงทุนทำธุรกิจหรือร่วมลงทุนการค้า หรือต้องการรู้คุณลักษณะของผู้ที่เราจะแต่งงานด้วย
- ปรากฏว่าบุคคลหนึ่งทาความผิดอย่างเปิดเผย
ดังเช่นกรณีที่บุคคลหนึ่งดื่มสุราอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน และ บุคคลทั่วไปก็เห็นว่าเขาดื่มสุราในเดือนเราะมะฎอน หรือกรณีของบุคคลหนึ่งโกงทรัพย์สินของบุคคลหนึ่ง หรือบุคคลหนึ่งฆ่าผู้อื่น โดยอธรรม และอื่น ๆ ข้างต้น ศาสนาอนุญาตให้เอ่ยชื่อของบุคคลนั้น ๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อหยิบยกตัวอย่างสอนผู้อื่นหรือบุคคลในครอบครัว ตัวอย่างเช่น “ลูกอย่าเสพยาบ้าเหมือนกับนาย... (เอ่ยชื่อผู้นั้น เพราะศาสนาห้าม และยังทำให้เสียอนาคตอีกด้วย” หรือ “คุณอย่าให้นาย... (เอ่ยชื่อ) ยืมเงินนะ เพราะเขายืมแล้วไม่เคยส่งคืนเจ้าหนี้เลย แม้แต่รายเดียว” ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ศาสนาก็ไม่อนุญาตให้พูดเกินจากความเป็นจริง ซึ่งหากบุคคลหนึ่งมีผิดเพียงอย่างเดียว ก็ไม่อนุญาตให้พูดเพิ่มมากกว่าความผิดนั้นของเขา
- การกล่าวชื่อฉายา (ในสภาพที่จำเป็น)
การกล่าวชื่อฉายาของบุคคลหนึ่งที่ผู้อื่นทั่วไปรู้จักเป็นอย่างดี หรือคุณลักษณะเฉพาะเจาะจงซึ่งหากเรียกชื่อจริงของเขาแล้วไม่มีใครรู้จัก แต่พอเรียกชื่อฉายาจึงมีผู้รู้จัก ตัวอย่างเช่น มีบุคคลหนึ่ง เดินเข้ามาในหมู่บ้านหนึ่งเพื่อถามหาคนชื่อมุหัมมัด ผู้ถูกถามกล่าวว่า มุหัมมัดไหนล่ะ หมู่บ้านนี้มีหลายมุหัมมัด เขาจึงตอบว่า ก็มุหัมมัดตาเหล่ไงล่ะ หรืออาจตอบว่า มุหัมมัดที่ขาพิการไงล่ะ ทำนองนี้เป็นต้น
ฉะนั้น หากไม่บอกลักษณะเฉพาะเจาะจงก็ไม่เป็นที่รู้จัก เช่นนี้ ศาสนาอนุญาตให้กระทำได้ แต่มีเงื่อนไขว่า การกล่าวเช่นนั้นจะต้องไม่มีเจตนาตำหนิความบกพร่องหรือความพิการทางด้านร่างกายของบุคคลที่กล่าวถึงเพราะหากมีเจตนาดังกล่าวแอบแฝงอยู่ก็ไม่อนุญาต ให้กล่าวเช่นนั้น
สรุป : การนินทาถือเป็นการกระทำอันน่ารังเกียจประการหนึ่ง เพราะเป็นการทำลายพื้นฐานโครงสร้างทางจริยธรรมอันสูงส่งว่าด้วย เรื่องการเป็นพี่น้องมุสลิม คัมภีร์อัลกุรอานเปรียบเทียบเช่นนั้นก็เพื่อ ตอกย้ำให้รู้ถึงความรุนแรงและความเสียหายอันยิ่งใหญ่ ทั้งนี้เพื่อทำให้มุสลิมละทิ้งการนินทาอย่างเด็ดขาด
https://islamhouse.muslimthaipost.com/