อยากรู้ วิธีละหมาดสุนัตร่อวาติบก่อน-หลังละหมาดฟัรฎู ที่ถูกต้อง มีอะไรบ้างมาดูกันเลย....
อยากรู้ วิธีละหมาดสุนัตร่อวาติบก่อน-หลังละหมาดฟัรฎู ที่ถูกต้อง!
ละหมาดร่อวาติบ คือ ละหมาดสุนัตก่อน และหลัง ละหมาดฟัรฎู ละหมาดสุนัตก่อนฟัรฎู เรียกว่า สุนัตก็อบลียะฮ์ และละหมาดสุนัตหลังฟัรฎู เรียกว่า สุนัตบะอฺดียะฮ์
เคล็ดลับในการละหมาดร่อวาติบ
ท่านอิหม่าม อัชชัรกอวีย์ ได้กล่าวว่า “เคล็ดลับในการละหมาดร่อวาติบนั้น เพื่อมาเสริมส่วนที่บกพร่อง จากละหมาดฟัรฎู เช่น ไม่คุชั๊วะอฺในละหมาด (หัวใจไม่มีสมาธิ อยู่กับอัลเลาะฮ์) ไม่ใคร่ครวญ สิ่งที่อ่านในละหมาด...”
(ฮาชียะฮ์อัชชัรกอวีย์ อะลา ตุห์ฟะตุฏฏุลล๊าบ, เล่ม 1 หน้า 296, และฮาชียะฮ์ อัลบุญัยรีมียะฮ์ อะลัล มันฮัจญฺ, เล่ม 1 หน้า 274)
ท่านอะบูฮุร็อยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า :
قَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّي اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: إِنَّ أَوَّلَ مَا يُحَاسَبُ بِهِ الْعَبْدُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ مِنْ عَمَلِهِ صَلَاتُهُ فَإِنْ صَلُحَتْ فَقَدْ أَفْلَحَ وَأَنْجَحَ وَإِنْ فَسَدَتْ فَقَدْ خَابَ وَخَسِرَ فَإِنْ انْتَقَصَ مِنْ فَرِيضَتِهِ شَيْءٌ قَالَ الرَّبُّ عَزَّ وَجَلَّ انْظُرُوا هَلْ لِعَبْدِي مِنْ تَطَوُّعٍ فَيُكَمَّلَ بِهَا مَا انْتَقَصَ مِنْ الْفَرِيضَةِ ثُمَّ يَكُونُ سَائِرُ عَمَلِهِ عَلَى ذَلِكَ
“ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า แท้จริงสิ่งแรกที่บ่าว จะถูกสอบสวน ในวันกิยามะฮ์ จากอะมัลของเขา คือ การละหมาด
ดังนั้น ถ้าหากละหมาดของเขาดี แน่นอนเขาย่อมได้รับชัยชนะ และประสบความสำเร็จ และถ้าหากละหมาดของเขาบกพร่อง แน่นอนเขาย่อมสิ้นหวัง และขาดทุน
ฉะนั้น ถ้าหากละหมาดฟัรฎูของเขา มีบางสิ่งที่บกพร่อง (กระทำไม่สมบูรณ์) อัลเลาะฮ์ ผู้ทรงยิ่งใหญ่ และทรงเกียรติ จึงตรัส(แก่มะลาอิกะฮ์) ว่า พวกเจ้าจงดูว่า บ่าวของข้า มีอะมัลสุนัต (คือ ละหมาดสุนัตก่อน และหลังฟัรฎู) หรือไม่?แล้วทำการเสริมสิ่งบกพร่อง จากละหมาดฟัรฎู ด้วยอะมัลสุนัต หลังจากนั้น บรรดาอะมัลอื่นๆ ของเขา ก็อยู่บนหลักการดังกล่าว”
รายงานโดยอัตติรมีซีย์ (หะดีษลำดับที่ 413, ท่านอัตติรมีซีย์กล่าวว่า หะดีษนี้หะซัน)
ละหมาดสุนัตร่อวาติบ มี 2 ประเภท คือ มุอั๊กกั๊ด และไม่มุอั๊กกั๊ด
ละหมาดสุนัตร่อวาติบมุอั๊กกั๊ด (เน้นหนักให้กระทำ)
ละหมาดสุดนัตร่อวาติบมุอั๊กกั๊ด คือ ละหมาดที่เน้นให้กระทำ และท่านนะบีย์ ได้ทำเป็นประจำ มีดังนี้
1 . ละหมาดสุนัตสองร็อกอะฮ์ ก่อนละหมาดซุบฮิ
ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ได้กล่าวว่า
أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لَمْ يَكُنْ عَلَى شَيْءٍ مِنْ النَّوَافِلِ أَشَدَّ مُعَاهَدَةً مِنْهُ عَلَى رَكْعَتَيْنِ قَبْلَ الصُّبْحِ
“แท้จริงท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่เคยทำสิ่งหนึ่ง จากบรรดาสิ่งที่เป็นสุนัต อย่างเป็นประจำที่สุด มากไปกว่าสองร็อกอะฮ์ ก่อนซุบฮิ” รายงานโดยอัลบุคอรีย์ (หะดีษลำดับที่ 1196) และมุสลิม (หะดีษลำดับที่ 724)
ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวเช่นกันว่า
عَنْ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ رَكْعَتَا الْفَجْرِ خَيْرٌ مِنْ الدُّنْيَا وَمَا فِيهَا
“จากท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านได้กล่าวว่า สองร็อกอะฮ์ (ก่อน) ซุบฮิ ประเสริฐกว่าดุนยา และสิ่งที่อยู่ในดุนยา”
รายงานโดยมุสลิม (หะดีษลำดับที่ 725)
2 . ละหมาดสองร็อกอะฮ์ ก่อนละหมาดซุฮ์ริ และละหมาดสุนัตสองร็อกอะฮ์ หลังละหมาดซุฮ์ริ
ท่านอิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า
صَلَّيْتُ مَعَ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَبْلَ الظُّهْرِ سَجْدَتَيْنِ وَبَعْدَهَا سَجْدَتَيْنِ
“ฉันเคยละหมาด พร้อมกับท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก่อนละหมาดซุฮ์ริ สองร็อกอะฮ์ และหลังซุฮ์ริ สองร็อกอะฮ์”
รายงานโดยอัลบุคอรีย์ (หะดีษลำดับที่ 1165) และมุสลิม (หะดีษลำดับที่ 729)
3 . ละหมาดสุนัตสองร็อกอะฮ์ หลังละหมาดมัฆริบ
ท่านอิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า
صَلَّيْتُ مَعَ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَبْلَ الظُّهْرِ سَجْدَتَيْنِ وَبَعْدَهَا سَجْدَتَيْنِ وَبَعْدَ الْمَغْرِبِ سَجْدَتَيْنِ
“ฉันเคยละหมาด พร้อมกับท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก่อนละหมาดซุฮ์ริ สองร็อกอะฮ์ และหลังซุฮ์ริ สองร็อกอะฮ์ และหลังละหมาดมัฆริบ สองร็อกอะฮ์”
รายงานโดยอัลบุคอรีย์ (หะดีษลำดับที่ 1165) และมุสลิม (หะดีษลำดับที่ 729)
4 . ละหมาดสุนัตสองร็อกอะฮ์ หลังละหมาดอิชาอฺ
ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ได้กล่าวว่า
كَانَ يُصَلِّي بِالنَّاسِ الْمَغْرِبَ ثُمَّ يَدْخُلُ فَيُصَلِّي رَكْعَتَيْنِ وَيُصَلِّي بِالنَّاسِ الْعِشَاءَ وَيَدْخُلُ بَيْتِي فَيُصَلِّي رَكْعَتَيْنِ
“ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทำการละหมาดมัฆริบ พร้อมผู้คนทั้งหลาย หลังจากนั้นท่านเข้ามา (ในบ้านของฉัน) แล้วท่านละหมาดสองร็อกอะฮ์ และท่านละหมาดอิชาอฺ พร้อมผู้คนทั้งหลาย และท่านก็เข้ามาในบ้านของฉัน แล้วละหมาดสองร็อกอะฮ์”
รายงานโดยมุสลิม (หะดีษลำดับที่ 730)
ละหมาดสุนัตร่อวาติบ ไม่มุอั๊กกั๊ด (ไม่เน้นหนัก)
ละหมาดสุนัตร่อวาติบ ไม่มุอั๊กกั๊ด คือ ละหมาดสุนัต ที่ท่านนะบีย์ ทำไม่เป็นประจำ หรือสั่งให้ผู้อื่นกระทำเท่านั้น มีดังนี้
1 . ละหมาดสุนัต ก่อนซุฮ์ริสองร็อกอะฮ์ และละหมาดสุนัต หลังซุฮ์ริสองร็อกอะฮ์ กล่าวคือ
ละหมาดสุนัตร่อวาติบมุอั๊กกั๊ด ก่อนซุฮ์ริสองร็อกอะฮ์ และละหมาดร่อวาติบที่ไม่มุอั๊กกั๊ด ก่อนซุฮ์ริอีกสองร็อกอะฮ์ รวมเป็นสี่ร็อกอะฮ์ และละหมาดสุนัตร่อวาติบมุอั๊กกั๊ด หลังซุฮ์ริสองร็อกอะฮ์ และละหมาดร่อวาติบที่ไม่มุอั๊กกั๊ด หลังซุฮ์ริอีกสองร็อกอะฮ์ รวมเป็นสี่ร็อกอะฮ์ ดังนั้น ถ้าหากบุคคลหนึ่ง ละหมาดร่อวาติบที่มุอั๊กกั๊ด เพียงแค่สองร็อกอะฮ์ ก่อนและหลังซุฮ์ริ ถือว่าตามซุนนะฮ์นะบีย์แล้ว แต่ถ้าหากเพิ่มละหมาดสุนัต อีกสองร็อกอะฮ์ที่ไม่มุอั๊กกั๊ด ก่อนและหลังซุฮ์ริ ก็ถือว่าประเสริฐยิ่ง
ท่านหญิงอุมมุหะบีบะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า
قَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّي اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: مَنْ حَافَظَ عَلَى أَرْبَع رَكَعَاتٍ قَبْل الظُّهْر ، وَأَرْبَع بَعْدهَا حَرَّمَهُ اللَّه عَلَى النَّار
“ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ผู้ใดที่รักษาละหมาดสี่ร็อกอะฮ์ ก่อนซุฮ์ริ และอีกสี่ร็อกอะฮ์ หลังซุฮ์ริ แน่นอนอัลเลาะฮ์จะห้ามเขา จากไฟนรก”
รายงานอะบูดาวูด (หะดีษลำดับที่ 1269) และอัตติรมีซีย์ (หะดีษลำดับที่ 427, และท่านอัตติรมีซีย์กล่าวว่า หะดีษหะซันซอฮิห์)
สำหรับละหมาดสุนัตร่อวาติบ ญุมุอะฮ์ (ละหมาดวันศุกร์) นั้น ท่านอิหม่ามอันนะวาวีย์ กล่าวว่า “หลังจากละหมาดญุมุอะฮ์แล้ว ก็ให้ละหมาดสุนัตร่อวาติบ สี่ร็อกอะฮ์ และก่อนละหมาดญุมุอะฮ์นั้น สุนัตให้ละหมาดสุนัต (เหมือนกับหลักของ) การละหมาดสุนัตก่อนละหมาดซุฮ์ริ (คือให้ทำละหมาดสุนัต สองร็อกอะฮ์ก่อนซุฮ์ริ) ” (อันนะวาวีย์, มินฮาจญ์ อัฏฏอลิบีน, หน้า 14)
2 . ละหมาดสุนัตสอง หรือสี่ร็อกอะฮ์ ก่อนละหมาดอัสริ
ท่านอะลีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า
كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يُصَلِّي قَبْلَ الْعَصْرِ أَرْبَعَ رَكَعَاتٍ يَفْصِلُ بَيْنَهُنَّ بِالتَّسْلِيمِ عَلَى الْمَلَائِكَةِ الْمُقَرَّبِينَ وَمَنْ تَبِعَهُمْ مِنْ الْمُسْلِمِينَ وَالْمُؤْمِنِينَ
“ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ละหมาด (สุนัต) สี่ร็อกอะฮ์ ก่อน (ละหมาด) อัสริ โดยท่านแบ่ง ระหว่างสี่ร็อกอะฮ์ (คือทำทีละสองร็อกอะฮ์) ด้วยการให้สลาม (หลังอ่านตะชะฮุด) ต่อบรรดามะลาอิกะฮ์ ผู้ใกล้ชิด และผู้ที่เจริญรอยตามพวกเขา (ในการศรัทธาต่ออัลเลาะฮ์ เพียงหนึ่งเดียว) จากบรรดามุสลิม และมุอฺมิน”
รายงานโดยอัตติรมีซีย์ (หะดีษลำดับที่ 429, และท่านอัตติรมีซีย์กล่าวว่า หะดีษนี้หะซัน)
และรายงานจากท่านอะลีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ อีกเช่นเดียวกัน ความว่า
أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ كَانَ يُصَلِّي قَبْلَ الْعَصْرِ رَكْعَتَيْنِ
“แท้จริงท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำการละหมาดสองร็อกอะฮ์ ก่อนอัสริ”
รายงานโดยอะบูดาวูด (หะดีษลำดับที่ 1272)
ท่านอิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า
قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ رَحِمَ اللَّهُ امْرَأً صَلَّى قَبْلَ الْعَصْرِ أَرْبَعًا
“ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ขออัลเลาะฮ์ทรงเมตตาบุคคลหนึ่ง ที่ละหมาด (สุนัต) สี่ร็อกอะฮ์ก่อนอัสริ” รายงานอะบูดาวูด (หะดีษลำดับที่ 1271) และอัตติรมีซีย์ (หะดีษลำดับที่ 430, และท่านอัตติรมีซีย์ กล่าวว่า หะดีษนี้หะซัน)
3 . ละหมาดสุนัตสองร็อกอะฮ์ ก่อนมัฆริบ
รายงานจากท่านอับดุลเลาะฮ์ อัลมุซะนีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ความว่า
عَنْ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ صَلُّوا قَبْلَ صَلَاةِ الْمَغْرِبِ قَالَ فِي الثَّالِثَةِ لِمَنْ شَاءَ
“จากท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านได้กล่าวว่า พวกท่านจงละหมาด (สองร็อกอะฮ์) ก่อนละหมาดมัฆริบ ท่านนะบีย์ได้กล่าวครั้งที่สามว่า สำหรับผู้ที่ประสงค์ (จะละหมาดเท่านั้น) ”
รายงานโดยอัลบุคอรีย์ (หะดีษลำดับที่ 1183)
4 . ละหมาดสุนัตสองร็อกอะฮ์ ก่อนอิชาอฺ
รายงานจากท่านอับดุลเลาะฮ์ บิน มุฆ็อฟฟัล อัลมุซานีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ความว่า
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ بَيْنَ كُلِّ أَذَانَيْنِ صَلَاةٌ ثَلَاثًا لِمَنْ شَاءَ
“แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า ระหว่างสองอะซาน (คืออะซานกับอิกอมะฮ์) นั้น มีละหมาด ท่านกล่าวถึงสามครั้ง (ครั้งที่สาม ท่านนะบีย์กล่าวว่า) สำหรับผู้ที่ประสงค์ (จะละหมาด) ”
รายงานโดยอัลบุคอรีย์ (หะดีษลำดับที่ 627) และมุสลิม (หะดีษลำดับที่ 729)
วิธีละหมาดร่อวาติบ
1 . ละหมาดคนเดียว ไม่ต้องทำเป็นญะมาอะฮ์ฮาชียะฮ์. (มินฮาจญ์ อัฏฏอลิบีน, หน้า 14)
2 . ให้เหนียตละหมาดในใจ โดยมีคำภาษาอาหรับ หรือภาษาไทยว่า “ก็อบลียะฮ์” (แบบก่อน) ในกรณีที่ละหมาดสุนัต ก่อนฟัรฎู และคำว่า “บะอฺดียะฮ์” (แบบหลัง)
ในกรณีที่ละหมาดสุนัตหลังฟัรฎู เช่น “ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตซุฮ์ริ ก็อบลียะฮ์ (แบบก่อน) สองร็อกอะฮ์ เพื่ออัลเลาะฮ์ตะอาลา” และ “ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตซุฮ์ริ บะอฺดียะฮ์ (แบบหลัง) สองร็อกอะฮ์ เพื่ออัลเลาะฮ์ตะอาลา”
หรือเหนียตแบบสั้นๆ ว่า ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตซุฮ์ริ ก็อบลียะฮ์, ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตซุฮ์ริ บะอฺดียะฮ์, ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตญุมุอะฮ์ ก็อบลียะฮ์, ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตญุมุอะฮ์ บะอฺดียะฮ์, ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตอัสริ ก็อบลียะฮ์, ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตมัฆริบ ก็อบลียะฮ์, ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตมัฆริบ บะอฺดียะฮ์, ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตอิชาอฺ ก็อบลียะฮ์, ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตอิชาอฺ บะอฺดียะฮ์, ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตซุบฮิ ก็อบลียะฮ์, โดยที่ไม่ต้องบอกจำนวนร็อกอะฮ์ ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว
(ดู ฮาชียะฮ์อัชชัรกอวีย์ อะลา ตุห์ฟะตุฏฏุลล๊าบ, เล่ม 1 หน้า 296)
เวลาเข้าละหมาดร่อวาติบ
1 . เวลาละหมาดสุนัตร่อวาติบ ก่อนละหมาดฟัรฎู (สุนัตก็อบลียะฮ์)
คือ เมื่อเข้าเวลาละหมาดฟัรฎู และสิ้นสุดเวลาละหมาดร่อวาติบ ก็อบลียะฮ์ เมื่อหมดเวลาละหมาดฟัรฎู (มินฮาจญ์ อัฏฏอลิบีน, หน้า 14 .) แต่อนุญาตให้ล่าช้า ละหมาดสุนัตร่อวาติบ ก็อบลียะฮ์ ไปทำหลังละหมาดฟัรฎูได้ เพราะถือว่ายังอยู่ในเวลา เพราะเวลาเข้าละหมาดร่อวาติบ ก็อบลียะฮ์ นี้ คือเริ่มเข้าเวลาละหมาดฟัรฎู และเวลายังคงยืดยาวเรื่อยไป จนกระทั่งหมดเวลาละหมาดฟัรฎู แต่บางครั้งสุนัต (ส่งเสริม) ให้ละหมาดสุนัตร่อวาติบ ก็อบลียะฮ์ หลังละหมาดฟัรฎูแล้ว เช่น กรณีของผู้ที่มาละหมาดซุบฮิ แล้วปรากฏว่ากำลังอิกอมะฮ์ ละหมาดซุบฮิ หรือใกล้จะอิกอมะฮ์แล้ว ซึ่งถ้าหากเขามัวสนใจ จะทำละหมาดสุนัตร่อวาติบ ก็อบลียะฮ์ ก่อน ก็จะไม่ทันการตักบีรของอิหม่าม ดังนั้น ก็ให้เขาทำการละหมาดฟัรฎูก่อน หลังจากนั้นก็ให้ทำการละหมาดสุนัตร่อวาติบ ก็อบลียะฮ์ (ดู อิอานะฮ์อัฏฏอลิบีน, เล่ม 1 หน้า 248 .)
2 . เวลาละหมาดร่อวาติบ หลังละหมาดฟัรฎู (สุนัตบะอฺดียะฮ์)
คือ เมื่อละหมาดฟัรฎูเสร็จเรียบร้อยแล้ว และสิ้นสุดละหมาดร่อวาติบ เมื่อหมดเวลาละหมาดฟัรฎู (มินฮาจญ์ อัฏฏอลิบีน, หน้า 14) และไม่อนุญาตให้ทำละหมาดร่อวาติบ บะอฺดียะฮ์ ก่อนละหมาดฟัรฎู (ดู อิอานะฮ์อัฏฏอลิบีน เล่ม 1 หน้า 248)
www.piwdee.net
โดย: อบูมุฮัมมัด อัลอัซฮะรีย์