การละหมาดสุริยคราสและจันทรคราส
การละหมาดสุริยคราสและจันทรคราส
โดย ท่านอาจารย์อารีฟีน แสงวิมาน
ละหมาดเพราะเกิดสุริยคราสและจันทรคราส
คำนิยามและเวลาที่บัญญัติละหมาดทั้งสอง
ละหมาดสุริยคราสและจันทรคราส คือ การละหมาดที่ถูกบัญญัติขึ้นเพราะมีเหตุเกิดสุริยคราส(กุซูฟ) และจันทรคราส(คุซูฟ) มุสลิมจะทำการวิงวอนต่ออัลเลาะฮ์ตะอาลา ให้พ้นจากความเดือดร้อนและขอให้แสงสว่างกลับคืนมา
ดังนั้น ไม่อนุญาตให้ทำการละหมาดสุริยะคราส และจันทรคราส นอกจากรู้อย่างมั่นใจ(ยาเกน) แล้วว่าได้เกิดคราสขึ้น เพราะฉะนั้นหากแค่เกิดความสงสัย (ชักกฺ) หรือคาดการณ์(ซ็อนนฺ)ว่าเกิดคราส ก็ไม่อนุญาตให้ทำการละหมาด แต่จำเป็นต้องเห็นปรากฏการณ์คราสด้วยตนเองหรือรู้มาจากข่าวบอกเล่าที่เลื่องลือ(มุตะวาติร)ว่าเห็นปรากฏการณ์คราสเกิดขึ้น และถือว่าเพียงพอสำหรับบุคคลที่มีคุณธรรมสองคนได้บอกข่าวว่าเกิดคราสขึ้น
(หนังสือก็อลยูบีย์วะอุมัยเราะฮ์, เล่ม 1 หน้า 363)
ข้อกำหนด(ฮุกุ่ม)การละหมาดสุริยคราสและจันทรคราส
การละหมาดสุริยคราสและจันทรคราสเป็นสุนัตมุอักกะดะฮ์(เน้นให้กระทำ) และถือว่ามักโระฮ์ในการละทิ้งมัน (หนังสืออัลบุญัยรีมีย์อะลัลค่อฏีบ, เล่ม 2 หน้า 493) เพราะท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวในรายงานของมุสลิมว่า
إِنَّ الشَّمْسَ وَالْقَمَرَ مِنْ آيَاتِ اللَّهِ وَإِنَّهُمَا لَا يَنْخَسِفَانِ لِمَوْتِ أَحَدٍ وَلَا لِحَيَاتِهِ فَإِذَا رَأَيْتُمُوهُمَا فَكَبِّرُوا وَادْعُوا اللَّهَ وَصَلُّوا وَتَصَدَّقُوا
“แท้จริงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้น ทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาสัญลักษณ์ของอัลเลาะฮ์ ทั้งสองไม่ได้เกิดคราส เพราะความตายของผู้ใด และไม่ใช่เพราะการมีชีวิตของผู้ใด ดังนั้นเมื่อพวกท่านได้พบเหตุการณ์ทั้งสอง พวกท่านจงทำการตักบีร วิงวอนขอต่ออัลเลาะฮ์ จงทำการละหมาด และจงทำการบริจาคทาน" รายงานโดยมุสลิม ฮะดีษลำดับที่ 1500
ท่านอะบี มัสอูด อัลอันซอรีย์ กล่าวว่า
قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِنَّ الشَّمْسَ وَالْقَمَرَ آيَتَانِ مِنْ آيَاتِ اللَّهِ يُخَوِّفُ اللَّهُ بِهِمَا عِبَادَهُ وَإِنَّهُمَا لَا يَنْكَسِفَانِ لِمَوْتِ أَحَدٍ مِنْ النَّاسِ فَإِذَا رَأَيْتُمْ مِنْهَا شَيْئًا فَصَلُّوا وَادْعُوا اللَّهَ حَتَّى يُكْشَفَ مَا بِكُمْ
“ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า แท้จริงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้น ทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาสัญลักษณ์ของอัลเลาะฮ์ ซึ่งพระองค์กำลังขู่ให้หวั่นกลัวด้วยกับทั้งสอง และทั้งสองไม่ได้เกิดคราส เพราะความตายของผู้ใด และไม่ใช่เพราะการมีชีวิตของผู้ใด ดังนั้นเมื่อพวกท่านได้พบเหตุการณ์นั้น พวกท่านจงละหมาดและวิงวอนขอต่ออัลเลาะฮ์ จนกระทั่งสิ่งที่เกิดขึ้นแก่พวกท่านได้คายออก(สว่าง)” รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษลำดับที่ 1516.
สุนัตให้กระทำการละหมาดทั้งสอง เป็นแบบญะมาอะฮ์และให้ประกาศขณะจะละหมาดว่า اَلصَّلاَةُ جَامِعَةً “อัศศ่อลาห์ญามิอะฮ์” เป็นการละหมาดรวมกันตามที่ซุนนะฮ์นะบีย์ได้ระบุไว้
ท่านหญิงอาอิชะฮ์ กล่าวว่า
أَنَّ الشَّمْسَ خَسَفَتْ عَلَى عَهْدِ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَبَعَثَ مُنَادِيًا الصَّلَاةُ جَامِعَةٌ فَاجْتَمَعُوا
“แท้จริงอาทิตย์ได้เกิดคราสในสมัยท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังนั้นท่านร่อซูลุลลอฮ์จึงส่งคนไปป่าวประกาศว่า “อัศศ่อลาตุลญามิอะฮ์” แล้วพวกเขาก็มารวมตัวกัน” รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษลำดับที่ 1501
วิธีการละหมาดสุริยคราสและจันทรคราส
การละหมาดสุริยคราสและจันทรคราส มีสองร็อกอะฮ์ โดยให้ผู้จะละหมาดตั้งเจตนา (เหนียต) ว่าเป็นละหมาดกุซูฟ (สุริยคราส) หรือละหมาดคุซูฟ (จันทรคราส) เช่น “ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตสุริคราสเพื่ออัลเลาะฮ์ตะอาลา” หรือ “ข้าพเจ้าละหมาดสุนัตจันทรคราสเพื่ออัลเลาะฮ์ตะอาลา” ซึ่งมีวิธีปฏิบัติดังนี้
กล่าวคือ : ในแต่ละร็อกอะฮ์มีการยืนตรงสองครั้ง โดยในการยืนตรงครั้งที่หนึ่งของร็อกอะฮ์แรกภายหลังจากการอ่านดุอาอิฟติตาห์ , กล่าวอะอูซุบิลลาฮ์ และอ่านฟาติหะฮ์ ก็ให้อ่านอ่านซูเราะฮ์ จากนั้นก็ให้ทำการรุกั๊วะอฺ และเงยศีรษะขึ้นมาจากรุกั๊วะอฺ พร้อมยืนตรงหยุดนิ่งครู่หนึ่ง(เอี๊ยะติดาล) หลังจากนั้นก็ให้อ่านฟาติหะฮ์ , อ่านซูเราะฮ์ จากนั้นก็ให้ทำการรุกั๊วะอฺ และเงยศีรษะขึ้นมาจากการรุกั๊วะอฺพร้อมยืนตรงโดยหยุดนิ่งครู่หนึ่ง(เอี๊ยะติดาล) หลังจากนั้นก็ให้ทำการลงไปสุยูดสองสุยูดพร้อมกับหยุดนิ่งครู่หนึ่ง(มีฏ่อมะนีนะฮ์)ระหว่างสองสุยูดด้วย
หลังจากนั้นก็ขึ้นมาทำร็อกอะฮ์ที่สองซึ่งวิธีทำก็เหมือนกับร็อกอะฮ์แรกนั่นเอง
(หนังสือฮาชียะฮ์อัลบาญูรีย์, เล่ม 1 หน้า 229. และหนังสือกิฟายะตุลอัคยาร, เล่ม 1 หน้า 155, ของท่านอัลลามะฮ์ตะกียยุดดีน อัลหิศนีย์).
การละหมาดสุริยคราสนั้นให้อ่านค่อย ส่วนการละหมาดจันทรคราสให้อ่านดัง
รายงานจากท่านซะมุเราะฮ์ บิน ญุนดุบ ความว่า
صَلَّى بِنَا النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِي كُسُوفٍ لَا نَسْمَعُ لَهُ صَوْتًا
“ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ละหมาดพร้อมกับเราในเหตุการณ์สุริยคราส โดยพวกเราไม่ได้ยินเสียงของท่าน” รายงานโดยอัตติรมีซีย์, ฮะดีษลำดับที่ 115, ท่านอัตติรมีซีย์กล่าวว่า ฮะดีษฮะซันซอฮิห์
รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ความว่า
جَهَرَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِي صَلَاةِ الْخُسُوفِ بِقِرَاءَتِهِ
“ท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อ่านดังในละหมาดจันทรคราส” รายงานโดยบุคอรีย์, ฮะดีษลำดับที่ 1004
การคุฏบะฮ์ภายหลังเสร็จจากละหมาดสุริยคราสและจันทรคราส
เมื่อละหมาดเสร็จแล้ว ให้อิหม่ามแสดงธรรมคุฏบะฮ์สองคุฏบะฮ์ภายหลังจากละหมาดซึ่งเหมือนกับสองคุฏบะฮ์วันศุกร์ในเรื่องของรุกุ่นและเงื่อนไขของคุฏบะฮ์ อิหม่ามจะต้องเร่งเร้าประชาชนให้สำนึกตัวและทำความดี เช่น ส่งเสริมให้บริจาคทาน , ทำการถือศีลอดสุนัต , เป็นต้น และเตือนให้ระวังจากการหลงลืมในเรื่องบัญญัติศาสนา (หนังสือฮาชียะฮ์อัลบาญูรีย์, เล่ม 1 หน้า 230, และหนังสือกิฟายุตอัคยาร, เล่ม 1 หน้า 156).
สำหรับผู้ที่ละหมาดคนเดียวหรือมีบรรดามุสลิมะฮ์ได้รวมตัวกันละหมาดเพียงลำพังสำหรับพวกนาง ก็ไม่ต้องมีคุฏบะฮ์ แต่ถ้าหากมีมุสลิมะฮ์คนหนึ่งได้ยืนขึ้นทำการกล่าวให้คำตักเตือน ก็อนุญาตให้กระทำได้ (หนังสือฮาชียะฮ์อัลบาญูรีย์ เล่ม 1 หน้า 230, และหนังสือก็อลยูบีย์วะอุมัยเราะฮ์, เล่ม 1 หน้า 363)
ละหมาดสุริยคราสและจันทรคราสไม่ต้องชดใช้
เมื่อทราบดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ได้คายออกมาเต็มดวงอย่างมั่นใจแล้ว ก็ถือว่าหมดเวลาละหมาดทั้งสอง ดังนั้นเมื่อพลาดเวลาละหมาดหรือละหมาดไม่ทัน ก็ไม่ต้องชดใช้(กอฏออฺ)ละหมาดทั้งสอง เพราะเป็นละหมาดที่ต้องปฏิบัติพร้อมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์หายไป ก็หมดเหตุที่ต้องละหมาด
ฉะนั้น ถ้าหากละหมาดกอฎออฺก็ถือว่าใช้ไม่ได้(ไม่เซาะห์) , และถ้าหากดวงอาทิตย์ตกขณะที่กำลังเกิดคราส ก็ถือว่าหมดเวลาละหมาดสริยคราส หรือในกรณีที่ดวงอาทิตย์ขึ้นขณะที่ดวงจันทร์เกิดคราส ก็ถือว่าหมดเวลาละหมาดจันทร์คราสเช่นเดียวกัน แต่ถ้าหากแสงอรุณขึ้นเท่านั้น ก็ถือว่ายังไม่หมดเวลาละหมาดจันทรคราส เพราะดวงจันทร์ที่กำลังเกิดคราสยังปรากฏให้เห็นอยู่ , และถ้าหากได้เกิดคราสเพียงบางส่วน(คือไม่เกิดคราสเต็มดวง) หลังจากนั้นก็สงสัยว่า คราสนั้นได้คายหมดแล้วหรือยังเนื่องจากมีเมฆมาบดบังระหว่างเรากับดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ ก็ให้ทำการละหมาดได้เพราะหลักการเดิมแล้วถือว่าคราสยังไม่คาย แต่ถ้าหากคราสได้คายหมดในขณะกำลังละหมาดอยู่ ก็ให้ทำละหมาดต่อไปให้เสร็จสมบูรณ์ หลังจากนั้นก็ทำการคุฏบะฮ์หากแม้ว่าคุฏบะฮ์จะอยู่ในช่วงที่คราสคายแล้วก็ตาม
(หนังสือฮาชียะฮ์อัลบาญูรีย์, เล่ม 1 หน้า 230, และ หนังสืออัลบุญัยรีมีย์อะลัลค่อฏีบ, เล่ม 2 หน้า 494-495). วัลลอฮุอะลัม
وَاللهُ سُبْحَانَهُ وَتَعَاليَ أعْلىَ وَأَعْلَمُ
บทความที่น่าสนใจ
- เพียงละหมาด 2 ร็อกอะฮ์ แลกกับสวรรค์
- ละหมาดตะรอเวียะห์อ่านอะไรบ้าง? ขั้นตอนการละหมาดตะรอเวียะห์ พร้อมคำเนียต
- วิธีละหมาดสุนัตเตาบะห์ พร้อมคำเนียตละหมาดเตาบะห์
- การละหมาดในคืนนิสฟูชะอ์บาน วิธีเหนียตละหมาดนิสฟูชะอ์บาน
- วิธี ละหมาดตัสเบียะห์ พร้อมคำเหนียต ละหมาดสุนัตที่ได้ผลบุญยอดเยี่ยม
- วิธีละหมาดตะฮัดยุด ซูเราะห์ละหมาดตะฮัจญุด ต้องอ่านอย่างไร?
- การละหมาดเลือกคู่ครอง
- วิธีละหมาดสุนัตตะฮัตยุต
- ละหมาดดุฮา ประตูริสกีที่กว้างที่สุด
- ละหมาดดุฮา สำคัญอย่างไร ทำไมคนทั่วโลกจึงนิยมปฎิบัติ ?
- ดุอาอฺหลังละหมาดสุนัตตะฮัจญุด
- มาทำกันเถอะ! ละหมาดสุนัต ช่วยให้ละหมาดฟัรดูที่บกพร่องสมบูรณ์
- ความลับของละหมาดสุนัตซุบฮฺ รู้แล้งอึ้ง!
- ละหมาดสุนัต 25 ประเภท มีอะไรบ้าง?
- ซุนนะห์ในคืนนิสฟูชะอฺบาน มีอะไรบ้าง?
- รูปแบบและวิธีการละหมาดสุนัตฮาญัต
- ละหมาดตะฮัจญุดในเดือนรอมฎอน
- ดุอาอฺเมื่อออกเดินทาง
- ช่วงเวลาที่ห้ามทำการละหมาด
- ละหมาดจันทรุปราคา มีวิธีละหมาดอย่างไร?