การละหมาดวันศุกร์ คืออะไร วิธีการละหมาดวันศุกร์ปฏิบัติอย่างไร มาทำความเข้าใจกันดีกว่า...
การละหมาดวันศุกร์ คืออะไร วิธีการละหมาดวันศุกร์ปฏิบัติอย่างไร มาทำความเข้าใจกันดีกว่า...
การละหมาดวันศุกร์
การละหมาดวันศุกร์ เป็นฟัรดูที่จำเป็นเฉพาะผู้ชายมุสลิมทุกคนที่เป็นอิสระ ไม่ใช่ทาส ซึ่งบรรลุนิติภาวะพร้อมทั้งสติสัมปชัญญะรู้สึกรับผิดชอบ ซึ่งไม่มีอุปสรรคจำเป็นใดๆ มาขัดขวาง เช่น การป่วยไข้ ฯลฯ
การละหมาดวันศุกร์ หรือละหมาดญุมอะห์ (ละหมาดรวม) นั้น มี 2 ร่อกาอัต ปฏิบัติในเวลาละหมาดดุฮฺริในวันศุกร์ โดยถือเอาสองคุตบะห์แทนสองร่อกะอัต กำเวลาละหมาดวันศุกร์ นับแต่เวลา พระอาทิตย์คล้อย จนถึงเงาของสิ่งหนึ่งเท่าตัวของมัน สุนัตให้อ่านเหนียตละหมาดดังนี้
อ่านว่า : อุซ็อลลี ฟัรด็อลญุมุอะติ ร๊อกอะตัยนิ มะอ์มูมันลิลลาฮิต้าอาลา
ต้องนึกในใจว่า : ข้าพเจ้าละหมาดฟัรดูญุมอะห์ 2 ร่อกาอัตเป็นมะมูม ลิลลาฮิต้าอาลา
หากเป็นอีหม่ามให้เปลี่ยนคำ ( มะมูม เป็น อีมามัน ) พร้อมกับเนียตว่า เป็นอีหม่าม
กฎเกณฑ์ของผู้วายิบละหมาดวันศุกร์มี 7 ประการ
1. ต้องเป็นมุสลิม คือ ผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม
2. ต้องเป็นผู้มีอายุเข้าเกณฑ์ที่ศาสนาบังคับ
3. ต้องเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ
4. ต้องเป็นเพศชาย
5. ต้องเป็นบุคคลที่อยู่ประจำท้องถิ่นไม่ใช่คนเดินทาง
6. ไม่เจ็บป่วย
7. ต้องเป็นผู้ที่มีอิสระ (ไม่ใช่ทาส)
สุนัตบางประการสำหรับผู้ที่จะไปละหมาดวันศุกร์ คือ
1. ให้อาบน้ำสุนัตเพื่อไปละหมาดโดยเนียตว่า ( ข้าพเจ้าอาบน้ำเพื่อไปละหมาดวันศุกร์ )
2. ใช้เครื่องแต่งกายที่ขาวสะอาด
3. ใช้เครื่องหอมที่ไม่เจือปนน่ายิส
4. สงบและตั้งใจฟังการอ่านคุตบะห์5
ให้อ่านอัลกุรอ่านและขอดุอาอฺมากๆ
ข้อปฏิบัติอื่นๆ ที่นับว่าสำคัญ
1. เมื่อเข้ามัสยิดควรให้สลาม แล้วให้ละหมาดสุนัตต้าฮีย่าตุ้ลมัสยิด 2 ร่อกาอัต
2. หลังจากอะซานครั้งที่หนึ่งแล้ว ให้ให้ละหมาดสุนัตก๊อบลียะห์ 2 ร่อกาอัต
3. ให้ตั้งใจฟังคุตบะห์ ( เพราะคุตบะห์ทั้งสองนั้น แทนตำแหน่งสองร่อกาอัต ของละหมาดดุฮฺริ ) เพื่อนำคำสอนและคำตักเตือนเหล่านั้นมาปฏิบัติ
4. เมื่อเสร็จจากละหมาดวันศุกร์แล้ว ให้นั่งอ่านอัลฮัมดุลิ้ลลาห์กุ้ลฮุวัลลอห์ กุ้ลอ้าอูซุบี้ร็อบบิ้ลฟ่าลัก และกุ้ลอ้าอูซุบิร็อบบินนาส อย่างละ 7 จบ โดยอยู่ในท่าเดิม และไม่เคลื่อนที่ ถัดจากนั้นก็ให้ขอดุอาอฺ
5. ควรละหมาดสุนัต บะฮฺดียะห์หลังจากดุอาห์แล้ว อีก 2 หรือ 4 ร่อกาอัต
การละเลยละหมาดวันศุกร์
ผู้ใดที่ไม่ได้ละหมาดวันศุกร์ให้เขาละหมาดชดด้วยละหมาดดุฮฺริ 4 ร่อกาอัต ซึ่งหากขาดละหมาดวันศุกร์เพราะเหตุจำเป็น ก็จะไม่มีบาปใดๆ แต่ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ เขาจะมีบาปเพราะเขาได้ละเลยการละหมาดวันศุกร์
มีรายงานจากท่านอบู อัล-ญะอฺดิ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า
«مَنْ تَرَكَ ثَلاثَ جُـمَعٍ تَـهَاوُناً بِـهَا طَبَـعَ الله عَلَى قَلْبِـهِ».
ความว่า “ผู้ใดขาดละหมาดญุมุอะฮฺสามครั้งติดๆ กันโดยเจตนา อัลลอฮฺจะตีตราบนหัวใจของเขา” (เป็นหะดีษหะสันเศาะฮีหฺที่บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 1052 และอัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 500)
ช่วงเวลาที่ดุอาอฺจะถูกตอบรับ
ช่วงเวลาที่จะถูกตอบรับน่าจะเป็นช่วงท้ายของวันศุกร์ นั่นคือ หลังจากละหมาดอัศรฺ ซึ่งมีสุนัตให้ซิกิรฺ ดุอาอฺให้มากๆ ในช่วงดังกล่าว ฉะนั้นการดุอาอฺในช่วงนี้จึงเป็นการดุอาอฺที่น่าจะถูกตอบรับมากที่สุด ทั้งที่มันเป็นช่วงสั้นๆ
มีรายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า แท้จริงท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวถึงวันศุกร์ว่า
«فِيهِ سَاعَةٌ لا يُوَافِقُهَا عَبْدٌ مُسْلِـمٌ وَهُوَ قَائِمٌ يُصَلِّي يَسْأَلُ الله تَعَالَى شَيْئاً إلَّا أَعْطَاهُ إيَّاهُ»
ความว่า “ในวันศุกร์มีช่วงเวลาหนึ่ง บ่าวมุสลิมคนไหนที่ยืนละหมาดแล้วขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺให้เขาได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยตรงกับช่วงเวลาดังกล่าวพอดี อัลลอฮฺก็จะทรงให้แก่เขาตามที่เขาได้วอนขอ” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ 935 ซึ่งสำนวนนี้เป็นของอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม เลขที่: 852)