การละหมาดฆออิบ หมายถึง บุคคลที่ไม่อยู่ ก็หมายถึงมัยยิตที่ศพของเขาไม่อยู่ขณะละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่เขา
การละหมาดฆออิบ (صلاة الغائب) หมายถึง บุคคลที่ไม่อยู่ ก็หมายถึงมัยยิตที่ศพของเขาไม่อยู่ขณะละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่เขา ซึ่งหลักฐานที่รับรองการละหมาดให้แก่ฆออิบมีอยู่หลักฐานเดียวกรณีเดียวที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ละหมาดฆออิบให้แก่นะญาชีซึ่งเป็นกษัตริย์ของฮะบะชะฮฺ (ปัจจุบันคือ เอธิโอเปียและซูดาน) ซึ่งเขาได้ศรัทธาด้วยอัลอิสลามและเสียชีวิตขณะที่อยู่ในเมืองนั้น และไม่มีใครเป็นมุสลิมที่สามารถญะนาซะฮฺให้แก่เขาได้ นบีจึงแจ้งศ่อฮาบะฮฺถึงการเสียชีวิตของนะญาชีและเรียกร้องให้ศ่อฮาบะฮฺลุกขึ้นละหมาดญะนาซะฮฺ ซึ่งอุละมาอฺมีความคิดต่างกัน
• มัซฮับชาฟิอีย์
• อิมามอันนะวะวีย์ กล่าวว่า ทรรศนะของเรา(มัซฮับชาฟิอีย์) คือ อนุมัตให้ละหมาดฆออิบสำหรับผู้ตายที่อยู่คนละเมืองกับผู้ละหมาด ไม่ว่าผู้ตายจะอยู่ทางทิศกิบลัตหรือไม่ แต่ผู้ละหมาดนั้นต้องหันไปทางทิศกิบลัต และไม่ว่าเมืองผู้ตายจะใกล้หรือไกลจากเมืองผู้ละหมาด
ส่วนกรณีถ้าผู้ตายอยู่ในเมืองเดียวกับผู้ละหมาด ละมาอฺมัซฮับชาฟิอีย์มีความเห็นสองทรรศนะ ดังนี้
1. ส่วนใหญ่ของอุลามาในมัซฮับ(อิมามอบูอิสหากอัชชีรอซีย์เห็น ด้วยกับทรรศนะ นี้) ไม่อนุญาตให้ละหมาดฆออิบในกรณีนี้ ผู้ละหมาดต้องไปละหมาดมะยัตยังสถานที่ที่มีการละหมาดเท่านั้น. เพราะท่านนบี(ซ.ล) ไม่เคยละหมาดมะยัตในเมืองเดียวกันเว้นแต่มีศพอยู่ตรงหน้า และเพราะไม่มีความลำบากอันใดต่างกับผู้เสียชีวิตต่างเมือง
2. ทรรศนะที่สองในมัซฮับ เห็นว่าอนุญาตถึงแม้จะอยู่ในเมืองเดียวกันก็ตาม.(ที่มา หนังสืออัลมัจมูอฺ ของอิมามอันนะวะวีย์ 5/150)
• มัซฮับฮัมบาลีย์
• อิมามอิบนุกุดามะฮ์ กล่าวว่า เป็นที่อนุญาตให้ละหมาดฆออิบสำหรับมะยัตที่อยู่ต่างเมือง โดยเหนียตละหันไปยังทิศกิบลัต และละหมาดฆออิบนั้นเหมือนละหมาดมะยัตปกติ ไม่ว่าผู้ตายจะอยู่ในทิศกิบลัตหรือไม่. และไม่ว่าเมืองของผู้ตายห่างจากเมืองของผู้ละหมาดเท่ากับระยะทางละหมาด ย่อ(สำหรับผู้เดินทาง)หรือไม่ และผู้ที่มีทรรศนะดังที่กล่าวมา คือ อิมามอัชชาฟิอีย์
• หลักฐานของเรา(ที่บอกว่าอนุญาต) หะดีษจากท่านนบี(ซ.ล.) ท่านประกาศการเสียชีวิตของอันนะญาชีย์ กษัตริย์แห่งเอธิโอเปียในวันที่เขาเสียชีวิต และท่านนบี(ซ.ล.) ได้ละหมาดให้ท่านพร้อมกับศอหาบะฮ์ของท่าน ณ มุศอลลา และละหมาดด้วยสี่ตักบีร หะดีษมุตตะฟักอลัยฮิ.(ที่มา หนังสืออัลมุฆนีย์ ของอิมามอิบนุกุดามะฮ์ 2/323)
• มัซฮับมาลิกีย์และหะนะฟีย์
• ส่วนอิมามมาลิกและอบูหะนีฟะฮ์ ทั้งสองเห็นว่า ละหมาดฆออิบไม่เป็นที่อนุมัต และริวายะฮ์(รายงาน) ที่สองจากอิมามอะหฺมัด เห็นด้วยกับทรรศนะของทั้งสองที่เห็นว่าไม่อนุญาต เพราะเงื่อนไขละหมาดมะยัตนั้นต้องมีศพตรงหน้า และเพราะว่าถ้าอยู่ในเมืองเดียวกัน ไม่สามารถละหมาดได้เว้นแต่มีมะยัตอยู่
• ทรรศนะที่สองในมัซฮับฮัมบาลีย์
• อีกริวายะฮ์จากอิมามอะหฺมัด อนุญาตให้ละหมาดฆออิบในกรณีที่ไม่มีผู้ละหมาดให้เขาในเมืองที่เขาเสียชีวิต แต่ถ้ามีคนละหมาดมะยัตให้แล้ว ไม่อนุญาตให้ละหมาดฆออิบ ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮ์และลูกศิษย์ของท่านอิบนุลก๊อยยิมเลือกทรรศนะนี้ และเป็นทรรศนะของเชคอิบนุอุษัยมีน
• ทรรศนะที่สามในมัซฮับฮัมบาลีย์
• อีกริวายะฮ์จากอิมามอะหฺมัดเห็นว่า อนุญาตละหมาดฆออิบสำหรับผู้ที่ทำประโยชน์ให้อิสลาม เช่นอาลิม มุญาฮิด หรือผู้ที่ร่ำรวยทำประโยชน์ให้อิสลาม.ทรรศนะนี้เป็นทรรศนะของเชคอัซซะอฺดีย์ และฟัตวาของสภาฟัตวาแห่งประเทศซาอุดีอาระเบีย
วิธีการละหมาดฆออิบ (ละหมาดให้คนตาย ในสภาพที่มัยยิตไม่ได้อยู่เบื้องหน้า)
วิธีการละหมาดฆออิบนั้น เหมือนกับวิธีการละหมาดญะนาซะฮฺ (ละหมาดศพ) ทั่วไป คือ ไม่มีการรูกัวะและไม่มีการซูญูด โดยทำการตักบีร 4 ครั้ง
โดยมีตัวบทของการเนียตว่า (หากต้องการละหมาดให้ศพชาย)
أُصَلِّي عَلَى مَيِّتِ فُلاَنٍ بْنِ فُلاَنٍ الْغَائِبِ أَرْبَعَ تَكْبِيْرَاتٍ ِللهِ تَعَالَى
"ข้าพเจ้าละหมาดศพ นาย (........บิน.........) ฆออิบ 4 ตักบีร เพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลา"
(หากต้องการละหมาดให้ศพหญิง)
أُصَلِّي عَلَى مَيِّتَةِ فُلاَنَةٍ بْنِت فُلاَنٍ الْغَائِبَةِ أَرْبَعَ تَكْبِيْرَاتٍ ِللهِ تَعَالَى
"ข้าพเจ้าละหมาดศพ นาง/นางสาว (.........บินติ.........) ฆออิบ 4 ตักบีร เพื่ออัลลอฮฺ ตะอาลา"
หากเป็นอิม่ามนำหมาดให้เพิ่มว่า اِمَامًا ِللهِ تَعَالَى
หากเป็นมะมูมก็ให้เพิ่มว่า مَأْمُوْمًا ِللهِ تَعَالَى
ตักบีรครั้งแรก ให้อ่าน ซูเราะฮฺ อัล-ฟาติหะฮฺ
ตักบีรครั้งที่สอง ให้กล่าวเศาะลาวาตนบี (ซ.ล.) โดยกล่าวว่า ..
اَللَّهُمَّ صَلِّ عَلَى سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ كَمَا صَلَّيْتَ عَلَى إِبْرَاهِيْم وَعَلَى آلِ سَيِّدِنَا إِبْرَاهِيْمَ , وَبَارِكْ عَلَى سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِ سَيِّدِنَا مُحَمَّدٍ كَمَا بَارَكْتَ عَلَى سَيِّدِنَا إِبْرَاهِيْمَ وَعَلَى آلِ سَيِّدِنَا إِبْرَاهِيْمَ فِيْ الْعَالَمِيْنَ إِنَّكَ حَمِيْدٌ مَّجِيْدٌ
ตักบีรครั้งที่สาม ขอดุอาให้แก่มัยยิต โดยกล่าวว่า ..
اللّهُمّ اغْفِرْ لَهُ وَارْحَمْهُ وَعَافِهِ. وَاعْفُ عَنْهُ وَأَكْرِمْ نُزُلَهُ. وَوَسِّعْ مُدْخَلَهُ. وَاغْسِلْهُ بِالْمَاءِ وَالثّلْجِ وَالْبَرَدِ, وَنَقِّهِ مِنَ الْخَطَايَا كَمَا نَقَّيْتَ الثَّوْبَ الأَبْيَضَ مِنَ الدَّنَسِ. وَأَبْدِلْهُ دَاراً خَيْراً مِنْ دَارِهِ. وَأَهْلاً خَيْراً مِنْ أَهْلِهِ وَزَوْجَاً خَيْراً مِنْ زَوْجِهِ. وَأَدْخِلْهُ الْجَنَّةَ وَأَعِذْهُ مِنْ عَذَابِ الْقَبْرِ وَفِتْنَتِهِ وَ مِنْ عَذَابِ النَّارِ
ตักบีรครั้งที่สี่ ขอดุอาให้กับตัวเองและให้แก่บรรดามุสลิมีนทั้งหมด โดยกล่าวว่า ..
اَللَّهُمَّ لاَ تَحْرِمْنَا أَجْرَهُ وَلاَ تَفْتِنَّا بَعْدَهُ وَاغْفِرْ لَنَا وله وَِلإِخْوَانِنَا الَّذِينَ سَبَقُونَا بِالإِيمَانِ وَلاَ تَجْعَلْ فِي قُلُوبِنَا غِلاًّ لِلَّذِينَ ءَامَنُوا رَبَّنَا إِنَّكَ رَءُوفٌ رَحِيمٌ
และจบด้วยการให้สลาม ขวา-ซ้าย
อ้างอิง
หนังสืออัลมัจมูอฺ ของอิมามอันนะวะวีย์ 5/150
หนังสืออัลมุฆนีย์ ของอิมามอิบนุกุดามะฮ์ 2/323
- ดุอาอฺสอนคนใกล้ตาย
- ดุอาให้สามีที่เสียชีวิต กล่าวว่าอย่างไร?
- ฮุก่มละหมาดให้ศพที่ฆ่าตัวตาย
- คําอ่านละหมาดญานาซะห์ สอนวิธีละหมาดญะนาซะห์ (ละหมาดคนตาย)
- มุสลิมร่วมรดน้ำศพคนต่างศาสนาได้หรือไม่?
- เครื่องหมายที่แสดงถึง การตายไม่ดี ในอิสลาม
- ฟัตวาการทำอาหารเลี้ยงที่บ้านคนตาย
- จ้างคนมาอ่านอัลกุอานให้คนตาย ใช้ได้หรือไม่?