วิธีการเป่ารักษาผู้ป่วยที่โดน อัยน์


16,545 ผู้ชม

ผู้ที่มีพลัง อัยน์ จะพูดถึงลักษณะที่ประสงค์(หรืออุทาน)ออกมาต่อเป้าหมายโดยไม่กล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ และไม่กล่าวขอดุอาอ์ให้มีความบะเราะกัต แล้วชัยฏอนซึ่งอยู่ในที่นั้นก็จะฉกเอาคำพูดนั้นนำไปทำความเสียหายแก่เป้าหมายหรือทำร้ายเขา ทั้งนี้มันเป็นไปเมื่ออัลลอฮฺได้ประสงค์และอนุมัติให้เกิดขึ้น ในขณะที่เป้าหมายนั้นไม่มีการป้องกันใดๆ


วิธีการเป่ารักษาผู้ป่วยที่โดน อัยน์

 วิธีการเป่ารักษาผู้ป่วยที่โดน อัยน์
อัล-อัยน์ คือ ศรที่ออกมาจากจิตของคนที่อิจฉาริษยา หรือผู้ที่ต้องการทำ อัยน์ แก่ผู้อื่น ซึ่งพุ่งไปยังบุคคลที่เขาอิจฉาหรือเป้าหมายที่เขาประสงค์ บางครั้งก็อาจจะโดนและบางครั้งก็อาจจะไม่โดน ถ้าหากมันพุ่งไปยังเป้าหมายในขณะที่เขาไม่มีสิ่งป้องกันใดๆ ก็ย่อมจะมีผลแน่นอน แต่ถ้าหากเป้าหมายมีเกราะกำบังที่คอยป้องกันอยู่ ศรที่พุ่งไปนั้นก็ไม่มีทางเข้าไปส่งผลใดๆ ต่อเขาได้

อัยน์ ที่โดนกับมนุษย์นั้นมาจากสาเหตุแห่งความอิจฉาริษยา หรือ อาการแปลกใจและตื่นเต้นอย่างแรงของผู้ที่มีพลัง อัยน์ ต่อสิ่งที่เขาเห็นในขณะที่เขาหลงลืมที่จะรำลึกถึงอัลลอฮฺ บางครั้งก็อาจจะมีชัยฏอนญินพ่วงติดตามเข้าไปด้วย

วิธีการที่มนุษย์โดน อัยน์

ผู้ที่มีพลัง อัยน์ จะพูดถึงลักษณะที่ประสงค์(หรืออุทาน)ออกมาต่อเป้าหมายโดยไม่กล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ และไม่กล่าวขอดุอาอ์ให้มีความบะเราะกัต แล้วชัยฏอนซึ่งอยู่ในที่นั้นก็จะฉกเอาคำพูดนั้นนำไปทำความเสียหายแก่เป้าหมายหรือทำร้ายเขา ทั้งนี้มันเป็นไปเมื่ออัลลอฮฺได้ประสงค์และอนุมัติให้เกิดขึ้น ในขณะที่เป้าหมายนั้นไม่มีการป้องกันใดๆ

กรณีต่างๆ ของผู้ป่วยที่โดน อัยน์

1. กรณีที่รู้ว่า ใครเป็นผู้ที่ทำ อัยน์ แก่เขา ในกรณีนี้การรักษาก็คือให้ผู้ที่ทำอัยน์นั้นอาบน้ำ ซึ่งเขาต้องทำตามเพื่อเป็นการเชื่อฟังต่อคำสั่งของอัลลอฮฺและเราะสูล จากนั้นให้นำน้ำที่ได้จากการอาบน้ำของเขาไปรดที่หลังของผู้ป่วยภายในรวดเดียว แล้วเขาก็จะหายจากอาการป่วยนั้นด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ

จากอิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุมา จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า


«العَيْنُ حَقٌّ، وَلَو كَانَ شَيْءٌ سَابَقَ القَدَرَ سَبَقَتْـهُ العَينُ، وَإذَا اسْتُغْسِلْتُـمْ فَاغْسِلُوا».

ความว่า "อัยน์ นั้นเป็นของจริง และหากมีสิ่งใดที่จะรุดหน้าก่อนกำหนดสภาวะ ก็มี อัยน์ นี่แหล่ะที่จะรุดไปก่อนหน้ามัน และเมื่อใดที่พวกท่านถูกขอให้อาบน้ำ(หมายถึง ถ้าท่านเป็นผู้ที่ทำอัยน์ และมีคนมาขอให้ท่านอาบน้ำเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยทีโดนทำท่านอัยน์) พวกท่านก็จงอาบ" (บันทึกโดย มุสลิม 2188)

วิธีการอาบน้ำเพื่อรักษาผู้ป่วย อัยน์

1. จาก อบู อุมามะฮฺ อิบนุ สะฮ์ลฺ อิบนุ หะนีฟ เล่าว่าบิดาของเขาเล่าให้ฟังว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ออกเดินทางพร้อมเศาะหาบะฮฺไปยังมักกะฮฺ – แล้วในรายงานก็บอกว่า – จากนั้น สะฮฺลฺ ก็มีอาการเจ็บ แล้วเขาก็ถูกนำมาพบกับท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม มีคนถามท่านว่า "โอ้ ศาสนทูตของอัลลอฮฺ ท่านจะช่วยดูสะฮฺลฺหน่อยได้ไหม ? ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺว่าเขาไม่อาจยกหัวขึ้นได้ และยังไม่ฟื้นเลย" ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ก็ถามว่า


«هَلْ تَتَّهِـمُونَ فِيهِ مِنْ أَحَدٍ؟»

ความว่า "พวกท่านคาดคิดว่ามีใครเป็นสาเหตุบ้างไหม?"

บรรดาเศาะหาบะฮฺตอบว่า "อามิรฺ อิบนุ เราะบีอะฮฺ ได้มองดูเขา (หมายถึงเขาเป็นคนที่น่าจะทำ อัยน์ กับสะฮฺลฺ)"

ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม และกล่าวเตือนค่อนข้างหนักว่า

«عَلامَ يَـقْتُلُ أَحَدُكُمْ أَخَاهُ؟ هَلَّا إذَا رَأَيْتَ مَا يُـعْجِبُكَ بَرَّكْتَ»

ความว่า "ด้วยเหตุอันใดเล่าที่พวกท่านคนใดคนหนึ่งจะฆ่าพี่น้องของเขา? ทางที่ดีสมควรอย่างยิ่งเมื่อเขาเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ท่านถูกใจแล้วให้ท่านกล่าวตับรีก"

(คือกล่าวดุอาอฺอันเป็นสิริมงคลให้ เช่น กล่าวว่า บาเราะกัลลอฮุ ฟีกะ หรือ มาชาอัลลอฮฺ เป็นต้น - ผู้แปล)

จากนั้นท่านก็สั่งอามิรฺว่า "จงอาบน้ำให้เขา"

อามิรฺจึงล้างหน้า สองมือถึงแขน หัวเข่าทั้งสอง เท้าทั้งสอง และส่วนที่อยู่ด้านในผ้านุ่งของเขา ให้น้ำที่ได้จากการล้างนั้นลงไปกักในภาชนะ จากนั้นก็เอาน้ำนั้นไปราดบนตัวสะฮฺลฺ โดยมีชายคนหนึ่งช่วยราดให้ตั้งแต่ศรีษะจนถึงหลังของเขา แล้วเทภาชนะนั้นที่บริเวณหลัง เมื่อทำเช่นนั้นแล้ว สะฮฺลฺก็ฟื้นขึ้นมาและสามารถร่วมเดินทางไปกับคนอื่นได้และหายเป็นปลิดทิ้ง

(หะดีษ เศาะฮีหฺ บันทึกโดย อะหฺมัด 16076 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และ อิบนุ มาญะฮฺ 3509)

2. กรณีที่ไม่รู้ว่าใครเป็นเหตุที่ทำ อัยน์ ให้ใช้วิธีการเป่ารักษา (รุกยะฮฺ) ด้วยอัลกุรอาน และดุอาอฺต่างๆ ที่มีรายงานยืนยันจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ด้วยการคิดในทางที่ดีต่อกำหนดของอัลลอฮฺ และให้ทั้งผู้อ่านและผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นว่าผู้ที่ทำให้หายนั้นคืออัลลอฮฺ และอัลกุรอานนั้นเป็นการเยียวยา โดยให้อ่านอายะฮฺอัลกุรอานและดุอาอฺที่ง่ายๆ ตามที่สามารถอ่านได้จากดุอาอฺที่มีระบุจากท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ในจำนวนนั้นก็คือ สูเราะฮฺ อัล-ฟาติหะฮฺ, อายะฮฺ อัล-กุรสีย์, สองอายะฮฺสุดท้ายสูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ, สูเราะฮฺ อัล-อิคลาศ, อัล-ฟะลัก, อัน-นาส และอายะฮฺต่างๆ ต่อไปนี้


آمَنَ الرَّسُولُ بِمَا أُنزِلَ إِلَيْهِ مِن رَّبِّهِ وَالْمُؤْمِنُونَ ۚ كُلٌّ آمَنَ بِاللَّهِ وَمَلَائِكَتِهِ وَكُتُبِهِ وَرُسُلِهِ لَا نُفَرِّقُ بَيْنَ أَحَدٍ مِّن رُّسُلِهِ ۚ وَقَالُوا سَمِعْنَا وَأَطَعْنَا ۖ غُفْرَانَكَ رَبَّنَا وَإِلَيْكَ الْمَصِيرُ ( 285 ) 

ร่อซูลนั้น(นะบีมุฮัมมัด) ได้ศรัทธาต่อสิ่งที่ได้ถูกประทานลงมาแก่เขา จากพระเจ้าของเขา และมุมินทั้งหลายก็ศรัทธาด้วยทุกคนศรัทธาต่ออัลลอฮ์และมลาอิกะฮ์ของพระองค์ และบรรดาคัมภีร์ของพระองค์ และบรรดาร่อซูลของพระองค์(พวกเขากล่าวว่า) เราจะไม่แยกระหว่างท่านหนึ่งท่านใดจากบรรดาร่อซูลของพระองค์ และพวกเขาได้กล่าวว่า เราได้ยินแล้ว และได้ปฏิบัติตามแล้วการอภัยโทษจากพระองค์เท่านั้นที่พวกเราปรารถนา โอ้พระเจ้าของพวกเรา! และยังพระองค์นั้น คือ การกลับไป


لَا يُكَلِّفُ اللَّهُ نَفْسًا إِلَّا وُسْعَهَا ۚ لَهَا مَا كَسَبَتْ وَعَلَيْهَا مَا اكْتَسَبَتْ ۗ رَبَّنَا لَا تُؤَاخِذْنَا إِن نَّسِينَا أَوْ أَخْطَأْنَا ۚ رَبَّنَا وَلَا تَحْمِلْ عَلَيْنَا إِصْرًا كَمَا حَمَلْتَهُ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِنَا ۚ رَبَّنَا وَلَا تُحَمِّلْنَا مَا لَا طَاقَةَ لَنَا بِهِ ۖ وَاعْفُ عَنَّا وَاغْفِرْ لَنَا وَارْحَمْنَا ۚ أَنتَ مَوْلَانَا فَانصُرْنَا عَلَى الْقَوْمِ الْكَافِرِينَ ( 286 ) 


อัลลอฮ์จะไม่ทรงบังคับชีวิตหนึ่งชีวิตใดนอกจากตามความสามารถของชีวิตนั้นเท่านั้น ชีวิตนั้นจะได้รับการตอบแทนดีในสิ่งที่เขาได้แสวงหาไว้ และชีวิตนั้นจะได้รับการลงโทษในสิ่งชั่วที่เขาได้แสวงหาไว้ โอ้พระเจ้าของพวกเรา! โปรดอย่าเอาโทษแก่เราเลย หากพวกเราลืม หรือผิดพลาดไป โอ้พระเจ้าของพวกเรา! โปรดอย่าได้บรรทุกภาระหนักใด ๆแก่พวกเรา เช่นเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงบรรทุกมัน แก่บรรดาผู้ที่อยู่ก่อนหน้าพวกเรามาแล้ว โอ้พระเจ้าของพวกเรา! โปรดอย่าให้พวกเราแบกมันได้ และโปรดได้ทรงอภัยแก่พวกเราและยกโทษให้แก่พวกเรา และเมตตาแก่พวกเราด้วยเถิด พระองค์นั้น คือผุ้ปกครองของพวกเราดังนั้นโปรดได้ทรงช่วยเหลือพวกเราให้ไดเรับชัยชนะเหนือกลุ่มชนที่ปฏิเสธศรัทธาด้วยเถิด

และอายะฮฺอื่นๆ ที่อ่านได้ แล้วให้อ่านดุอาอฺที่มีระบุจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม เช่น


«اللّٰهُـمَّ رَبَّ النَّاسِ، أذْهِبِ البَأْسَ وَاشْفِهِ، وَأَنْتَ الشَّافِي، لا شِفَاءَ إلَّا شِفَاؤُكَ، شِفَاءً لا يُـغَادِرُ سَقَماً».

(คำอ่าน อัลลอฮุมมะ ร็อบบันนาส, อัซฮิบิล บะอ์สะ วัช ฟิฮิ, วะ อันตัช ชาฟีย์, ลา ชิฟาอะ อิลลา ชิฟาอุก, ชิฟาอัน ลา ยุฆอดิรุ สะเกาะมัน)


ความว่า "โอ้ อัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งมวลมนุษย์ ขอทรงโปรดขจัดโรคภัยและบำบัดรักษามันด้วย พระองค์คือผู้บำบัดรักษาให้หาย ไม่มีการบำบัดเว้นแต่ด้วยการบำบัดรักษาของพระองค์ เป็นการบำบัดที่จะไม่ละทิ้งโรคใดๆ เลย" (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 5743 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และ มุสลิม 2191)


«بِاسْمِ الله أَرْقِيكَ، مِنْ كُلِّ شَيْءٍ يُؤْذِيكَ، مِنْ شَرِّ كُلِّ نَفْسٍ أَوْ عَيْنِ حَاسِدٍ، الله يَشْفِيكَ بِاسْمِ الله أَرْقِيكَ».

(คำอ่าน บิสมิลลาฮิ อัรกีกา, มิน กุลลิ ชัยอิน ยุอ์ซีกา, มิน กุลลิ นัฟซิน เอา อัยนิน หาสิด, อัลลอฮุ ยัชฟีกา, บิสมิลลาฮิ อัรกีกา)


ความว่า "ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ฉันขอเป่ารักษาท่านจากทุกสิ่งที่ทำร้ายท่าน จากความชั่วร้ายของทุกจิตและอัยน์ที่อิจฉาริษยา อัลลอฮฺทรงบำบัดท่าน ด้วยพระนามของอัลลอฮฺฉันขอเป่ารักษาท่าน" (บันทึกโดย มุสลิม 2186)


«بِاسْمِ الله يُبْرِيكَ، وَمِنْ كُلِّ دَاءٍ يَشْفِيكَ، وَمِنْ شَرِّ حَاسِدٍ إذَا حَسَدَ، وَشَرِّ كُلِّ ذِيْ عَينٍ».

(คำอ่าน บิสมิลลาฮิ ยุบรีกะ, วะ มิน กุลลิ ดาอิน ยัชฟีกะ, วะ มิน ชัรริ หาสิดิน อิซา หะสัด, วะ มิน ชัรริ กุลลิ ซี อัยนิน)

ความว่า "ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ พระองค์ทรงทำให้ท่านหายป่วย และทรงบำบัดจากโรคทุกโรค และจากความชั่วร้ายของผู้ที่อิจฉาริษยาเมื่อเขาอิจฉา และจากความชั่วร้ายของทุกๆ คนที่มีอัยน์" (บันทึกโดย มุสลิม 2185)


«امْسَـحِ البَـأْسَ رَبَّ النَّاسِ، بِيَدِكَ الشِّفَاءُ، لا كَاشِفَ لَـهُ إلَّا أَنْتَ».

(คำอ่าน อิมสะหิล บะอ์สะ ร็อบบัน นาส, บิยะดิกัช ชิฟาอ์, ลา กาชิฟะ ละฮู อิลลา อันตะ)

ความว่า "ขอทรงขจัดความเจ็บป่วยด้วยเถิด โอ้ พระผู้อภิบาลแห่งมวลมนุษย์ ในพระหัตถ์ของพระองค์นั้นมีการบำบัดรักษา ไม่มีผู้ใดที่ขจัดมันได้นอกจากพระองค์" (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 5744)


«أَعُوذُ بِكَلِـمَاتِ الله التَّامَّةِ، مِنْ كُلِّ شَيْطَانٍ وَهَامَّةٍ، وَمِنْ كُلِّ عَيْنٍ لامَّةٍ».

(คำอ่าน อะอูซุ บิกะลิมาติลลาฮิตต๊ามมะฮฺ, มิน กุลลิ ชัยฏอน วะ ฮ๊ามมะฮฺ, วะ มิน กุลลิ อัยนิน ล๊ามมะฮฺ)

ความว่า "ฉันขอความคุ้มครองด้วยถ้อยคำต่างๆ อันสมบูรณ์ของอัลลอฮฺ จากชัยฏอนทุกๆ ตัวที่คอยยุแหย่ล่อลวง และจากทุกๆ อัยน์ ที่คอยมุ่งหมาย" (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 3371)


«أَعُوذُ بِكَلِـمَاتِ الله التَّامَّاتِ مِنْ شَرِّ مَا خَلَقَ».

(คำอ่าน อะอูซุ บิกะลิมาติลลาฮิตต๊ามมาต, มิน ชัรริ มา เคาะลัก)

ความว่า "ฉันขอความคุ้มครองด้วยถ้อยคำต่างๆ อันสมบูรณ์ของอัลลอฮฺ จากความชั่วร้ายของสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง" (บันทึกโดย มุสลิม 2709)


«بِاسْمِ الله٬ ( ثَلاثاً )، أَعُوذُ بِالله وَقُدْرَتِـهِ مِنْ شَرِّ مَا أَجِدُ وَأُحَاذِرُ» سبع مرات واضعاً يده على مكان الألم.

(คำอ่าน บิสมิลลาฮฺ, บิสมิลลาฮฺ, บิสมิลลาฮฺ, อะอูซุบิลลาฮฺ วะ กุดเราะติฮฺ, มิน ชัรริ มา อะญิดุ วะ อุหาซิร) กล่าวเจ็ดครั้งโดยวางมือบนส่วนที่มีอาการเจ็บ

ความว่า "ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์ จากความชั่วร้ายที่ฉันประสบและที่ฉันระแวดระวัง" (บันทึกโดย มุสลิม 2202)


«أَسْأَلُ الله العَظِيمَ رَبَّ العَرْشِ العَظِيمِ أَنْ يَشْفِيَكَ» سبع مرات.

(คำอ่าน อัสอะลุลลอฮัลอะซีม, ร็อบบัล อัรชิล อะซีม, อัน ยัชฟิยะกะ) กล่าวเจ็ดครั้ง

ความว่า "ฉันขอต่ออัลลอฮฺผู้ทรงยิ่งใหญ่ พระผู้อภิบาลแห่งอัรช์อันยิ่งใหญ่ ขอทรงทำให้ท่านหายจากอาการป่วย"

(หะดีษ เศาะฮีหฺ บันทึกโดย อบู ดาวูด 3106 สำนวนรายงานนี้เป็นของท่าน และ อัต-ติรมิซีย์ 2083)

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ยังขอดุอาอฺปกป้องลูกหลานของท่าน ซึ่งทุกครั้งที่ท่านพบเจอหลานของท่าน ท่านก็จะรุกยะฮฺ คือดุอาอฺป้องกันทุกอย่างให้กับลูกหลานของท่าน ทั้งการป้องกันไสยศาสตร์ ความอิจฉาริษยา และสิ่งอันตรายต่างๆ จะเป็นสัตว์ แมลง อะไรก็ตาม 

ดุอาอฺดังกล่าวคือ 


أعيذك بكلمات الله التامة من كل شيطان وهامة ومن كل عين لامة

คำอ่าน "อุอีซุกะ (คนเดียว) บิกะลิมาติลลาฮิตตามมะฮฺ มินกุลลิ ชัยฏอนิน วะฮามมะฮฺ วะมินกุลลิ อัยนิน ลามมะฮฺ"

*หรือหากขอความคุ้มครองให้กับคนทั้งครอบครัว ให้กล่าวขึ้นต้นว่า “อุอีซุกุม” แทน “อุอีซุกะ” 

ความหมาย "ฉันขอความคุ้มครองแก่ท่าน ด้วยพระดำรัสของอัลลอฮฺอันสูงส่งให้พ้นจากชัยฎอนทุกตัวสัตว์ร้าย และสายตาที่อิจฉา" 

มุหัมมัด อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์
ที่มา : มุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์
แปลโดย : ซุฟอัม อุษมาน
islamhouse.com

อัพเดทล่าสุด