มัสยิดไม้กำปงอาตัส ปาเสยาวอ สายบุรี ปัตตานี อายุ70กว่าปี


32,330 ผู้ชม

ประวัติ มัสยิดไม้กำปงอาตัส (บ้านบน) ปาเสยาวอ สายบุรี ปัตตานี มัสยิดไม้เก่าแก่อายุ70กว่าปี...


มัสยิดไม้กำปงอาตัส (บ้านบน) ปาเสยาวอ สายบุรี ปัตตานี มัสยิดไม้เก่าแก่อายุ70กว่าปี

มัสยิดไม้กำปงอาตัส ปาเสยาวอ สายบุรี ปัตตานี อายุ70กว่าปี

ภาพ ปัจจุบัน มัสยิดไม้กำปงอาตัส ปาเสยาวอ สายบุรี ปัตตานี 

มัสยิดไม้กำปงอาตัส ปาเสยาวอ สายบุรี ปัตตานี อายุ70กว่าปี

ปาเสยาวอ 

บันทึกความทรงจำแห่งสายบุรี  


โดย: สุกรี  มะดากะกุล  

 

          ปาเสยาวอ ชื่อตำบลหนึ่งในอำเภอสายบุรี ที่มาของชื่อบ้านนามเมืองนี้ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ ‘ปาเส’ หรือ ‘ปาเซ’ [pase] หมายถึง ‘ทราย’ และ ‘ยาวอ’ [Jawa] แปลว่า ‘ชวา’(หรือชาวอินโดนีเซียกลุ่มหนึ่ง) คนมลายูเรียกชาวชวาเพี้ยนเป็น ยาวอแต่ชื่อที่ใช้ตัวสะกดอย่างเป็นทางการในภาษาไทยคือ ปะเสยาวอ


            เล่ากันว่าชาวชวาโบราณได้ล่องเรือสำเภามาค้าขาย และติดต่อสัมพันธ์กับคนในพื้นที่นี้มายาวนานแล้วเรือที่แล่นใบนั้นบรรทุกทรายมาเพื่อให้เรือมีน้ำหนักและป้องกันเรือไม่ให้โคลงเคลงเมื่อยามเข้าใกล้ชายฝั่งเนื่องจากคลื่นลม มาถึงบริเวณนี้ก็นำทรายทิ้งจนเป็นสันดอน บวกกับลักษณะภูมิประเทศตรงนี้เป็นแม่น้ำโค้งเลี้ยววกเข้าไป จนเป็นที่เหมาะสมและสะดวกในการพักเรือหลบลมจนกลายมาเป็นที่พักพิงกันของชาวประมงและเรือสินค้าต่างๆ เรื่อยมา

            ทรายที่ถูกนำมาโดยเรือของคนชวาคือที่มาของ ‘ทรายชวา’ หรือ ‘ปาเสยาวอ’ นั่นเอง

            รวมทั้งคนในอดีตเก่าก่อนมานั้นจะรู้จักกุโบร์ (สุสาน) เก่าแก่ของหมู่บ้านที่ผู้เฒ่า ผู้แก่เล่าขานยกย่องสืบต่อกันมายาวนานเรียกกันว่า ‘กุโบร์โต๊ะยาวอ’ (ผู้เฒ่ายาวอ)คือคนแรกผู้ที่มาบุกเบิกตั้งหลักแหล่ง เป็นชุมชนปาเสยาวอนั่นเอง ที่เป็นหลักฐาน ยืนยัน* ตามหมู่บ้านของชาวมุสลิม จะต้องประกอบด้วย สุสาน เป็นสถานที่หนึ่ง เป็นหลักฐานยืนยัน ความเป็นมาของการก่อเกิดเป็นตัวชุมชนและผูกพันกันมานาน คาดคะเนระยะเวลาของชุมชน และในคำสอนมุสลิม มีหน้าที่อย่างหนึ่งที่ต้องปฎิบัติเป็นประจำคือ การเยี่ยมเยียน สุสาน ซึ่งในสุสานแต่ละแห่งนั้น ส่วนมาก จะมีสุสานคนสำคัญ ของหมู่บ้าน ผู้บุกเบิกหมู่บ้าน มักมี ชื่อเรียก แตกต่าง กันไป ตามฉายาบ้าง ตามชื่อบ้าง เช่น โต๊ะคามะ(ผู้เฒ่าผู้วิเศษ) โต๊ะยาเล (ผู้เฒ่ายาเลชื่อสถานที่)


            ปาเสยาวอห่างจากตัวเมืองสายบุรีมาตามเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลไปทางอำเภอปะนาเระราว 3-4 กิโลเมตร พื้นที่ติดต่อมีดังนี้คือ ทิศตะวันออกติดทะเลอ่าวไทย ทิศเหนือทิศใต้และทิศตะวันตกติดอำเภอสายบุรี มีแม่น้ำสายบุรี ไหลสู่ปากน้ำสู่ทะเล ข้ามสะพานแม่น้ำสายบุรีลงไปจึงเข้าสู่เขตตำบลปาเสยาวอ   

            บรรยากาศสภาพแวดล้อมแบบริมทะเลชายฝั่งร่มรื่นด้วยทิวมะพร้าวและป่าจากผืนใหญ่ ระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำต่างๆ และพรรณพืชอีกหลากหลายสายพันธ์ โดยเฉพาะ ปลากะตัก ที่ชาวเล ได้มานำมาแปรรูปนั้นมีมากมายมหาศาลเห็นจากผลผลิตที่ได้นั้น เปรียบเป็นอุตสาหกรรมส่งออกขนาดใหญ่ทีเดียว ทางส่วนของอ่าวด้านในติดแม่น้ำนั้น 2 ฝั่ง ยังเต็มไปด้วยเป็นป่าชายเลนน้ำลงจากธรรมชาติ แบบระบบนิเวศชายฝั่งน้ำขึ้นน้ำลงจากธรรมชาติเป็นเหมือนหน้าด่านเชื่อมต่อ ระบบนิเวศบนบกชายฝั่ง และนิเวศทางทะเลโคลนตมทำหน้าที่เก็บกักตะกอน กลั่นกรองของเสียออกสู่ทะเลเป็นแหล่งชีวภาพมีความหลากหลายของพันธ์พืชต่างๆ และ สัตว์ทะเล หลากหลาย เช่น ปูก้ามดาบ ปลาตีน หอยแครง หอยเล็กๆ พันธ์ต่างๆ   น้ำลงจากธรรมชาติเหมาะแก่การเลี้ยงปลาในกระชัง เช่นปลากะพง กุ้ง หอยต่างๆ 


     ในส่วน ชั้นถัดมาของป่าโกงกางในปัจจุบันจะเต็มไปด้วย ต้นจากมากมาย เหตุเพราะว่า ชาวบ้านนิยมปลูกจากเพื่อใช้ประโยชน์ และนำไปเพิ่มรายได้ ต่างๆเช่น ใบจาก ลูกจาก นำใบไปทำมุงหลังคา จึงทำให้พื้นที่ของป่าจากในปัจจุบันมากขึ้นๆเข้าไปทับในส่วนพื้นที่ป่าโกงกางไปเรื่อยๆจึงทำให้ป่าชายเลนโดยธรรมชาติเริ่มน้อยลงไป เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ขึ้นเรื่อยๆ


            ชาวบ้านส่วนใหญ่ ยังคงมีอาชีพเกี่ยวกับการประมงชายฝั่งแปรรูปอาหารทะเล การเลี้ยงสัตว์ การเกษตรการค้าขาย และเป็นช่างต่อเรือกอและ เรือยอกองซึ่งเป็นเรือพายแบบท้องถิ่นขนาดเล็กนั่งได้ 3-4 คน ซึ่งในอดีตชาวปาเสยาวอเป็นช่างต่อเรือกอและที่มีชื่อเสียงโด่งดังของจังหวัดปัตตานี

                เนื่องจากมีกิจกรรมของชาวสายบุรีที่น่าสนใจในการฟื้นความเป็นชุมชนและความเป็นคนท้องถิ่นสายบุรีให้เชื่อมประสานเข้าหากันอีกครั้ง นำโดย อานัส พงศ์ประเสริฐคนหนุ่มผู้เติบโตมากับท้องถิ่นแห่งนี้ การมาเยี่ยมปาเสยาวอครั้งนี้ก็เพื่อนำเสนอวิถีชุมชนชาวเล เรียนรู้ตำนานเรือกอและที่มีชื่อเสียงของปาเสยาวอ และเยี่ยมชมมัสยิดบ้านบน มัสยิดไม้หลังเดิมอายุเกือบ ๗๐ ปี ที่มีเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น กิจกรรมในครั้งนี้นอกจากได้ลงพื้นที่มองสภาพความเป็นอยู่แล้ว เรา 2 คน ยังเข้าพูดคุยกับชาวบ้านที่รอบๆ มัสยิดบ้านบน และนั่งพุดคุยเสวนากับชาวบ้านที่ ร้านน้ำชา ของ นาย อิสมาแอล บูละ ที่ช่วยเพิ่มเติมกับชาวบ้าน เรื่องการบูรณะมัสยิดหลังนี้ของชุมชน ช่วยเพิ่มเสริม สามัญสำนึกในชุมชน มองหาแนวทางในการ ซ่อมแซม หรือบูรณะมัสยิดให้กลับมาสู่สภาพ สวยงามอีกครั้ง มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งโดยแลกเปลี่ยนมุมมอง ปัญหาต่างๆของแต่ละพื้นที่ให้ทราบ กับหาทางทำอย่างไรเพื่อจะให้มัสยิดได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง 


     ต่อจากนั้น เราสำรวจการทำงานของ ช่างต่อเรือกอและในตำบล ปาเสยาวอว่า ที่อยู่ ในปัจจุบันนี้นั้น ยังหลงเหลือช่างต่อเรือกอและในชุมชนนี้ กี่คนกันแน่ และในที่สุดเราได้คำตอบว่า มีช่างต่อเรืออยู่ เพียง2 ท่านและช่างวาดเรือ อีก 5 ท่านเท่านั้น


           ตำบลปาเสยาวอ เปรียบเสมือน เมืองท่าเรือ ของชาวประมงของ  อ.สายบุรี อีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตผล วัตถุดิบ อาหารทะเล ต่างๆ ที่จะป้อนเข้าสู่พ่อค้า ในตัวเมือง อ. สายบุรี บูดูสายบุรี ปลาบิลิฮแห้ง โรงงานข้าวเกรียป ปลาสายบุรีที่มีชื่อเสียงนั้น ผลผลิตต่างๆมาจาก 7 หมู่บ้าน ใน ตำบล ปาเสยาวอนี่เอง


            เมื่อมาถึงอานัสได้พาชมหมู่บ้านปาเสยาวออย่างช่ำชอง ทุกซอกมุม รอบๆ หมู่บ้านคละเคล้าไปด้วยกลิ่นน้ำบูดู ปลาแห้ง แพะและแกะของชาวบ้านที่นอนขวางถนนอยู่ตลอดทาง ต้องคอยขับหักหลบเจ้าของพื้นที่ที่ชวนกันนอนแบบสบายอารมณ์ ชาวเลแถบนี้ไม่เลี้ยงแพะแกะเอาไว้รีดนม ไม่ได้เลี้ยงแบบฟารม์แพะ มีคอกกั้น ยกพื้นสูงตามสุขลักษณะของฟารม์แต่เลี้ยงกั้นคอกไว้ริมบ้านหรือนอกบ้านอย่างง่ายๆ ปล่อยให้หากินเองแบบ ผู้คนที่มาจากต่างถิ่นจากที่อื่น จะไม่เข้าใจว่าแพะแกะมากมายเป็นร้อยๆตัว เดินปะปนอยู่ในหมู่บ้านนั้นพวกเขาจำกันได้อย่างไรว่าแพะของใคร กี่ตัวแต่ชาวบ้านเขาเลี้ยงทุกวันจึงจำได้เป็นอย่างดี

             ที่หมู่บ้าน “ปาตาบาระ” ที่นี่คือโรงงานผลิตอาหารพื้นบ้านยอดฮิตของ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ มีทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทะเล น้ำบูดูปลาบิลิห์แห้ง ข้าวเกรียบกือโป๊ะและปาลอกือโป๊ะ ถ้ารวมชาวบ้านทั้งหมดก็จะได้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เลยทีเดียว แต่ว่าโรงงานนี้เป็นโรงงานแบบบ้านๆ แบบท้องถิ่น

                ไม่นานมานี้มีการจัดการชุมชนร่วมกันด้วยการจัดตั้งโรงงานเล็กๆเป็นโมเดลพัฒนาชุมชนเป็นต้นแบบในการพัฒนาสร้างงานให้กับชุมชนโดยผศ.ดร.ซุกรีหะยีสาแมคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีชุมชนจึงเติบโตแข็งแรงต่อยอดขึ้นไปได้ สร้างสวัสดิการให้แก่คนในพื้นที่เน้นการบริจาคให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ยากไร้ในชุมชน ใช้เป็นเงินตอบแทนครูสอนศาสนาเพื่อเด็กกำพร้าปรับปรุงมัสยิด มอบทุนการศึกษาแก่เด็กเรียนดีฐานะยากจนในพื้นที่ เป็นต้น นับว่าเป็นการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งในชุมชนอย่างมาก ที่นี่จึงได้รับการคัดเลือกและการสนับสนุนจาก ศอ.บต.ให้เป็นโรงงานต้นแบบเพื่อต่อยอดผลิตอาหารฮาลาลในระดับชุมชนเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกในอนาคต

            หวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้ชื่อเสียงของ ปาลอกือโป๊ะจากหมู่บ้านปาตาบาระแห่งปาเสยาวอ อำเภอสายบุรี คงขจรขจายไปถึงระดับประเทศ...

            ข้ามมาที่ชุมชนบ้านบน หรืออีกฝั่งหนึ่งของปาเสยาวอคือ “บ้านกำปงอาตัส”

            อิสมาแอล บูละคนเก่าคนแก่ของบ้านกำปงอาตัส เล่าเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมากว่า 70 ปีให้ฟังว่า

          “...อดีตผมเป็นช่างต่อเรือกอและได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณพ่อชื่อ นายฮาแว บูละและคุณปู่ผู้เป็นครูช่างหนึ่งในตำนานของปาเสยาวอนั่นคือ ‘เปาะเยะตาเยะบูละ’ เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบรุษ แต่ปัจจุบันผมเลิกทำอาชีพต่อเรือ หันมาเปิดร้านน้ำชาอยู่ข้างๆมัสยิดกำปงอาตัส(บ้านบน)...”

            อิสมาแอลได้เล่าให้ฟังอีกว่า บรรพบรุษของเขาเป็นคนกลุ่มแรกๆที่มาลงหลักปักฐาน ทำมาหากินอยู่ที่หมู่บ้านปาเสยาวอแห่งนี้ เท่าที่จำความได้ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายมีอาชีพหาปลา ทำประมงขนาดเล็กริมชายฝั่ง และเป็นช่างฝีมือชั้นยอดในการต่อเรือกอและ สืบทอดความรู้ต่อมาสู่รุ่นพ่อ และรุ่นของเขา

          “...ปู่ผม ‘ตาเยะบูละ’ เล่าให้ฟังว่า ปู่เป็นคนรุ่นแรกๆที่มาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่แห่งนี้สมัยนั้นชุมชนแถบนี้มีบ้านไม่กี่หลัง ท้องทะเลก็อุดมสมบูรณ์มาก ทำเลที่ตั้งเหมาะสม ครั้งแรกหมู่บ้านตั้งอยู่ใกล้ชิดติดริมฝั่งชายทะเล ต่อมาเมื่อเกิดมรสุมกับปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะริมฝั่ง จึงพากันย้ายมาตั้งอยู่ที่ปัจจุบันนี้ เป็นที่มาของชื่อเรียก ‘ชุมชนกำปงอาตัส(บ้านบน)’ย้ายจากริมฝั่งทะเลขึ้นไปบนชายฝั่งต่อมาคนเริ่มอพยพเข้ามาเพิ่มขึ้นประชากรมากขึ้นเรื่อยๆจนมาถึงปัจจุบัน อย่างที่เห็น...”

            ประวัติของ‘ช่างครู ตาเยะ บูละ’ ไม่มีใครบันทึกไว้ ตำนานการต่อเรือกอและของนายช่างชั้นครู ตาเยะบูละ ซึ่งเป็นช่างยอดฝีมือเป็นที่ร่ำลือเล่าขานกันมานานแล้วว่ามีความปราณีตเป็นเรือชั้นเยี่ยม เป็นเรือที่ดี มีรายละเอียดครบถ้วน เป็นที่วางใจแก่เจ้าของเรือ เป็นเรือที่ประกอบขึ้นด้วยความรัก ความเอาใจใส่ จนเป็นงานแห่งชีวิตของช่างเรือ

            ช่างครู ตาเยะ บูละ ยังเป็นผู้คิดค้นต่อยอดพัฒนาการเรือกอและรุ่นต่อๆมาในปัจจุบันที่เรียกกันว่า “ปาตะกือฆะ” หรือเรือท้ายตัด ซึ่งเป็นการดัดแปลงต่อยอดเรือกอและให้เหมาะกับยุคสมัยเรือกอและในอดีตต้องใช้กระโดงเรือเป็นสำเภาเรือ ต่อมากอและที่ต้องอาศัยแรงลมในการขับเคลื่อนหมดยุคสมัย เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนแทน เนื่องจากตัวเรือกอและนั้นมีหางเรือ และรายละเอียดต่างๆมากมายจึงไม่สะดวกในการติดตั้งเครื่องยนต์ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสมดุลของน้ำหนักเรือ นายช่างครู ตาเยะ บูละ ดัดแปลงตัดส่วนหางของเรือกอและออกไปเป็นที่มาของคำว่า “ปาตะกือฆะ” เรือท้ายตัด ซึ่งกลายมาเป็นเรือกอและที่เห็นในปัจจุบันนั่นเอง

            สิ่งที่นายช่างชั้นครูได้ทิ้งไว้เป็นมรดกตกทอดสู่นายช่างรุ่นลูกรุ่นหลานนั่นคือ งานช่างต่อเรือกอและที่ทำสืบต่อกันมา ปัจจุบันยังมีช่างที่ยึดอาชีพต่อเรือกอและอยู่ แม้จะไม่มากก็ตาม

            เมื่อราว 20-30 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านส่วนใหญ่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังยึดอาชีพประมงเรือเล็กกันมาก ตำบลปาเสยาวอแห่งนี้เป็นแหล่งต่อเรือที่มีชื่อเสียงของอำเภอสายบุรีมานาน จึงมีเรือกอและวางอยู่เรียงรายเต็มพื้นที่ไปหมด รวมทั้งเรือที่คนจ้างให้ต่อมากมาย เรียงยาวหลายกิโลเมตร เสียงกบไฟฟ้าส่งเสียงร้องดังไปทั่ว และเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดทุกวัน ทุกเดือน เล่ากันว่า เด็กๆที่เกิดในตำบลปาเสยาวอนี้จะได้ยินเสียงกบไฟฟ้า เสียงเลื่อยที่ดังระงมไปทั่ว ดังเป็นบทเพลงกล่อมยามนอน

            การต่อเรือกอและใช้เวลาจนแล้วเสร็จประมาณ 7-8 เดือน ต่อเรือ 1 ลำด้วยอาชีพที่ต้องใช้ความเพียรพยายามทำให้ ช่างต่อเรือกอและที่ยังยึดอาชีพนี้ ลดน้อยลงทุกวัน เหลือจำนวนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

            เมื่อมีโอกาสได้พบนายช่างกำลังต่อเรืออยู่ลำหนึ่งบริเวณเพิงต่อเรือ อารง อาแว ช่างต่อเรือวัย 50 ผู้กำลังขะมักเขม้นกับเรือกอและลำใหญ่ มีชาวบ้านและผู้เฒ่ามาร่วมนั่งพูดคุย นั่งชมนายช่างต่อเรืออยู่ พอดีกับนายช่างหยุดพักวางเครื่องมือ จึงเป็นจังหวะที่ได้มีโอกาสพูดคุย สรุปให้ฟังได้ว่า

          “...ไม่ได้มีใครสอนหรอก เกิดมาก็เห็นเรือแล้ว โตมากับเรือ วิ่งเล่นอยู่กับเรือทุกวันก็ไม่รู้ว่าเข้ามาอยู่ในใจ ติดมากับตัวเราตั้งแต่เมื่อไร เป็นความรู้ของผู้ใหญ่ ของบรรพบุรุษความรู้ความสามารถก็ได้มาจากประสบการณ์ทั้งหมด มันติดอยู่ในท้องของเรา ในร่างกายของเราไปแล้ว เรามีความสุขที่ได้ทำงาน เป็นความภูมิใจ เพราะไม่ใช่อาชีพที่ประสบความสำเร็จด้านเงินทอง พวกเราไม่ได้ร่ำรวย หรือได้เงินมากมายนัก หากแต่ว่ามันเป็นความสำเร็จทางด้านจิตใจที่ได้รักษางานที่ทรงคุณค่าไว้ เป็นความภูมิใจที่ได้รักษางานถิ่นเกิด สิ่งที่เราเกิดมาเติบโตมากับสิ่งนี้ ผูกพัน และจะคงความเป็นพวกเรา เลือดเนื้อ ความเป็นช่างต่อเรือให้ เรือกอและแห่งปาเสยาวอยังคงอยู่เป็นมรดกหนึ่งของสายบุรีต่อไป...”

            บริเวณใกล้กัน ผมพบชายอีกคนหนึ่ง เขาเป็นช่างวาดลวดลายบนเรือ มีชื่อว่า อิบรอเฮง มะมิง ซึ่งรับงานต่อจากช่างต่อเรือ คือเมื่อต่อเรือเสร็จแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเขา เมื่อถามว่าหัดวาดลายมาจากใคร

            ช่างวาดลายเรือตอบแบบถ่อมตนและเป็นธรรมชาติมาก ว่า

          “ตัวเราเองก็ไม่รู้นะ ถ้าถามว่าทำเป็นได้อย่างไร ตั้งแต่เมื่อไร บอกไม่ได้ ทำตามประสบการณ์เด็กๆที่นี่เห็นเรือทุกวัน เห็นลวดลายทุกวัน ก็เอามาจำ มาขีดมาเขียนบนดินทราย ริมทะเลบ้าง หยิบจับ กระดาษที่ไหนก็วาดเลยเท่าที่มี เท่าที่ได้ ก็จำมา ลอกเลียนผู้ใหญ่ มานั่งวาดทุกวัน ลองทำทุกวันๆ นานเข้าก็ทำได้เอง ถ้าจะให้บอก บอกไม่ได้”

          เมื่อถามต่อว่าถ้ามีโอกาสสอนเด็กๆ สอนได้ไหม?เขาตอบอย่างมั่นใจว่า

          “ได้แน่นอน!”   

            พวกเขากำลังสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญอยู่ เป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ท้องถิ่นที่สำคัญมาก เป็นมรดกตกทอดซึ่งมีมายาวนาน ทำให้คนมากมายได้รู้จักที่นี่  แต่น่าเสียดายเพราะสถานการณ์ทุกวันนี้นั้น ลมหายใจของพวกเขา ลมหายใจของเรือกอและปาเสยาวอ กลับเริ่มแผ่วเบาลงทุกวัน แม้ว่าชื่อเสียงการต่อเรือกอและของปาเสยาวอยังคงเป็นที่เลื่องลืออยู่ไม่ขาดสาย แต่ความจริงผู้ที่ยังคงรักษาอุดมการณ์ สืบสานปฎิภาณลมหายใจของเรือกอและนั้น กลับมีลดน้อยลงไปทุกวัน ด้วยเพราะในปัจจุบันมีภาวะปัญหาหลายๆอย่างประกอบกัน เช่น การทำมาหากินของคนเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ที่ต้องการได้เงินเร็วจึงหันไปรับจ้างกับนายทุนที่มีทุนหนา มีเรือใหญ่หาปลาได้มากขึ้น คนรุ่นใหม่ต่างหนีไปทำมาหากินในมาเลเซีย  ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติไม้จากป่าที่จะนำมาต่อเรือ ซึ่งต้องเป็นไม้เนื้อแข็งเช่น ไม้ตะเคียนทอง ไม้สยา และไม้หลุมพอนั้น มีราคาแพง และหายากขึ้นทุกที ทำให้ชาวบ้านธรรมดาที่คิดจะมีเรือของตัวเองสักลำนั้น เป็นเรื่องที่ยากมาก

            ภายในชุมชนกำปงอาตัส (บ้านบน) มีมัสยิดไม้หลังหนึ่ง เป็นมัสยิดหลังแรก ชื่อเดียวกับชุมชน คือมัสยิดกำปงอาตัสหรือมัสยิดบ้านบนมัสยิดหลังนี้มีอายุร่วม 70 ปี สร้างขึ้นโดยผู้คนในชุมชนและช่างต่อเรือ มีการประดับตกแต่งบนมัสยิดด้วยลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ บ่งบอกความเป็นตัวตนของชาวเรือ ชาวทะเลได้ชัดเจน

             มัสยิดแห่งนี้ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งพื้นที่การใช้งานออกเป็น 3 ส่วน คือโถงละหมาดอยู่ด้านหน้า หันไปทางทิศตะวันตก เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด และมีเนื้อที่มากที่สุด ส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่ยื่นออกไปด้านหน้าเพื่อให้อิหม่ามนำละหมาดและส่วนที่ 3 เป็นส่วนของชานพัก ใช้เป็นที่พักผ่อน เสวนา มีความกว้างประมาณ 2 เมตรบันไดทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออกมีประตูทางเข้าที่ด้านหน้าแบ่งเป็น ๓ ทาง เป็นรูปแบบที่นิยมสร้างกันทั่วไป บนขอบประตูทั้ง 3 บานนั้นมีการประดับตกแต่งด้วยไม้วาดลวดลายอย่างสวยงาม คล้ายงานวาดบนเรือกอและ โดยเฉพาะที่ประตูทางเข้าช่องกลางนั้น มีลวดลายวาดไว้สวยงาม ปราณีตอย่างยิ่ง

            ด้านทิศใต้ มีบันไดทางขึ้นลงอีกทางหนึ่งสำหรับอิหม่าม หรือผู้ชาย ซึ่งจะใช้แยกกันระหว่างชายและหญิงด้านในใช้เป็น ไม้ฉากกั้นที่ในภาษามลายูเรียกว่าแยกสัดส่วนหญิงชาย เหมือนกัน

            ภายในโถงละหมาดปล่อยโล่งตามแบบบ้านในแถบทางพื้นถิ่นภาคใต้ ทำให้เห็นโครงหลังคาชัดเจนหลังคามัสยิดหลังนี้ เป็นแบบปั้นหยาซ้อนจั่ว วางผังหลังคาได้ซับซ้อนพอสมควร ด้านหน้าเป็นจั่วแบบบรานอ๓ จั่ว มีการตกแต่งส่วนของหลังคาด้วย หน้าบันใช้กระจกวาดสีแบบลวดลายกอและเช่นกัน ปัจจุบันมองเห็นลวดลายไม่ชัดแล้ว ตรงยอดจั่วนั้นมีการนำไหบูดูมาก่อปิดฉาบปูนและใช้ลูกแก้วที่เป็นทุ่น เครื่องมือสำหรับหาปลาในทะเลมาประดับตรงยอดเป็นความคิดท้องถิ่นที่สร้างสรรค์เชิงชายใช้ ก่อแบบปูนปั้นประดับเป็นลวดลายกอและอย่างสวยงามเช่นกัน นับว่าเป็นงานสร้างสรรค์ที่แปลก สะดุดตา และแตกต่างจากลวดลายมลายูที่พบในที่อื่นๆ ปัจจุบันเรือนมัสยิดชาวเลที่มีการตกแต่งลวดลายแบบนี้ หลงเหลืออยู่ที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น

            ส่วนสำคัญของเรือนไม้แบบมลายู 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ฐานเสา เป็นการก่อปูนโดยชาวบ้านหล่อแบบเอง มีลวดลาย อยู่ 2 แบบ ตามจำนวนเสาของเรือนนั้นสันนิษฐานว่า ชาวมลายูในอดีตนั้นนิยมปลูกเรือนแบบต่อเรือนประกอบไปเรื่อยๆทีละส่วน แล้วนำมาประกอบกันจนครบสัดส่วนที่วางไว้ เมื่อประกอบส่วนสำคัญเสร็จแล้วได้โครงสร้างครบแล้ว จึงนำยกมาไว้บนเสาปูน และเริ่มงานปูผนัง ช่องลม หน้าต่าง และรายละเอียดต่างๆตามมา ความสูงของตัวเรือนนั้น ดูกันที่ฐานเสานั้นเอง

            รายละเอียดอีกอย่างหนึ่งที่มัสยิดบ้านบนหลังนี้มีเพิ่มเติมคือค้ำยัน’ มีการวางไม้แกะสลักเป็นแบบลวดลายกอและ รูปทรงคล้ายๆกันกับส่วนประกอบบนหัวเรือกอและด้านที่เรียกว่า ‘ลูแว’ นั่นเอง

            รูปแบบการวางผังและสัดส่วนการใช้งานของมัสยิดบ้านบนหลังนี้มักจะพบมากในเรือนแบบที่ปลูกเป็นเรือนใหญ่แบบท้องถิ่น 3 จังหวัดชายแดนใต้แต่รายละเอียด ลูกเล่น การประดับ

ตกแต่ง และการประยุกต์งานศิลปะของชาวเรือมาประกอบกับเรือนศาสนสถานได้อย่างลงตัวและมีศิลปะนั้นปฎิเสธไม่ได้เลยว่ามัสยิดกำปงอาตัสแห่งปาเสยาวอหลังนี้ เป็นสถานที่สำคัญอย่างมีอัตลักษณ์เฉพาะในท้องถิ่นแบบชาวประมง เพราะแสดงออกถึงความเป็นตัวตน คนชาวเล ชาวเรือได้อย่างมีเอกลักษณ์และมีแห่งเดียวที่เหลืออยู่

            นี่คือมรดกอันล้ำค่าของชาวชุมชนปาเสยาวอในอดีต ส่งต่อแก่ลูกหลานรุ่นต่อๆมา    

            ณ ปาเสยาวอ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ในยามพลบค่ำเริ่มย่างกราย เสียงดังของเครื่องยนต์เรือเริ่มเงียบหายไป เข้าสู่ยามค่ำ ได้เวลาหยุดพักของนักผจญโชคแห่งทะเลเสียงอซาน แว่วดังขึ้นบอกเวลาได้เวลาเข้าเฝ้าพระเจ้าของมวลทุกสรรพสิ่งได้เวลาขอบคุณและขัดเกลาจิตใจ ทบทวนผลพวงของชีวิต อีกคืนหนึ่ง

มัสยิดไม้กำปงอาตัส ปาเสยาวอ สายบุรี ปัตตานี อายุ70กว่าปี

มัสยิดไม้กำปงอาตัส ปาเสยาวอ สายบุรี ปัตตานี อายุ70กว่าปี

ที่มา: sawasdee12.blogspot.com

islamhouse.muslimthaipost.com

อัพเดทล่าสุด