หลักการอันเป็นข้อบังคับสำหรับบุคคล (ฟัรดูอัยนีย์) ได้แก่ หลักการพื้นฐานอันจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนจะต้องรู้ ต้องประพฤติ เริ่มตั้งแต่อายุ 3 ขวบเป็นต้นไป แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
หลักการของอิสลาม แบ่งออกเป็นส่วนใหญ่ๆ ได้ 2 ส่วน คือ
1.หลักการอันเป็นข้อบังคับสำหรับบุคคล (ฟัรดูอัยนีย์)
ได้แก่ หลักการพื้นฐานอันจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนจะต้องรู้ ต้องประพฤติ เริ่มตั้งแต่อายุ 3 ขวบเป็นต้นไป แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1.หลักศรัทธา หรือ ความเชื่อในศาสนา เรียกว่า อีมาน
2.หลักปฏิบัติ หรือ หน้าที่ในศาสนา เรียกว่า อิบาดะห์
3.หลักคุณธรรม หรือ หลักความดี เรียกว่า อิห์ซาน
หลักการทั้ง 3 ส่วนนี้ ผู้นับถือศาสนาอิสลามทั้งที่สืบทอดจากบิดามารดามาแต่เดิม หรือเพิ่งเข้ารับใหม่ก็ตาม จะต้องศึกษาให้เข้าใจโดยถ่องแท้และสามารถประพฤติปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตลอดไป
2 หลักการอันเป็นข้อบังคับสำหรับสังคม(ฟัรดูกิฟายะฮ์) ได้แก่ หน้าที่ต่างๆ ทางสังคม ซึ่งนับตั้งแต่สังคมหน่วยเล็กสุด คือ ครอบครัวจนถึงสังคมที่ใหญที่สุดคือประเทศชาติ
บุคคลจะต้องรับผิดชอบสังคมด้านต่างๆ มากมาย ซึ่งอิสลามได้มีบัญญัติให้ทุกคนได้แสดงความรับผิดชอบนั้นอย่างสม่ำเสมอในทุกๆ ด้าน ทุกคนต้องเสียสละเพื่อครอบครัว เพื่อสังคม เพื่อประเทศชาติ และเพื่อศาสนา สำหรับมุสลิมแห่งสยามก็คือ ต้องเสียสละเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันเป็นสถาบันหลักของชาติไทยเรา
โดยหลักการนี้ ศาสนาอิสลามจึงมิได้วางบทบัญญัติแต่เฉพาะในด้านการปฏิบัติศาสนาอย่างเดียว แต่ได้วางบทบัญญัติและข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเทศชาติเอาไว้ด้วย ในอิสลามจึงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเก็บภาษี การจัดกองทัพ การบริหารประเทศ การทูต เป็นอาทิ เป็นอีกส่วนหนึ่งแห่งคำสอน
(1) หลักศรัทธา หรือ ความเชื่อในศาสนา (อีมาน)
คือหลักคำสอนที่มุสลิมทุกคนจะต้องเชื่อว่าเป็นความจริงแท้และต้องยึดถืออย่างมั่นคง แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยสัมผัสทั้ง 5 ก็ตาม ซึ่งหลักศรัทธามี 6 ประการ คือ
1) ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า หมายถึง ต้องเชื่อมั่นและศรัทธาในพระเจ้า ซึ่งเรียกว่า "อัลลอฮ์ พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าและมีอยู่จริง มุสลิมทุกคนต้องศรัทธาในอัลลอฮ์ ว่าเป็นพระเจ้าองค์เดียว" และเป็นผู้ทรงคุณลักษณะดังนี้ คือ ทรงมีอย่างแน่นอน ไม่มีข้อสงสัย ทรงมีมาก่อนสรรพสิ่งทั้งปวง ทรงเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในเอกภพ ทรงดำรงอยู่ได้โดยพระองค์เอง ไม่มีใครสร้างพระองค์ ทรงเป็นผู้มีอยู่ตลอดกาล ไม่มีจุดเริ่มต้นและไม่มีจุดจบทรงเอกานุภาพ ไม่มีสิ่งใดเป็นภาคี ทรงสรรพเดช ทรงเป็นสัพพัญญู ทรงความยุติธรรม ทรงพระเมตตา ทรงเป็นผู้พิพากษาในการตัดสินชีวิตมนุษย์ในวันสุดท้ายที่เรียกว่า วันพิพากษา
ศรัทธาที่แท้จริงของมุสลิมต่ออัลลอฮ์นั้นหมายถึงการถวายทั้งกายและใจให้แก่พระองค์ การปฏิบัติผิดไปจากนี้ เช่น การยอมรับนับถือพระเจ้าองค์อื่นด้วย หรือการนับถือสิ่งอื่นใดเทียบเท่าพระองค์ถือว่าเป็นบาปมหันต์ที่มิอาจยกโทษให้ได้ มุสลิมที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์อย่างแท้จริงจะทำให้เขาละเว้นจากการทำชั่ว ทำแต่ความดี มีพลังใจที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะดีหรือร้าย การศรัทธาต่ออัลลอฮ์จึงเป็นหัวใจของการเป็นมุสลิม
2) ศรัทธาในมลาอิกะฮ์ มลาอิกะห์นั้นเป็นเทพบริวารหรือเทวทูตของพระเจ้ามีจำนวนมากมายสุดจะประมาณได้ ทำหน้าที่สนองพระบัญชาอัลลอฮ์แตกต่างกัน คุณลักษณะของมลาอิกะห์มีดังนี้
- เป็นสิ่งที่อัลเลาะฮ์ทรงสร้างขึ้นเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ ตามที่พระองค์กำหนด
- ไม่ต้องการหลับนอน
- จำแลงเป็นรูปร่างต่างๆ ได้
- ไม่มีบิดา มารดา บุตร ภรรยา
- ปฏิบัติคุณธรรมล้วน
- ไม่ละเมิดฝ่าฝืนบัญชาของอัลลอฮฺเลย
- ไม่กิน ดื่ม ขับถ่าย ไม่มีกิเลสตัณหา
มลาอิกะห์ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของพระเจ้าอย่างเคร่งครัด ซึ่งมีจำนวนมากมายมหาศาล เท่าที่มีระบุชื่อและหน้าที่เฉพาะก็มีอยู่ 10 มลาอิกะห์ คือ
1. ยิบรออีล ทำหน้าที่สื่อโองการพระเจ้ากับศาสดา
2. มีกาฮีล ทำหน้าที่นำโชคลาภจากพระเจ้าสู่โลก
3. อิมรอพีล ทำหน้าที่เป่าสังข์ในวันสิ้นโลก
4. อิสรออีล ทำหน้าที่ถอดวิญญาณของมนุษย์และสัตว์
5. รอกีบ ทำหน้าที่บันทึกความดีและความชั่วของมนุษย์
6. อะติด ทำหน้าที่บันทึกความดีและความชั่วของมนุษย์
7. มุงกัร ทำหน้าที่สอบถามคนตายในกุบูร (หลุมฝังศพ)
8. นะกีร ทำหน้าที่สอบถามคนตายในกุบูร (หลุมฝังศพ)
9. ริดวาน ทำหน้าที่ดูแลกิจการของสวรรค์
10.มาลิก ทำหน้าที่ดูแลกิจการของขุมนรก
ผู้ที่จะเป็นมุสลิมอย่างสมบูรณ์ได้ต้องศรัทธาว่าเทวทูตเหล่านี้มีจริงอันจะเป็นผลดีแก่ผู้ศรัทธาเอง คือจะทำให้เขาทำแต่ความดี ละเว้นความชั่ว เพราะแต่ละคนมีเทวทูตคอยบันทึกผลความดีและความชั่วอยู่ตลอดเวลา
3) ศรัทธาในบรรดาศาสนทูต มุสลิมเชื่อว่าศรัทธา โลกมนุษย์ในแต่ละยุคที่ผ่านมานับจากยุคแรก คือ อาดัมนั้นต้องมีศาสดาหรือ ศาสนทูต เป็นผู้รับบทบัญญัติของพระเจ้ามาประกาศเพื่อเผยแผ่โองการของพระเจ้า ซึ่งศาสนทูตนั้นมีจำนวนมากมาย ลักษณะคำประกาศของแต่ละศาสดาย่อมผิดแปลกไปตามยุคสมัย แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกศาสดาประกาศออกมาเหมือนกัน คือ ความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวกันและห้ามกราบไหว้บูชาวัตถุโดยสิ้นเชิง บรรดาศาสดาที่รับโองการพระเจ้ามาเผยแผ่เท่าที่มีปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานมีทั้งสิ้น 25 ท่าน คือ
1. นบีอาดัม (อ.ล.) 14. นบีอีซา (อ.ล.)
2. นบีอิบรอฮีม (อ.ล.) 15. นบีอินยาส (อ.ล.)
3. นบีอิสฮากร (อ.ล.) 16. นบีอิสมาอีล (อ.ล.)
4. นบียากูฟ (อ.ล.) 17. นบีอัลย่าซะอ์ (อ.ล.)
5. นบีนัวฮ์ (อ.ล.) 18. นบียูนุส (อ.ล.)
6. นบีดาลูด (อ.ล.) 19. นบีลูด (อ.ล.)
7. นบีสุไลมาน (อ.ล.) 20. นบีอิดรีส (อ.ล.)
8. นบีไอยูบ (อ.ล.) 21. นบีฮูด (อ.ล.)
9. นบียูซูบ (อ.ล.) 22. นบีซู่ไอบ (อ.ล.)
10. นบีมูซา (อ.ล.) 23. นบีซอและซ์ (อ.ล.)
11. นบีฮารูน (อ.ล.) 24. นบีซุลกิฟลี่ (อ.ล.)
12. นบีซาการีบา (อ.ล.) 25. นบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) (อ.ล.)
13. นบียาหย่า (อ.ล.)
คุณสมบัติของศาสนทูต มี 4 ประการคือ
1.ศิดกุน คือ วาจาสัตย์ ไม่พูดเท็จ
2.อะมานะฮ์ คือ ไว้วางใจได้ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำความชั่วฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮ์
3.ตับลิค คือ นำศาสนามาเผยแผ่แก่มนุษย์โดยทั่วถึงไม่ปิดบังแม้แต่น้อย
4.ฟะตอนะฮ์ คือ เฉลียวฉลาด
บรรดาศาสดาทุกท่าน เป็นมนุษย์ธรรมดานี่เอง จึงดำรงชีวิตแบบสามัญชนทั่วไป มีการกินอยู่หลับนอน แต่งงานและประกอบอาชีพ
สาเหตุที่พระเจ้าเลือกคนธรรมดาขึ้นมาเป็นศาสดา ก็เพราะความเป็นศาสดา หมายถึง การเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตามคำสอนของตัวเองที่ได้รับมาจากพระเจ้า
หากศาสดาไม่ใช่คนสามัญชนธรรมดาแบบเดียวกับประชาชนทั่วไป คำสอนก็จะขาดการนำไปปฏิบัติ ซึ่งในที่สุดคำสอนก็จะหมดความหมาย และแน่นอนก็จะไม่มีใครพร้อมที่จะนำไปประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิตอีกด้วย
ทุกสิ่งทุกอย่างที่ศาสดาสอนผู้อื่น ท่านก็ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย คำสอนที่ท่านสอนออกไปจึงเป็นกฎหมายที่ท่านต้องปฏิบัติตาม เพราะสิ่งที่ท่านสอนก็คือ บทบัญญัติที่พระเจ้าทรงดำรัสผ่านมาทางท่านนั่นเอง
ศาสนาอิสลามจำแนกพระศาสนทูตหรือผู้แทนของพระอัลเลาะห์หรือผู้รับโองการจากพระเจ้าให้นำบัญญัติของพระองค์มาสั่งสอน ชี้แนะแก่มวลมนุษย์ด้วยกัน ในแต่ละยุคแต่ละสมัยออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ผู้ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีตามบทบัญญัติของพระเจ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ศาสนทูตประเภทนี้เรียกว่า "นบี"
2. ผู้ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีตามบทบัญญัติของพระเจ้าทำการเผยแผ่บทบัญญัตินั้นแก่มวลมนุษย์ชาติทั่วไปด้วย ศาสนทูตประเภทนี้เรียกว่า "ซูล" หรือ "เราะซูล"
ส่วนองค์พระมุฮัมมัด ชาวมุสลิมเชื่อกันว่า พระองค์เป็นทั้งนบีและเราะซูล เพราะพระองค์เป็นแบบอย่างที่ดีตามบทบัญญัติของพระอัลเลาะห์และทรงเป็นผู้เผยแผ่บทบัญญัตินั้นแก่มวลมนุษยชาติอีกด้วย
4) ศรัทธาในพระคัมภีร์ คัมภีร์ที่ว่านี้หมายถึงคัมภีร์จำนวน 104 เล่มที่อัลเลาะฮ์ได้ประทานแก่เหล่าศาสนทูต ของพระองค์ เพื่อนำมาประกาศเผยแผ่แก่ปวงประชาชาติให้เหินห่างจากความมืดมนไปสู่ทางอันสว่างไสวและเที่ยงตรง ซึ่งคัมภีร์ที่สำคัญมีอยู่ 4 คัมภีร์ คือ
คัมภีร์โตราห์ หรือเตารอต (Torah) ประทานแก่นบีมูซาหรือโมเสส (Moses) เป็นภาษาฮีบรู
คัมภีร์ซะบูร์ (Zaboor) ประทานแก่นบีดาวูดหรือดาวิด (David) เป็นภาษาอียิปต์โบราณ
คัมภีร์อินญีล (Injeel or Gospel) ประทานแก่นบีอีซาหรือเยซู (Jesus) เป็นภาษาซีเรียโบราณ
คัมภีร์อัล-กุรอาน (Al-Quran) ประทานแก่นบีมุฮัมมัด (Muhammad) เป็นภาษาอาหรับ อัลกุรอาน เป็นคัมภีร์ฉบับสุดท้ายที่สมบูรณ์ที่สุดและมุสลิมเชื่อว่าท่านนบีมุฮัมมัดเป็นนบีคนสุดท้าย
คัมภีร์ต่างๆ ทั้งหมดนี้สรุปคำสอนได้เป็น 2 ประการ คือ
- สอนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า
- สอนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน
5) ศรัทธาในวันพิพากษา ศาสนาอิสลามเรียกโลกในปัจจุบันว่า "โลกดุนยา" และอธิบายว่า ดุนยาเป็นโลกแห่งการทดลอง ไม่จีรังยั่งยืน รอวันแห่งความพินาศแตกสลายเรียกว่า "วันกียามะฮฺ" ซึ่งเป็นวันพิพากษาหรือวันกำเนิดปรโลก โลกใหม่ที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าวเป็นโลกอมตะ เรียกว่า "โลกอาคีรัต" มนุษย์และสรรพสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกนี้จะมีชีวิตเป็นนิรันดรในวันกียามะฮ์ นี้ ทุกชีวิตที่ตายไปแล้วจะกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่ง เพื่อชำระผลกรรมที่ทำไว้สมัยที่มีชีวิตอยู่ มุสลิมผู้ศรัทธาในวันพิพากษาและสร้างสมความดีไว้มากจะได้ไปสู่ปรโลกพบกับชีวิตนิรันดร
6)ศรัทธาในการลิขิตของพระผู้เป็นเจ้า มุสลิมทุกคนจะต้องศรัทธาว่ากำหนดการต่างๆ ในโลก และชีวิตของบุคคลแต่ละคนเป็นไปโดยอำนาจของพระเจ้าทั้งสิ้น มนุษย์ต้องปฏิบัติตามครรลองที่ถูกกำหนดไว้แล้ว การดิ้นรนขวนขวายและวิริยภาพของมนุษย์ดำเนินไปจะอยู่ภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวนี้ทั้งสิ้น
ความเชื่อในอำนาจการลิขิตของพระเจ้านี้ มิได้หมายถึงการตัดทอนในด้านสร้างสรรค์ของมนุษย์แต่อย่างใด ซึ่งจะทำให้มนุษย์เกียจคร้านและไม่คิดจะทำหน้าที่อะไรโดยทุกสิ่งเป็นกำหนดของพระเจ้า
ความเชื่อข้อนี้นำมาประกอบในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ได้เป็นอย่างดีและสุขุม มีสติและไม่ประมาท ให้มีสติ ตั้งมั่นว่าทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปโดยการลิขิตของพระเจ้า ซึ่งมนุษย์เองก็ดิ้นรนพยายามและมุ่งมั่นอยู่เสมอ มีความขยันขันแข็ง และเริ่มบุกเบิกการงานความคิดทุกประการ ด้วยจิตใจที่สำนึกอยู่เสมอว่า อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของพระเจ้าอยู่เป็นนิตย์ ดังนั้นผลของการกระทำกิจการทั้งหลายไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตาม มนุษย์ก็จะมีสติสัมปชัญญะมั่นคงเสมอ
หากประสบผลสำเร็จในการทำกิจการใดๆ ก็ระลึกว่าเป็นไปโดยกำหนดลิขิตของพระเจ้า ตัวเองจะได้ไม่ลำพอง ไม่หยิ่งจองหอง ไม่ถือว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษเหนือคนอื่นใด แต่ถ้าหากประสบความล้มเหลวในการกระทำก็ระลึกเสียว่า เป็นไปโดยลิขิตของพระเจ้า ตัวเองจะได้ไม่เสียใจ ไม่อกหัก ไม่โวยวาย
ความเชื่อในลิขิตพระเจ้าจะปรับจิตใจของมวลมนุษย์ให้มั่นคงในพระเจ้าดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความมั่นใจ มีเป้าหมายและมีกำลังใจตลอดไป
คนใดที่เชื่อในลิขิตพระเจ้าจะปรับปรุงตัวอยู่เสมอ ไม่ทำอะไรแบบเช้าชามเย็นชามเฉี่อยชาทำตัวเรื่อยๆ เฉื่อยแฉะเหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ เป็นความเชื่อที่มีเหตุผลอย่างแท้จริง ถ้ามีเหตุบกพร่องจะรีบแก้ไขทันที
ดังนั้นศาสนาอิสลามจึงกล่าวถึงกฎสภาวการณ์ไว้ว่า พระอัลเลาะห์เจ้าทรงลิขิตหรือเป็นผู้ทรงกำหนดกฎสภาวการณ์ (ความเป็นไป) แห่งโลกและมวลมนุษย์ชาติไว้ใน 2 ลักษณะ ดังนี้
1. สภาวการณ์ที่คงที่ ได้แก่ กฎแห่งธรรมชาติ เช่น ดินฟ้าอากาศ ระบบการโคจรของดวงดาว และชาติพันธุ์ของมนุษย์ทั้งปวง
2. สภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ คือ สภาวการณ์ที่ขึ้นอยู่กับเหตุและผลที่มนุษย์แต่ละคนจะใช้สติปัญญาของตนเลือกปฏิบัติ เช่น พระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีสภาพของความเป็นคนเหมือนๆ กัน พร้อมทั้งทรงประทานแนวปฏิบัติเพื่อความดีงามให้ทุกคน ส่วนผู้ใดมีสถานภาพอย่างไรนั้นในกาลต่อมานั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลเป็นผู้ทำเอง ก่อเอง เลือกทางเดินของตัวเอง
(2) หลักปฏิบัติหรือหน้าที่ในศาสนา (อิบาดะห์) ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาประเภท "เอกเทวนิยม" (Monotheism) คือ นับถือพระเจ้าองค์เดียวว่าสูงสุดคือ พระอัลลอฮ์ มีคุณลักษณะที่สมบูรณ์ที่สุด สร้างทุกสิ่งทุกอย่างได้และสามารถทำลายทุกสิ่งทุกอย่างได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัตินั้น มุสลิมทุกคนจะต้องถือเป็นหน้าที่และเป็นกิจวัตรอันจะขาดมิได้ ซึ่งการปฏิบัตินั้นแบ่งได้เป็น 5 ประการ ดังนี้
1) การปฏิญาณตน การปฏิญาณตนเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามนั้นให้ปฏิญาณในความเชื่อมีต่อพระอัลลอฮ์เจ้าและต่อองค์ศาสดา โดยกล่าวออกเป็นวาจาจากความเชื่อมั่นของตนเอง และพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสอนว่า
"ข้าพเจ้าขอปฏิญาณตนว่า ไม่มีพระเจ้าองค์อื่นใดนอกจากพระอัลลอฮ์" และ "ข้าพเจ้าของปฏิญาณตนว่า นบีมะหะหมัดเป็นศาสนทูตแห่งพระอัลลอฮ์" โดยประโยคที่ปฏิญาณดังกล่าวนี้ เมื่อผู้ใดกล่าวด้วยความสำนึกอันจริงใจและด้วยความศรัทธามั่นคงและพร้อมที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติอิสลามก็ถือว่าเป็นมุสลิมแล้วหรือจะเพิ่มคำปฏิญาณเข้าอีกเพื่อความตั้งมั่นอย่างแท้จริง ไม่คลอนแคลนในการนับถือศาสนาอิสลาม โดยกล่าวว่า
1. จะไม่เคารพบูชารูปใดๆ นอกจากพระอัลลอฮ์
2. จะประพฤติตนในทางบริสุทธิ์และเป็นธรรมเป็นนิตย์
3. จะยอมเชื่อฟังถ้อยคำในทางที่ถูกที่ควรของท่านนบีทุกประการ
2) การละหมาด หรือ สวด (นมาซ หรือ นมัสการ) การละหมาดหรือการนมัสการพระเจ้าคือการแสดงความเคารพต่อพระเจ้า เป็นการปฏิบัติเพื่อแสดงความภักดีต่อพระเจ้า เป็นการปฏิบัติเพื่อแสดงความภักดีต่อพระเจ้า การสำรวมจิตระลึกถึงพระเจ้า การละหมาดเป็นการขัดเกลาจิตให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างพลังให้แข้มแข็ง การสำรวมจิตหรือการทำสมาธิเพื่อมิให้จิตใจวอกแวกไปในเรื่องต่างๆ เป็นภาวะที่จิตใจได้เข้าไปสัมผัสกับความเป็นเอกภาพกับพระเจ้า ทำให้จิตสงบ ตั้งมั่น อดทน ผู้ที่มีความทุกข์และประสบปัญหาชีวิตในด้านต่างๆ การละหมาดเป็นเครื่องช่วยที่ดีที่สุด ทั้งยังฝึกตนเองให้ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบในหน้าที่ ให้อยู่ในระเบียบวินัย รักษาความสะอาด และยังเป็นการบริหารร่างกายอย่างดียิ่ง หากเป็นการละหมาดรวมยังเป็นการแสดงออกถึงความสามัคคีพร้อมเพรียง ความเสมอภาค และภราดรภาพอีกด้วยการทำละหมาด เป็นกิจที่ต้องทำเป็นประจำในหลายวาระ คือ
1. รอบวัน ผู้เป็นมุสลิมจะต้องทำละหมาดวันละ 5 เวลา คือ
1.1 เวลาย่ำรุ่ง เรียกว่า ละหมาด ซุบหฺ ปฏิบัติ 2 ร็อกอะฮ์
1.2 เวลากลางวัน เรียกว่า ละหมาด ดุฮฺริอฺ ปฏิบัติ 4 ร็อกอะฮ์
1.3 เวลาเย็น เรียกว่า ละหมาด อะซัร ปฏิบัติ 4 ร็อกอะฮ์
1.4 เวลาพลบค่ำ เรียกว่า ละหมาด มัฆริบ ปฏิบัติ 3 ร็อกอะฮ
1.5 เวลากลางคืน เรียกว่า ละหมาด อิชาอ์ ปฏิบัติ 4 ร็อกอะฮ์
2. รอบสัปดาห์ ให้รวมทำกันในวันศุกร์ ณ มัสยิดสถาน จำนวน 2 ร็อกอะฮ์
3. รอบปี ในรอบปีหนึ่งให้ทุกคนมาปฏิบัติการละหมาด ณ มัสยิดหรือสถานชุมนุมซึ่งมี 2 ครั้ง คือ
3.1 ละหมาดเมื่อสิ้นเดือนถือศีลอด (อีดุลพิฏร์) ซึ่งเรียกว่า "วันออกบวช" จำนวน 2 ร็อกอะฮ์
3.2 ละหมาดในวันเชือดสัตว์พลีทาน เนื่องในเทศกาลฮัจญ์ (อีดุลอัฏฮา) ซึ่งเรียกว่า "วันออกฮัจญ์"จำนวน 2 ร็อกอะฮ์
4. ตามเหตุการณ์ เมื่อเกิดเหตุการณ์บางประการให้ละหมาดด้วย เช่น
4.1 ทำละหมาดขอพรแก่ผู้ตายก่อนนำไปฝัง เรียกว่า "ละหมาดญะนาซะฮ์"
4.2 ทำละหมาดขอฝน ในยามแห้งแล้ง เรียกว่า "ละหมาดอิสติสกออ์"
4.3 ทำละหมาดในกลางคืนของเดือนถือศีลอดจำนวน 20 ร็อกอะฮ์ เรียกว่า "ละหมาดตะรอวีห์"
4.4 ทำละหมาดระลึกถึงพระเจ้า เมื่อเกิดผิดปกติทางธรรมชาติ คือ
4.4.1 เมื่อเกิดจันทรุปราคา เรียกว่า "คูซูฟุลกอมัน" จำนวน 2 ร็อกอะฮ์
4.4.2 เมื่อเกิดสุริยุปราคา เรียกว่า "กุซูฟุซซัมซิ" จำนวน 2 ร็อกอะฮ์
4.5 ทำละหมาดขอต่อพระเจ้า ให้ชี้ทางเลือกในการประกอบการงานที่ตัวเอง ตัดสินใจไม่ได้ เรียกว่า ละหมาด "อิสติคงเราะย์" จำนวน 2 ร็อกอะฮ์
นอกจากที่กล่าวไว้นี้แล้ว ยังมีละหมาดอื่นๆ อีก ซึ่งปรากฏในตำราศาสนาโดยตรงและการละหมาดยังส่งเสริมให้กระทำโดยไม่ต้องรอวาระและเหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าวที่เป็นการกระทำโดยไม่ต้องมีเงื่อนไข ทำเมื่อระลึกถึงพระเจ้า จำนวนกระทำครั้งละ 2 ร็อกอะฮ์ และทำได้เรื่อยไป เรียกว่า ละหมาด "สนัตมุตลัก"
วิธีทำละหมาด ให้เริ่มด้วยการชำระร่างกายให้สะอาด และอาบน้ำละหมาดตามแบบดังนี้
1. ตั้งเจตนาว่าจะอาบน้ำละหมาด
2. ล้างมือทั้งสองข้างจนถึงข้อมือ
3. บ้วนปากและล้างรูจมูก 3 ครั้งให้สะอาด
4. ล้างหน้า 3 ครั้ง ให้ทั่วบริเวณหน้าให้สะอาด
5. ล้างแขนทั้งสองข้าง 3 ครั้ง ตั้งแต่ปลายนิ้วมือถึงข้อศอกโดยล้างข้างขวาก่อนข้างซ้าย
6. เอามือขวาชุบน้ำลูบศรีษะ 3 ครั้ง ตั้งแต่ด้านหน้าถึงด้านหลัง
7. เอามือทั้งสองชุบน้ำเช็ดใบหูทั้งสองข้าง 3 ครั้ง ให้เปียกทั่วทั้งภายนอกและภายในโดยเช็ดพร้อมกันทั้งสองข้าง
8. ล้างเท้าทั้ง 2 ข้าง 3 ครั้ง ให้ทั่วจากปลายเท้าถึงเลยตาตุ่ม โดยล้างเท้าขวาก่อนเท้าซ้าย
เมื่อเสร็จจากการอาบน้ำละหมาดก็ให้สวมเสื้อผ้าที่สะอาด และปิดอวัยวะสงวนโดย
- ผู้ชายต้องปิดระหว่างสะดือกับหัวเข่า
- ผู้หญิงปิดทั้งร่าง ยกเว้นใบหน้าและฝ่ามือ
แล้วหันหน้าไปทาง "กิบละฮ์" (กะอ์บะฮ์ บัยตุบเบาะห์) ด้วยจิตใจอันสงบ มีสมาธิและมุ่งต่อพระเจ้า แล้วปฏิบัติ ดังนี้
1. ตั้งเจตนาแน่วแน่ในการปฏิบัติ
2. ยกมือจดระดับบ่า พร้อมทั้งกล่าวตักบีร กล่าวอัลลอฮูกักบัร ซึ่งแปลว่า อัลลอฮ์ ทรงยิ่งใหญ่ แล้วยกมือลงมากอดอก
3. ยืนตรงในท่าเดิม พร้อมกับอ่าน "บางบทจากคัมภีร์อัลกุรอาน" หรือบทฟาตีฮะห์ หรือบทอื่นๆ ตามต้องการ
4. ก้มลง ใช้มือทั้งสองจับเข่าไว้ ศีรษะทำแนวตรงกับสันหลังไม่ห้อยลงและไม่เงยขึ้นพร้อมทั้งอ่านว่า "ซุบฮานะริบบิยันอะซีวะบิฮัมดิฮฺ" 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย
5. เงยขึ้นมาสู่ที่ยืนตรง พร้อมทั้งกล่าวว่า "สมิอัลลฮุลิมันฮะมิดะฮ์ รอบบะนาละกัลฮั้มดุ"
6. ก้มลงกราบโดยให้หน้าผากและจมูกจดพื้น มือวางแนบพื้นในระดับเข่า หัวเข่าทั้งสองวางบนพื้นและปลายนิ้วสัมผัสพื้นพร้อมกับอ่านว่า "ซุบฮานะรอบบิยัลอะฮฺลาวะบิฮัมดิฮี" 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย
7. ลุกขึ้นมานั่งพักพร้อมกับอ่านบทขอพร
8. ก้มลงกราบครั้งที่สองแบบเดียวกับครั้งแรก การกระทำตามลำดับดังกล่าวนั้นถือว่า "หนึ่งร็อกอะฮ์"
9. จากนั้นขึ้นมายืนตรง แล้วย้อนกลับไปเริ่มต้นปฏิบัติตามลำดับ ตามที่กล่าวไว้แล้ว และในร็อกอะฮ์ที่สองให้ทำอย่างนี้
10. เมื่อขึ้นจากการกราบครั้งที่สอง พร้อมกับอ่านตะฮียะฮ์ คือ "อัตตะฮียาตุลมูบารอกาตุสซอลาตุตตอยยิปิตุลิลลาฮ์ อัสลามุอาลัยกะอัยยุฮันนะปิยุวะ เราหมะตุลลอฮิวะบะรอกาตุฮอัสสะลามุอาลัยนาวะอะลาอิบาติซซอลิฮีนอัซฮะดุอัลา
ฮะอิลลัลดอฮุวะอัซฮะดุอันนะมุฮัมมะดัรรอซูลุลลอฮิ อัลลอฮ์ฮุมมะซอลลิอะลามุฮำมัดอะลาอะลีมุฮัมมัด"
หากละหมาดนั้นมีเพียงสองร็อกอะฮ์ ก็ไม่ต้องขึ้นให้กระทำร็อกอะฮ์ต่อไป แต่ถ้าเป็นละหมาดที่มีร็อกอะฮ์ที่มี 3-4 ก็ให้ขึ้นกระทำตามลำดับดังกล่าวจนครบจำนวนโดย
- ถ้าเป็นละหมาด 3 ร็อกอะฮ์ ถึงการกราบครั้งที่ 2 ของร็อกอะฮ์ที่ 3 ลุกมาอ่านตะฮียะฮ์
- ถ้าเป็นละหมาด 4 ร็อกอะฮ์ ก็ลุกจากการกราบครั้งที่ 2 ของร็อกอะฮ์ ขึ้นมายืนตรงทำต่อในร็อกอะฮ์ที่ 4 ตามลำดับจนถึงการนั่งอ่านตะฮียะฮ์สุดท้าย
11. ให้สลาม คือ อ่านว่า "อัสลามุอะลัยกุม วะเราะห์มะตุลลอฮ์" ทำพร้อมกับเหลียวไปทางขวาและว่าอีกครั้งพร้อมกับเหลียวไปทางซ้าย จากนั้นก็ยกมือขึ้นลูบหน้า เป็นอันเสร็จพิธี อนึ่งก่อนพิธีละหมาดจะเริ่มขึ้นจะมีผู้บอกโดยใช้วิธีตะโกนจากหอสูง เมื่อทุกคนมาประชุมพร้อมกันแล้วหัวหน้าในพิธีการนั้นก็จะเป็นผู้นำ วันสวดมนต์ใหญ่ คือ วันศุกร์
การสวดมนต์หรือนมัสการมีอยู่ 3 ตอน คือ
- ตอนแรก เรียกว่า อาซาน คือ ตอนที่มุอาซินขึ้นไปตะโกนเรียกอยู่บนหอสูง มีเนื้อความ ว่า ไม่มีบุคคลอื่นที่ดีกว่าพระอัลลอฮ์ พระมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์จงมานมัสการกันเถิด มาทำความดีกันเถิด ดีกว่าการนอน
- ตอนสอง เรียกว่า ร็อกอะฮ์ เป็นการเริ่มสำรวม กาย วาจา และใจ คือ การกล่าวคำสวดที่ถูกต้อง ใช้อิริยาบถถูกต้องและตั้งจิตตรงต่อพระเจ้าองค์เดียวอย่างถูกต้อง
- ตอนสาม คือ ตอนกล่าวคำนมัสการโดยอิมาม หรือหัวหน้าในพิธีเป็นผู้นำกล่าวนำและกระทำนำพร้อมกัน เป็นการขอพรและสรรเสริญพระคุณของพระเจ้า อนึ่ง มุสลิมถือว่าในเทศกาลสำคัญอย่างการฉลองวันสิ้นสุดแห่งการถือศีลอด และวันฉลองการเสียสละครั้งใหญ่ (อีดุลอัฏฮา) คือ วันตรุษ จะต้องทำพิธีร่วมกันทุกคนขาดไม่ได้
ประโยชน์ของการทำพิธีละหมาด
ประโยชน์ปัจจุบันที่สำคัญที่สุด คือ เป็นการน้อมตนแก่พระเจ้าทั้งกาย วาจา และใจ ตามแบบอย่างพระศาสดาพระมุฮัมมัด และโองการที่พระเจ้ากำหนดไว้ ส่วนประโยชน์อื่นที่พึงได้รับมีดังนี้
1. เป็นการชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่ตลอดเวลา
2. เป็นการฝึกสมาธิและสร้างพลังจิตใจให้แข้มแข็ง
3. เป็นการช่วยแก้ปัญหาชีวิต (ระงับความทุกข์ใจ) ได้โดยทำจิตใจให้สงบ
4. เป็นการปลูกฝังนิสัยที่ดีหลายประการ เช่น ตรงต่อเวลา มีวินัย มีความรับผิดชอบ มีความอดทน การเอาชนะใจตัวเอง สร้างความสะอาดและความสามัคคี
5. เป็นวิธีการบริหารร่างกายทางอ้อม
6. เป็นการสร้างพลังกายให้เข้มแข็งเพื่อสามารถต่อต้านโรคภัยได้เป็นอย่างดี
7. เป็นการลดความตึงเครียดในหน้าที่การงานเพื่อดำเนินงานต่อไปอีกอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3) การถือศีลอด
การถือศีลอด คือ งดเว้นจากการกระทำต่างๆ ดังต่อไปนี้ตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนถึงตะวันตกในเดือนรอมะฎอน (เดือนที่ 9 ของ ฮิจเราะห์ศักราช) เป็นเวลา 1 เดือน คือ
1. งดการกินและการดื่ม
2. งดการมีเพศสัมพันธ์
3. งดการใช้วัตถุภายนอกเข้าไปในอวัยวะภายใน
4. งดการแสดงอารมณ์ร้ายและความผิดต่างๆ พร้อมทั้งกระทำในสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. ทำนมัสการพระเจ้าให้มากกว่าวันธรรมดาถ้าเป็นการถือศีลรอมะฎอนให้ทำละหมาดตะรอวีห์จำนวน 20 ร็อกอะฮ์
2. อ่านคัมภีร์อัลกุรอานให้มาก
3. สำรวมอารมณ์และจิตใจให้ดี
4. ทำทานแก่ผู้ยากไร้และบริจาคเพื่อการกุศล
5. กล่าว "ซิกิร" อันเป็นบทรำลึกถึงพระเจ้า
6. ให้นั่งสงบสติสงบจิต "อิตติกาฟ" ในมัสยิด
การถือศีลอดมีเป้าหมายเพื่อเป็นการฝึกฝนให้ตัวเองมีจิตผูกพัน และยำเกรงต่อพระเจ้าเพื่อการดำเนินชีวิตในทุกด้านตามคำบัญชาของพระองค์ อันเป็นผลดีทำให้เกิดปกติสุขทั้งส่วนตัวและส่วนสังคม
นอกจากนั้นประโยชน์ของการถือศีลอดยังอำนวยในด้วนสุขภาพอนามัยอีกด้วย เพราะการถือศีลอดเป็นการอดอาหารในช่วงเวลาที่ถูกกำหนดไว้อย่างตายตัวนั้น จะทำให้ร่างกายได้ละลายส่วนเกินของไขมันที่สะสมเอาไว้ อันเป็นบ่อเกิดของโรคร้ายหลายประการด้วยกันดังที่ทราบๆ กันอยู่แล้ว
การถือศีลอดเป็นการเพิ่มพูนภูมิต้านทานแก่ร่างกาย ทำให้ร่างกายเคยชินกับความหิวด้วยและการรับประทานอาหารตรงตามเวลา เพราะใน 24 ชั่วโมง ผู้ถือศีลอดจะรับประทานอาหารสองมื้อ คือ มื้อตอนดึกก่อนฟ้ารุ่งสางและมื้อค่ำ เมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้า
การถือศีลอดทำให้เกิดการประหยัดทั้งอาหารของโลก และสิ่งฟุ่มเฟือยสิ่งต่างๆ อีกมากมาย สมมุติทั้งโลกมีมุสลิมทั้งหมดในหนึ่งเดือนที่ถือศีลอด เมื่อนำมาจ่ายค่าอาหารที่ลดลงจะเป็นจำนวนมหาศาล เท่ากับเดือนถือศีลอดนั้น มุสลิมช่วยทำให้โลกประหยัดโดยตรง
วาระการถือศีลอด
การถือศีลอดแบ่งออกเป็น 2 ประการ คือ
1. บังคับ
2. อาสาสมัคร
1. ถือศีลอดบังคับ ได้แก่ การถือศีลอดซึ่งศาสนาบังคับว่าจะต้องถือดังนี้
1.1 ถือศีลอดในเดือนรอมะฎอนครบทั้งเดือน
1.2 ถือศีลอดตามที่บนไว้
1.3 ถือศีลอดชดเชยที่ขาด
1.4 ถือศีลอดตามข้อผูกพัน เช่น ถือศีลอดเพื่อไถ่ความผิดอันเกิดจากการกระทำผิดทางเพศขณะถือศีลอด เป็นต้น
2. ถือศีลอดอาสาสมัคร ได้แก่ การถือศีลอดซึ่งศาสนามิได้บังคับให้ถือ หากปล่อยเป็นอิสระ ตามความสมัครใจ มีดังต่อไปนี้ เช่น
2.1 การถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเชาวาล (เดือนต่อจากเดือนรอมะฎอน)
2.2 การถือศีลอดในวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรร็อม.
2.3 การถือศีลอด ในวันจันทร์ วันพฤหัสบดี เป็นต้น
สาเหตุทำให้เสียศีลอด
1. รับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม 2. อาเจียนโดยเจตนา 3. ร่วมประเวณี 4. เสียสติ 5. นำวัตถุเข้าไปในช่องภายในของร่างกาย เช่น รูหู ทวาร เป็นต้น 6. มีเลือดประจำเดือนหรือเลือดหลังคลอด 7. ทำให้อสุจิเคลื่อน 8. สิ้นสภาพอิสลาม
จุดมุ่งหมายของการถือศีลอดเพื่อฝึกฝนทางด้านร่างกายและจิตใจ ให้มีความหนักแน่นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักชะกาต
มุสลิมที่บรรลุนิติภาวะทางร่างกายดังที่กล่าวมาแล้วในเรื่องละหมาด ทุกคนจะต้องถือศีลอด ยกเว้นสำหรับบุคคลบางประเภทต่อไปนี้
1. คนชรา
2. คนป่วยหรือสุขภาพไม่ดี
3. หญิงที่มีครรภ์ที่เกรงว่าจะเป็นอันตรายแก่บุตร
4. บุคคลที่ทำงานหนัก เช่น กรรมกรแบกหาม
5. บุคคลที่อยู่ในระหว่างเดินทาง
6. หญิงขณะมีรอบเดือนและหลังคลอด
บุคคลที่ได้รับการผ่อนผันให้ละเว้นการถือศีลอดทั้ง 6 ประเภทนี้ หากพ้นภาวะความจำเป็นดังกล่าวแล้ว เช่น หมดรอบเดือน เมื่อสิ้นสุดการเดินทาง หายจากการเจ็บไข้ ฯลฯ ให้ถือศีลอดชดใช้ตามจำนวนวันที่ขาดโดยจะต้องถือในช่วงระยะ 11 เดือนก่อนที่จะถึงเดือนรอมะฎอนของปีต่อไป ยกเว้นผู้ที่จะถือศีลอดได้โดยลำบาก เช่น คนชรา คนป่วย ซึ่งบุคคล ดังกล่าวนี้ต้องใช้ชดเชยโดยบริจาคอาหารแก่คนยากจน 1 คน ในวันที่ขาด โดยอาหารนั้นต้องเหมือนกับที่ตนรับประทาน
4) การบริจาคศาสนทานซะกาต
การบริจาคศาสนาทาน ศาสนาอิสลามเรียกว่า "ซะกาต" (Sakat) มาจากคำเดิมในภาษาอาหรับว่า "ซะกาฮฺ " แปลว่า การทำให้บริสุทธิ์ ความเจริญงอกงาม
ซะกาต ในศาสนาอิสลาม หมายถึง การบริจาคซึ่งศาสนาบังคับให้ผู้มีทรัพย์สินมากเกินจำนวนที่กำหนดไว้ (ในศาสนา) จ่ายแก่ผู้ควรได้รับ (ตามอัตราที่ศาสนากำหนด)
ที่มาของการบริจาคซะกาต
1. คำสอนในศาสนาที่ให้มุสลิมทุกคนถือว่า บรรดาทรัพย์สินทั้งหลายที่หามาได้นั้น คือ ของฝากจากอัลเลาะห์เจ้าให้จ่ายส่วนหนึ่งแก่คนยากคนจน
2. ชีวิตจริงของพระศาสดามะหะหมัด เคยผ่านความยากจนมาก่อน
วัตถุประสงค์ของการบริจาคซะกาต
1. เพื่อชำระจิตใจของผู้บริจาคให้บริสุทธิ์ไม่ตกเป็นทาสแห่งวัตถุด้วยความโลภและเห็นแก่ตัว
2. เพื่อปลูกฝังให้มุสลิมทั้งหลายเป็นผู้มีจิตใจเมตตา กรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน
3. เพื่อลดช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคมด้วยวิธีการสังคมสงเคราะห์
ลักษณะของการบริจาคซะกาตที่ถือได้ว่าได้บุญกุศลตามความมุ่งหมาย
1. ทรัพย์สินที่บริจาคต้องได้มาด้วยความสุจริต
2. ต้องเต็มใจในการบริจาค ไม่หวังสิ่งตอบแทน ไม่เจตนาเพื่ออวดความมั่งมีและไม่ลำเลิกบุญคุณ
อัตราการบริจาคซะกาต
ทรัพย์ที่จะนำมาบริจาคซะกาตมีหลายประเภทด้วยกัน คือ
1. ซะกาตพืชผล อันได้แก่ การเพาะปลูกที่นำผลผลิตมาเป็นอาหารหลักในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ข้าว ข้าวสาลี เป็นต้น เมื่อมีจำนวนผลิตได้ 650 กก. ต้องจ่ายซะกาต 10% สำหรับการเพาะปลูกที่อาศัยฝน และเพียง 5% สำหรับการเพาะปลูกที่ใช้น้ำจากแรงงาน
2. ทองคำ เงิน และเงินตรา เมื่อมีจำนวนเหลือใช้เพียงเท่าทองคำหนัก 5.6 บาท เก็บไว้ครอบครองครบรอบปีก็ต้องบริจาคออกไป 2.5% จากทั้งหมดที่มีอยู่
3. รายได้จากการค้า เจ้าของสินค้าต้องคิดหักในอัตรา 2.5% ในทุกรอบปี บริจาคเป็นซะกาตทั้งนี้ทรัพย์สินจะต้องไม่น้อยกว่าเทียบน้ำหนักทองคำเท่ากับ 4.67 บาท
4. ขุมทรัพย์เหมืองแร่ เมื่อได้ขุดกรุสมบัติแผ่นดิน หรือเหมืองแร่ได้สัมปทาน จะต้องจ่ายซะกาต 20% หรือ 1 ใน 5 จากทรัพย์สินทั้งหมดที่ได้
5. ปศุสัตว์ ผู้ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ คือ วัว ควาย อูฐ แพะ แกะ จะต้องบริจาคในอัตราที่แน่นอน เป็นซะกาตออกไป เช่น มีวัว ควาย ครบ 30 ตัว ให้บริจาคลูกวัวอายุ 1 ขวบ 1 ตัว ครบ 100 ตัว บริจาคลูกวัวอายุ 2 ขวบ 1ตัว และ 1 ขวบ 2 ตัว เป็นต้น
ผู้มีสิทธิ์รับซะกาต
ผู้มีสิทธิ์รับซะกาตตามระบุไว้ในอัลกุรอานมีทั้งหมด 8 ประเภท คือ
1. คนอนาถา ได้แก่ ผู้ยากจนไม่มีทรัพย์สินหรืออาชีพใดๆ
2. คนขัดสน ได้แก่ ผู้มีอาชีพ มีรายได้ แต่ไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายจริง
3. เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับซะกาต ได้แก่ บุคคลที่ได้รับการไว้วางใจจากรัฐให้จัดการเก็บรวบรวมและจ่ายซะกาต
4. ผู้ควรปลอบใจ ได้แก่ ผู้เพิ่งเข้าอิสลาม หรือเตรียมเข้าอิสลาม หรืออาจจะเข้าอิสลาม
5. ทาสที่ต้องการทรัพย์ไปไถ่ตัวเองให้เป็นอิสระ รับซะกาตเพียงเท่าที่จะนำไปไถ่ตัวเอง
6. ผู้เป็นหนี้ หมายถึง เป็นหนี้ในการประกอบสัมมาอาชีวะ หรือกิจการกุศลทั่วไปรับซะกาตเพียงเท่าที่เป็นหนี้
7. ผู้สละชีวิตในแนวทางพระเจ้า รับซะกาตเพียงค่าใช้จ่ายระหว่างดำเนินการ
8. ผู้เดินทาง หมายถึง เมื่อเดินทางแล้วหมดทุนที่จะเดินทางกลับมีสิทธิ์รับซะกาตได้เพียงค่าใช้จ่ายที่จำเป็น
ซะกาตฟิฏเราะฮ์
การบริจาคซะกาตอีกประเภทหนึ่งที่มุสลิมต้องปฏิบัติ คือ �ซะกาตฟิฏเราะฮ์Ž ซึ่งบริจาคเมื่อถึงวันสิ้นเดือนอด (รอมะฎอน)
เป็นซะกาตที่คิดจากอาหารหลักที่บริโภคในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ข้าวสาลี เป็นต้น นำมา บริจาคโดยคิดเป็นรายบุคคล คนละประมาณ 4 ทะนาน หรือประมาณ 3 ลิตร
การบริจาคซะกาตฟิฏเราะฮ์ให้หัวหน้าครอบครัวบริจาคเพียงคนเดียว โดยคำนวณจากสมาชิกในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวจำนวนเท่าใดก็คูณด้วย 3 ลิตร แล้วนำไปบริจาคแก่ ผู้มีสิทธิ์
5) หลักการประกอบพิธีฮัจญ์
การประกอบพิธีฮัจญ์1 คือ การเดินทางไปประกอบศาสนกิจ ณ เมืองเมกกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย คำว่า ฮัจญ์ หมายถึง "การเดินทางไปยังจุดมุ่งหมายเฉพาะอันหนึ่งในแง่กฎหมายของอิสลาม คำนี้มีความหมายว่า ออกเดินทางไปกะบะห์หรือบัยดุลลอฮ์ และประกอบพิธีฮัจญ์"
ในชีวิตหนึ่ง มุสลิมจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ มหานครเมกกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบียอย่างน้อย 1 ครั้ง เป็นข้อบังคับสำหรับทุกคนที่มีความสามารถพอจะเดินทาง ไปได้และไม่ทำให้ครอบครัวเดือดร้อนระหว่างเดินทาง
บทบัญญัติพิธีฮัจญ์นี้กำหนดให้มุสลิมจากทั่วทุกมุมโลกได้เดินทางไปร่วมชุมนุมเพื่อแสดงพลังศรัทธา พลังเศรษฐกิจ พลังสังคม และได้มีการแลกเปลี่ยนทางด้านต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมมุสลิม เช่น การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ทางเศรษฐกิจ ทางความคิด ทางข่าวสาร เป็นต้น
การรวมตัวกันในสถานที่เดียวกัน เป็นจำนวนหลายล้านคนเช่นนี้ ทำให้ทุกคนได้ตระหนักถึงภราดรภาพ เสมอภาพ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางสังคม ซึ่งจะทำให้ทุกคนรักกันยิ่งๆ ขึ้น ที่ไม่เคยรู้จักกันก็จะได้รู้จักกัน และจะทำให้สนิทสนมสมัครสมานกัน
กำหนดเวลาของการไปทำพิธีฮัจญ์
ในปีหนึ่งๆ มุสลิมทั่วโลกจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์พร้อมกัน 1 ครั้ง พิธีนั้นจะทำในเดือนซุลฮิจญะฮ์ของแต่ละปี
แต่หากมุสลิมเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ มิใช่ฤดูกาลทำฮัจญ์ตามกำหนดเวลาดังกล่าวเรียกศาสนกิจนั้นว่า อุมเราะห์
สถานที่ในการประกอบพิธีฮัจญ์
สถานที่ในการประกอบพิธีฮัจญ์มีเพียงแห่งเดียวโลกมุสลิม ไม่สามารถจะไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ไหนก็ได้ตามใจชอบ เช่น การท่องเที่ยว
สถานที่ของการประกอบพิธีฮัจญ์อยู่ที่กะอ์บะฮ์ หรือบัยตุลลอห์ในนครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
กะอ์บะฮ์ คือ สิ่งก่อสร้างรูปทรงเหลี่ยม (มาจากรากศัพท์ว่า กะอะบะ แปลว่า นูนขึ้นหรือพองขึ้น) ที่ท่านนบี (ศาสดา) อิบรอฮีมและนบีอิสมาอิล บุตรชายช่วยกันสร้างขึ้นจากรากเดิมที่มีอยู่ตามที่ได้รับบัญชาจากพระผู้เป็นเจ้าอัลเลาะห์ (ซุบห์) เมื่อประมาณ 200 ปี ก่อนคริสตกาล กะอ์บะฮ์นี้มีชื่อเรียกอยู่หลายอย่างที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อัลกุรอาน อาทิ อัล-บัยตุลหะรอมอัล-มิสญิดุลหะรอม บัยตุลอตีก แต่นามที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด คือ "บัยตุลลอห์" ซึ่งแปลว่า บ้านของอัลลอฮ์
ฉะนั้น อัล-กะอ์บะฮ์ หรือ บัยตุลลอห์ จึงเป็นเคหะหลังแรกที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เป็น ศูนย์รวมแห่งความเคารพภักดีต่อองค์พระอัลเลาะห์ (ซุบห์)
ทุ่งอะเราะฟะฮ์ อะเราะฟะฮ์มีลักษณะเป็นทุ่งกว้างในหินผาที่กว้างใหญ่สูงประมาณ 200 ฟุต อยู่ห่างจากนครเมกกะประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นสถานที่ที่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ทั้งหมด (ฮุจญาด) จะไปร่วมชุมนุมกันในวันที่ 9 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ ตั้งแต่เช้าก่อนถึงพระอาทิตย์ตกเป็นที่เริ่มแรกของพิธีฮัจญ์ หลังจากครองผ้าอิห์รอมแล้ว (ชุดขาวจากผ้า 2 ผืน)
ในการค้างแรมที่อะเราะฟะฮ์นี้ ฮุจญาด (ผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์) จะกางเต็นท์อยู่โดยต่างก็มีธงชาติของประเทศตนติดตั้งไว้
ทุ่งนี้เป็นที่ชุมนุมของคนทั่วโลก จากจำนวนร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน และเป็นล้านในปัจจุบัน ในจำนวนนี้มีทั้งราชาและยาจก นายและบ่าว ผิวขาว ผิวดำ ผิวเหลือง แต่ทุกคนแต่งกายเหมือนกันด้วยผ้าขาวเพียง 2 ชิ้น ทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นพี่น้องกัน หัวใจจำนวนล้านดวงในที่เดียวกันต่างมุ่งอยู่ที่พระเจ้าองค์เดียวกัน และต่างอยู่ในความสำรวมความนอบน้อมต่อพระองค์ ขอพรจากพระองค์ เป็นการมาหยุด มาพักแรมอยู่ด้วยกันด้วยความสงบ จึงเรียกการปฏิบัตินี้ว่า วูกูฟ (วูกูฟ แปลว่า หยุด สงบ นิ่ง)
เมื่อเสร็จจากการวูกูฟ ฮุจญาดจะเดินทางไปยังทุ่งมีนาเพื่อไปค้างแรมที่นั้น 3 วัน 3 คืน เพื่อขว้างเสาหิน
แต่เนื่องจากการเดินทางอยู่ในระหว่างกลางคืน ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จึงค้างคืนที่ทุ่ง มุสตะลิฟะฮ์ 1 คืน จึงออกเดินทางไปทุ่งมีนาในตอนเช้าของวันที่ 10
สำหรับมุสลิมที่มิได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ถือว่าวันรุ่งขึ้นจากการวูกูฟของผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ คือ วันอีดุลอัฏฮา หรือที่ชาวไทยมุสลิมนิยมเรียกว่า ออกฮัจญี
อนึ่ง ณ ทุ่งอะเราะฟะฮ์แห่งนี้ คือ สถานที่ซึ่งท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) แสดงปัจฉิมเทศนาหรือการกล่าวอบรมในที่ชุมนุมเป็นครั้งสุดท้าย
การแต่งกายในพิธีฮัจญ์
ผู้ชายทุกคนจะแต่งกายด้วยผ้าขาว 2 ชิ้นที่ไม่มีการเย็บ ส่วนหญิงจะแต่งกายด้วยชุดที่มิดชิด (เปิดได้เฉพาะฝ่ามือและใบหน้า) โดยไม่มีเครื่องประดับใดๆ ทั้งสิ้น การครองผ้าขาวนี้เรียกว่า อิห์รอม
"หลักข้อแรกของการบำเพ็ญฮัจญ์ ได้แก่ อิห์รอมจากมีกอต หมายถึง การครองผ้าสองชิ้นด้วยการตั้งใจจะบำเพ็ญฮัจญ์จากเขตสถานที่แห่งหนึ่ง เรียกว่า ยะลัมลัม ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองฮิตดะห์ (เมืองท่าของซาอุดิอาระเบีย) ประมาณ 63 กิโลเมตร"
การประกอบพิธีฮัจญ์
ตั้งแต่เริ่มครองอิห์รอมจนเปลื้องอิห์รอมเมื่อเสร็จพิธีไม่ว่าฮุจญาดจะมาจากส่วนใดของโลกจะต่างเริ่มกล่าวสรรเสริญด้วยภาษาเดียวกันก้องกระหึ่มไปทั่ว คือ "ลับบัยกัลลอฮุมมะลับบัยกะลาซารีกะลัก"
"โอ้อัลลอฮ์ ข้าพระองค์ขอนอบน้อมคำเชิญของพระองค์ ไม่มีผู้ใดเทียบเท่าพระองค์"
ขั้นตอนของพิธีฮัจญ์ สรุปได้ดังนี้
1. การครองอิห์รอม
2. การวูกูฟ (พักสงบ) ที่ทุ่งอะเราะฟะฮ์
3. การค้างแรมที่ทุ่งมุสตะลิฟะฮ์ 1 คืน แล้วเดินทางไปอยู่ที่ทุ่งมีนา 3 คืน เพื่อขว้าง เสาหิน
4. การเฏาะวาฟ คือ เดินเวียน (ซ้าย) รอบบัยตุลลอห์ 7 รอบ
5. สะแอ คือ การเดินและวิ่งกลับไปกลับมาระหว่างอัลเศาะฟากับอัลมัรวะฮ์ 7 เที่ยว
6. การทำกุรบานหรือเชือดสัตว์พลี สำหรับผู้ที่มีความสามารถ หรือการถือศีลอดทดแทน 7 วัน
7. โกนหรือตัดผม เสร็จแล้วจึงเปลื้องชุดอิห์รอม
พิธีฮัจญ์เป็นศาสนกิจข้อที่ 5 ของมุสลิม เป็นข้อเดียวในหลักปฏิบัติ 5 ประการที่ใช้ปฏิบัติเฉพาะบุคคลที่มีความสามารถเท่านั้น บุคคลที่มีความสามารถในการประกอบพิธีฮัจญ์ หมายถึง มุสลิมที่มีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ มีสติปัญญาที่สมบูรณ์ที่มีทรัพย์สินเพียงพอในการใช้จ่ายโดยมิต้องเป็นหนี้สินและเดือดร้อนบุคคลที่อยู่ข้างหลังและเส้นทางที่เดินทางไปจะต้องปลอดภัย นอกจากนี้จะต้องเป็นผู้ที่ประกอบศาสนกิจข้ออื่นๆ เช่น การละหมาด การถือศีลอด การบริจาคซะกาตสมบูรณ์เสียก่อน การไปประกอบพิธีฮัจญ์มิใช่เพื่อโอ้อวดหรือเพื่อแสดงความมั่งคั่งของตน แต่เป็นการไปเพื่อทดสอบความศรัทธาและความเข้มแข็งอดทน
ในปีหนึ่งๆ มุสลิมจากทั่วโลกจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์พร้อมกันที่เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นสถานที่แห่งเดียวในโลกที่ใช้ประกอบพิธีจะทำในเดือนซู้ล (เดือนที่ 12 ของเดือนฮิจญ์เราะฮ์ศักราช) โดยใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์
มุสลิมที่เข้าร่วมในการประกอบพิธีฮัจญ์จะต้องทำพิธีตามลำดับต่อไปนี้
1. การครองอิห์รอม คือ การนุ่งห่มด้วยผ้าขาวสองผืน เรียกว่า ครองอิห์รอม ผู้ที่เข้าร่วมในการประกอบพิธีฮัจญ์ที่เป็นชายจะต้องแต่งกายด้วยผ้าขาวสองผืน ส่วนหญิงจะต้องปิดมิดชิดเว้นแต่ใบหน้าและฝ่ามือ เพราะฉะนั้นทุกคนจึงแต่งเหมือนกันหมดไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีหรือยาจก ผิวขาวหรือผิวดำ นายหรือบ่าว เพราะทุกคนเสมอภาคกันหมด
2. การวูกูฟ คือ การพักสงบที่ทุ่งอะเราะฟะฮ์ (อะเราะฟะฮ์ เป็นชื่อตำบลหนึ่งของเมืองเมกกะ) ซึ่งห่างจากเมืองเมกกะประมาณ 12 กิโลเมตร บริเวณสำหรับวูกูฟนี้เป็นลานทรายกว้างใหญ่ที่มีเทือกเขาเรียงรายเป็นรูปครึ่งวงกลม ทิศเหนือมีเนินเขาชื่อ ญะบัลเราะห์ ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งเป็นสถานที่วูกูฟของท่านเราะซูล
การวูกูฟเป็นข้อที่ปฏิบัติประการหนึ่งของพิธีฮัจญ์ ผู้ที่ขาดการวูกูฟย่อมไม่ได้ฮัจญ์ การวูกูฟจะเริ่มตั้งแต่ตะวันคล้อยของวันที่ 9 เดือนซู้ล
3. การค้างแรมที่ทุ่งมุสตะลิฟะฮ์ 1 คืน แล้วเดินทางไปทุ่งมีนาเพื่อขว้างเสาหินค้างแรมที่ทุ่งมีนา 3 วัน 3 คืน
4. การเฏาะวาฟ คือ การเดินเวียนรอบบัยตุลลอฮ์ 7 รอบ การเฏาะวาฟต้องเริ่มต้นจากแนวของหินดำและต้องปฏิบัติดังนี้
- ต้องมีน้ำละหมาด
- แต่งกายปกปิดเรียบร้อย
- เนียตเฏาะวาฟก่อนจะเริ่มต้นเฏาะวาฟ
- ต้องเริ่มจากหินดำ
- ต้องเวียนให้ครบ 7 รอบ โดยเวียนติดต่อกันไปไม่ขาดระยะ
- ให้เวียนซ้ายให้บัยตุลลอฮ์อยู่ทางด้านซ้ายมือโดยให้แนวอกตั้งฉากกับบัยตุลลอฮ์เสมอ
- ให้จูบหินดำ หากคนแน่นจนทำไม่ได้ก็ให้เอามือลูบหินดำแล้วจึงเอามือมาจูบหากยังทำไม่ได้อีกก็ให้ทำท่าจูบหรือลูบหินดำแล้วจึงเอามือจูบ
5. สะแอ คือ การเดินระหว่างเศาะฟา มัรวะฮ์ ซึ่งมีความยาวประมาณ 410 เมตร โดยเดินเวียนรอบประมาณ 7 เที่ยว เงื่อนไขการสะแอมีดังนี้
- ต้องเริ่มที่เนินเขาเศาะฟา
- ต้องสิ้นสุดที่เนินเขามัรวะฮ์
- ต้องเดินตามเส้นทางที่กำหนด
- ต้องเดินให้ครบ 7 รอบ
- หากไม่แน่ใจในจำนวนเที่ยว ให้ถือว่าเอาจำนวนน้อยเป็นหลักแล้วสะแอต่อไปจนแน่ใจว่าครบ 7 เที่ยว
6. การทำกุรบาน คือ การเชือดสัตว์เพื่อเป็นทาน ผู้ที่กระทำบกพร่องหรือละเมิดข้อห้ามต่างๆ ระหว่างพิธีฮัจญ์ จะต้องเสียค่าปรับหรือค่าทดแทนที่รียกว่า การเสียดัมการเสียดัมนี้ อาจจะเป็นการกระทำได้ด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นทำแทนโดยเชือดสัตว์หรือนำอาหารมาแทน บริจาคแก่คนยากจน แล้วแต่กรณี เช่น
- ผู้บำเพ็ญฮัจญ์ร่วมประเวณีระหว่างอิห์รอมถือว่ามีความผิดหนัก ทำให้พิธีฮัจญ์นั้นเสียต้องกระทำได้ด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นทำแทนโดยเชือดสัตว์หรือนำอาหารมาแทนและต้องกระทำพิธีฮัจญ์ต่อไปจนจบและต้อง ประกอบพิธีฮัจญ์อีกต่อไป นอกจากนี้ยังต้องเสียดัม
- ห้ามล่าสัตว์หรือช่วยเหลือการล่าสัตว์
- เมื่อผู้บำเพ็ญฮัจญ์บกพร่องในเนื่องต่อไปนี้ เช่น ใช้เครื่องหอม ตัดเล็บ ตัดหรือถอนต้นไม้ ให้เสียดัม โดยเชือดแพะหรือแกะ 1 ตัว หรือถือศีลอด 3 วัน หรือบริจาคข้าวสารแก่คนยากจน 6 คน คนละครึ่งมุด (ทะนานอาหรับ)
7. โกนหรือตัดผม เมื่อเสร็จจากการสะแอแล้ว ให้โกนผมหรือตัดผมอย่างน้อย 3 เส้น เสร็จแล้วจึงเปลื้องชุดอิห์รอม
ความมุ่งหมายของการประกอบพิธีฮัจญ์
1. เพื่อให้มุสลิมจากทั่วโลกได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์กันอันจะก่อให้เกิดสัมพันธภาพและภารดรภาพ
2. เพื่อให้เกิดความเสมอภาค เพราะผู้ที่มาบำเพ็ญฮัจญ์ในปีหนึ่งๆ จะมีเชื้อชาติ ผิวพรรณ ฐานะ ฯลฯ แตกต่างกัน แต่ทุกคนต่างอยู่ในชุดอิห์รอมเหมือนกันหมดและทำพิธีอย่างเดียวกันไม่มีใครมีอภิสิทธิ์ใดๆ
3. เพื่อเป็นการทดสอบความอดทนและในด้านการเสียสละสิ่งต่างๆ ในหนทางของพระเจ้าตั้งแต่ทรัพย์สินเงินทองในการใช้จ่าย การต้องละทิ้งบ้านเรือนครอบครัวและญาติพี่น้อง
4. เพื่อฝึกฝนและทดสอบความอดทนทั้งร่างกายและจิตใจ
5. ฝึกการสำรวมตน ละทิ้งอภิสิทธิ์ต่างๆ เพราะทุกคนต้องปฎิบัติตามวินัยบัญญัติของพิธีฮัจญ์เหมือนกันทั้งหมด เช่น งดเว้นจากการล่าสัตว์ การตัดต้นไม้ การร่วมประเวณี เป็นต้น
6. เพื่อให้มุสลิมได้ระลึกถึงประวัติศาสตร์ของอิสลามและเป็นการปลูกศรัทธามั่นคง
7. เป็นการแสดงถึงเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้าในการที่มุสลิมจากทั่วโลก จำนวนนับแสนเดินทางไปรวมกัน ณ ที่แห่งเดียวกัน ในชุดแบบเดียวกัน กระทำพิธีอย่างพร้อมเพรียงกันในทุกๆ ปี
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไปบำเพ็ญฮัจญ์เมื่อกลับมาแล้วยังเป็นคนธรรมดา มิได้เป็นพระและมิได้มีสิทธิพิเศษใดๆ ศาสนาอิสลามเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ถืออภิสิทธิ์ชน เพราะทุกคนต่างก็เป็นบ่าวของอัลลอฮ์ วิธีการดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้กฎหมายของอัลลอฮ์เหมือนกัน แม้แต่ผู้ปกครองก็ไม่มีสิทธิ์ใช้ตำแหน่งหน้าที่และอำนาจข่มขู่หรือเอาเปรียบประชาชน ศาสนาอิสลามถือว่าผู้ปกครองที่ดีนั้น คือ ผู้ปกครองที่รับใช้ประชาชนด้วยความซื่อสัตย์และบริสุทธิ์ใจนั่นเอง
(3) หลักคุณธรรมหรือหลักความดี(อิห์ซาน)
หลักคุณธรรมหรือหลักความดี คือการกำหนดว่าสิ่งใดที่ควรปฏิบัติ และสิ่งใดต้องละเว้น ข้อกำหนดเหล่านี้ปรากฏอยู่แล้วในคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งแยกออกเป็นสองตอนคือการกระทำที่อนุญาต เรียกว่าฮะลาล (HALAL) และการกระทำที่ต้องห้าม เรียกว่าฮะรอม (HARAM)
1) การกระทำที่อนุญาต หมายถึง การอนุญาตให้กระทำความดี ซึ่งความดีในศาสนาอิสลาม หมายถึงสิ่งใดก็ตามที่ได้ระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ว่า ดี สิ่งนั้นต้องดี ไม่ว่าคนทั้งหลายจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ก็ตาม ตัวอย่างของการกระทำที่จัดเป็นการกระทำที่ดีในศาสนาอิสลาม เช่น
- บอกทางให้แก่ผู้หลงทาง
- หยิบสิ่งอันตรายออกจากทางเดิน
- ไม่เข้าใกล้เครื่องดื่มและของมึนเมา
- ไม่เข้าใกล้สิ่งลามกอนาจาร
- ต่อสู้ถ้ามีการกดขี่
- พูดความจริงต่อหน้าผู้ปกครอง
- จ่ายค่าแรงก่อนเหงื่อจะแห้ง
- ไม่เป็นคนหลงชาติหลงตระกูล
- ไม่เป็นคนทำบุญเอาหน้าหวังชื่อเสียงหรือต้องการให้ชื่อของตนไปติดอยู่ที่อาคารใด อาคารหนึ่ง
- การไม่กินดอกเบี้ย ไม่ติดสินบน
- การแต่งงานที่ใช้เงินน้อยและมีความวุ่นวายน้อยที่สุด
- การยกฐานะคนใช้ให้มีการกินอยู่เหมือนกับตน
- ฯลฯ
2) การกระทำที่ต้องห้าม หมายถึง การห้ามกระทำความชั่ว ซึ่งความชั่วในศาสนาอิสลาม หมายถึง สิ่งใดก็ตามที่ได้ระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน ว่าชั่ว สิ่งนั้นต้องชั่ว ไม่ว่าคนทั้งหลายจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ตัวอย่างของการกระทำที่จัดเป็นการกระทำชั่วในศาสนาอิสลาม เช่น
- การตั้งภาคี หรือยึดถือ นำสิ่งอื่นมาเทียบเคียงอัลลอฮ์ เช่น เงินตรา วงศ์ตระกูล เกียรติยศ ชื่อเสียง ประเพณี แม้แต่อารมณ์ก็จะนำมาเป็นใหญ่ในตัวเองไม่ได้
- การกราบไหว้บูชารูปปั้น วัตถุ ต้นไม้ ก้อนอิฐ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว แม่น้ำ ภูเขา ห้ามกราบไหว้ผีสางเทวดา นางไม้ ห้ามเซ่นไหว้สิ่งใดๆ ทั้งสิ้น
- การเชื่อในเรื่องดวง ผูกดวง ดูหมอ ตรวจดูชะตาราศี ดูลายมือ ถือโชคลาง เล่นเครื่องรางของขลัง
- การเล่นการพนันทุกชนิด เสี่ยงทาย เสี่ยงโชค เล่มม้า ล็อตเตอรี่ หวยเบอร์
- การกินสัตว์ที่ตายเอง สัตว์ที่มีโรค กินหมู กินสัตว์ที่นำไปเซ่นไหว้ สัตว์ที่ถูกรัดคอให้ตายโดยที่มิได้เชือดให้เลือดไหล สัตว์ที่เชือดโดยมิได้กล่าวนามของอัลลอฮฺ
- การกินดอกเบี้ย
- การเสพสุราและสิ่งมึนเมาทุกชนิด รวมทั้งยาเสพติด เช่น กัญชา ฝิ่น เฮโรอีน
- การผิดประเวณี แม้จะเป็นการสมัครใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายก็ตาม
- การประกอบอาชีพที่ไม่ชอบด้วยศีลธรรมหรืออาชีพที่จะนำไปสู่ความหายนะ เช่น ตั้งซ่อง โรงเหล้า บาร์ อาบอบนวด ปล่อยเงินกู้โดยวิธีเก็บดอกเบี้ย รับซื้อของโจร และเปิดสถานเริงรมย์ทุกชนิด
- การบริโภคอาหารที่หามาได้โดยไม่ชอบ
- การกักตุนสินค้าเพื่อนำออกมาขายด้วยราคาสูงเมื่อเกิดภาวะขาดแคลนอดอยาก
- การกระทำใดๆ ที่เป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ตนเอง เพื่อนบ้าน สังคม และประเทศชาติ
- ฯลฯ
หลักคุณธรรมเป็นหลักคำสอนที่สนองตอบหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติ เพราะการสร้างคุณธรรมสูงสุดให้เกิดขึ้นในจิตใจ จะต้องผ่านหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบเสียก่อน มิฉะนั้นคุณธรรมทางใจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ กล่าวคือ เมื่อมีศรัทธามั่นใจในองค์อัลลอฮ์ และมีการปฏิบัติสนองคำบัญชาของพระองค์อย่างครบถ้วนและเคร่งครัดเป็นนิจศีลแล้ว จิตใจก็จะแนบเนื่องกับพระองค์ กิเลสตัณหาที่แทรกซ้อนในอารมณ์ก็จะถูกปลดเปลื้องออกจนหมดสิ้น
หลักสามประการดังที่กล่าวมานี้ เป็นหลักธรรมขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติและมีอยู่ในดวงจิตของตน ซึ่งเป็นหน้าที่เฉพาะตัวของมุสลิมแต่ละคน เมื่อปฏิบัติหลักสามประการนี้ครบถ้วนแล้ว หน้าที่อันดับต่อมาคือ การรับหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นหรือที่เรียกว่า "หลักธรรมทางสังคม" ซึ่งสังคมในที่นี้หมายถึง บุคคลอื่นที่ไม่ใช่