มุสลิมเผลอทำหน้าหวานคุยกับรุ่นน้อง ถือเป็นฟิตนะห์หรือไม่?


2,017 ผู้ชม

ถ้าเราต้องทำงานชมรมกับมุสลิมีนที่เป็นรุ่นน้อง ซึ่งบางทีเรามักจะเผลอทำหน้าหวานในเวลาที่กำลังคุยกัน ไม่ทราบว่าจะถือเป็นฟิตนะห์หรือเปล่าคะ?...


มุสลิมเผลอทำหน้าหวานคุยกับรุ่นน้อง ถือเป็นฟิตนะห์หรือไม่?

คำถาม : ถ้าเราต้องทำงานชมรมกับมุสลิมีนที่เป็นรุ่นน้อง ซึ่งบางทีเรามักจะเผลอทำหน้าหวานในเวลาที่กำลังคุยกัน ไม่ทราบว่าจะถือเป็นฟิตนะห์หรือเปล่าคะ?

ตอบโดย: อ.มุรีด ทิมะเสน

อิสลามคือศาสนาแห่งการป้องกัน สิ่งใดก็ตามที่นำไปสู่ความเสียหายหรือเกิดความวุ่นวายจำเป็นจะต้องหลีกเสี่ยงอย่างเด็ดขาด กรณีที่มุสลิมะห์พูดคุยกับเพศตรงข้ามที่เป็นรุ่นน้องหรือจะเป็นบุคคลอื่นที่แต่งงานกับนางได้ ท่าทีของมุสลิมะห์จำเป็นจะต้องไม่แสดงกิริยาหรือพฤติกรรมอันเป็นผลทำให้เกิดพิตนะห์ ตัวอย่างเช่น ไม่ดัดเสียงให้หวาน ไม่ทำหน้าหวาน ไม่เล่นหูเล่นตา หรือไม่แสดงอาการพึงพอใจเมื่ออยู่ต่อหน้าบุคคลนั้นๆ

"และ (มุหัมมัด) จงกล่าวแก่บรรดาหญิงผู้ศรัทธาให้พวกนางลดสายตาของพวกนางลงต่ำ" (ซูเราะห์อัน-นูรฺ ซ 31)

"โอ้บรรดาภริยาของนบีเอ๋ย! พวกเธอไม่เหมือนกับสตรีใดๆ ในเหล่าสตรีอื่น หากพวกเธอย่ำเกรง (อัลลอฮฺ) ดังนั้นอย่าพูดจาไพเราะเพราะพริ้งนัก เพราะจะทำให้ผู้ที่หัวใจของเขามีโรคเกิดความโลภ (ปรารถนา) แต่จงพูดด้วยถ้อยคำที่เหมาะสม" (ซูเราะห์อัล-อะหฺซาบ : 32)

การที่มุสลิมลดสายตาลงต่ำเพื่อป้องกันมีให้เกิดการจ้องมองกันเป็นเวลานาน ครั้นเมื่อจ้องมองกันนาน ความพิสมัยความน่าภิรมย์จะติดตามมา ยิ่งพูดคุยกันสองต่อสองด้วยแล้ว ชัยฏอนยิ่งยุยงให้ทั้งคู่กระทำสิ่งที่เสียหายได้ไม่ยากเย็นนัก

ท่านรสูดุลลอฮฺ (ซ.ล.): กล่าวว่า

"ไม่อนุญาตให้ชายหญิงอยู่ด้วยกันสองต่อสองเว้นแต่ (หากทำเช่นนั้น) ชัยฏอนจะเป็นบุคคลที่สาม" (บันทึกโดย ติรฺมีซีย์)

ฉะนั้นหากพูดคุยกับเพศตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นรุ่นน้อง รุ่นพี่หรือชายอื่นที่แต่งงานกับนางได้ ควรพูดคุยในลักษณะที่เป็นธรรมชาติที่สุด โดยไม่มีจริตจะก้านไปในทางเย้ายวนเป็นอันขาด และซูเราะห์อัล-อะหฺซาบ อายะฮฺที่ 32 ยังกล่าวถึงการไม่พูดจาไพเราะเพราะพริ้งจนทำให้เพศตรงข้ามที่สนทนาด้วยเกิดความรู้สึกชื่นอกชื่นใจอย่างบอกไม่ถูก ดังกล่าวต้องละทิ้งอย่างเด็ดขาด เพราะหัวใจของแต่ละบุคคลคิดไม่เหมือนกัน หากผู้สนทนาคิดไปในทางที่ไม่ดี ฟิตนะห์ย่อมติดตามมาภายหลังอย่างแน่นอน ฉะนั้นหากต้องพูดคุยกับเพศตรงข้ามที่แต่งงานกันได้ จำเป็นจะต้องพูดจาธรรมดาโดยไม่ตัดเสียง และไม่ใช้สำนวนการพูดไปในทางเกี้ยวพาราสีหรือใช้สำนวนส่อในทางสองแง่สองง่าม

จึงสรุปได้ว่า แม้การพูดจาที่ดัดจนไพเราะ หรือการจ้องมองเพศตรงข้ามนานๆ ศาสนายังไม่อนุมัติให้กระทำเลย สำมะหาอะไรกับการทำหน้าหวานๆ กับเพศตรงข้าม อนึ่ง หากสตรีเผลอทำหน้าหวานขณะคุยกับเพศตรงข้าม ทำให้เขาเกิดพึงพอใจและคิดในทางสิเน่หา ความผิดก็จะเกิดกับผู้สนทนาด้วยเช่นกัน

ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า :

"ทุกๆ สายตา (ที่มองไปยังบุคคลที่แต่งงานกันได้ ด้วยความสิเน่หา) ถือว่าเป็นซินา" (บันทึกโดย ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 2933) 

หนังสือ:เธอไม่อายที่จะ..ถาม

https://islamhouse.muslimthaipost.com/article/23700

อัพเดทล่าสุด