เวลาที่ห้ามละหมาด คือเวลาใดบ้าง?


10,133 ผู้ชม


เวลาที่ห้ามละหมาด คือเวลาใดบ้าง?

ศาสนาอิสลาม มีข้อห้ามการละหมาด ในช่วงเวลาต่าง  ต่อไปนี้

1. เวลาตั้งแต่หลังละหมาดศุบฮฺ จนกระทั่งหลังดวงอาทิตย์ขึ้น

2. ขณะดวงอาทิตย์ขึ้น จนกระทั่งสูงเท่าด้ามหอก (ประมาณ 10 นาที)

3. ขณะดวงอาทิตย์อยู่กึ่งกลางท้องฟ้า (ช่วงประมาณ 10 นาที ก่อนได้เวลาซุฮรฺ)

4. ตั้งแต่หลังละหมาดอัศรฺ จนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า

 เวลาที่ห้ามละหมาด คือเวลาใดบ้าง?

โดยมีหลักฐาน เป็นฮะดิษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า

“ไม่มีการละหมาดใด ๆ หลังจากละหมาดอัศรฺ จนกว่าดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้า และไม่มีการละหมาดใด ๆ หลังจากละหมาดฟัจญ์รฺ (ละหมาดศุบฮฺ) จนกว่าดวงอาทิตย์จะขึ้น”

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม)

และอีกฮะดิษหนึ่ง รายงานจาก ท่านอุกบะฮฺ บิน อามิร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า

“มีสามช่วงเวลาที่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามพวกเราจากการละหมาดหรือ ฝังคนตาย คือ ในขณะที่ดวงอาทิตย์ขึ้น จนเริ่มจะสูงขึ้น และขณะอูฐยืนร้อน (ตอนเที่ยงตรง) จนกระทั่ง ดวงอาทิตย์เริ่มจะคล้อย และขณะที่ดวงอาทิตย์ต่ำลง แสงเริ่มเหลืองจนกระทั่งตกดิน”

(บันทึกโดย อิมาม มุสลิม)

อนึ่ง การห้ามละหมาดตามหัวข้อเรื่องนี้ ครอบคลุมเฉพาะการละหมาดสุนัตต้าเฏาวุอฺ ที่อยากละหมาดเพื่อเพิ่มพูนความดีที่อยู่ดี ๆ ก็อยากละหมาดในช่วงเวลาที่เขาห้ามละหมาดดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ละหมาดที่มีสาเหตุนำ

เช่น ละหมาดตะฮีย่าตุลมัสญิด เมื่อเข้าสู่มัสญิด หรือละหมาดฟัรฎูชดใช้ละหมาดฟัรฎู หรือละหมาดเมื่อเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา หรือจันทรุปราคา หรือละหมาดญะนาซะฮฺ ซึ่งมีสาเหตุทำให้ต้องละหมาด

ความเห็นของนักวิชาการด้านฟิกฮฺส่วนใหญ่ (นิติศาสตร์อิสลาม) เกี่ยวกับเวลาที่ห้ามละหมาดว่า ถ้าเป็นละหมาดฟัรฎูที่บุคคลนั้น ไม่ได้ทำในเวลาของมันเพราะลืม หรือเผลอหลับไป สามารถละหมาดฟัรฎูนั้นได้ในเวลาที่ห้ามเอาไว้นี้ได้ จะหลังละหมาดศุบฮฺ หรือหลังละหมาดอัศรฺ ถึงแม้ว่า จะบอกห้ามไว้ก็ตามทีเพราะหลักฐานจากฮะดิษยืนยันไว้ว่า

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดลืมละหมาด (ฟัรฏู) เขาจงละหมาดเสียเมื่อนึกขึ้นได้ (ในเวลาใดก็ตาม)”

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์ และอิมาม มุสลิม)

ส่วนการละหมาดสุนัตทั่วไปนั้น ถ้าไปละหมาดในเวลาที่ห้ามไว้ ซอฮาบะฮฺ และนักวิชาการ ส่วนใหญ่ เช่น ท่านเซด บิน ษาบิต ท่านอบู ฮุรอยเราะฮฺ และท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร มีฮุก่มว่าเป็นมักรู๊ฮฺ (ไม่ชอบให้ปฏิบัติ)

มัซฮับชาฟิอี เห็นว่า ถ้าเป็นละหมาดสุนัตที่มีสาเหตุนำ (ซึ่งกล่าวไว้แล้ว ว่ามีละหมาดอะไรบ้าง) อนุญาตให้ละหมาดในเวลาที่ห้ามได้ เช่น ละหมาดตะฮีย่าตุลมัสญิด เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นความเห็นที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

มัซฮับฮัมบาลี เห็นว่า การละหมาดในเวลาต้องห้ามดังกล่าวถือว่าต้องห้าม (ฮะรอม) ถึงแม้ละหมาดนั้น จะมีสาเหตุนำก็ตามที ยกเว้นการละหมาด 2 ร็อกอะฮฺหลังฏอวาฟ โดยอ้างหลักฐานฮะดิษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า

“วงศ์วานของอับดุลมานาฟเอ๋ย พวกท่านจงอย่าห้ามผู้หนึ่งผู้ใดฏอวาฟ ณ บ้านหลังนี้ (บัยตุลลอฮฺ) และอย่าห้ามละหมาด (สุนัตหลังเสร็จการฏอวาฟ) ในเวลาใดก็ตามที่เขาประสงค์ ทั้งกลางวัน กลางคืน”

ความเห็นของอิมามสี่มัซฮับ เกี่ยวกับการละหมาดขณะที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ดวงอาทิตย์ตก และขณะดวงอาทิตย์ตรงศีรษะ (เที่ยงตรง)

มัซฮับอิมามฮะนะฟี มีความเห็นว่า การละหมาดในเวลาดังกล่าวใช้ไม่ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นละหมาดฟัรฎู การละหมาดสุนัตต่าง ๆ จะเป็นละหมาดในเวลาของละหมาดนั้น ๆ หรือละหมาดชดใช้ ยกเว้นละหมาดอัศรฺของวันนั้น ที่มีเหตุให้ต้องละหมาดช้าไปจนต้องไปละหมาดเอาในเวลาที่ห้ามละหมาด ซึ่งถือว่าทำได้ในความเห็นของมัซฮับนี้ นอกจากนี้ ยังมีการละหมาดญะนาซะฮฺ (ละหมาดคนตาย) หากมีญะนาซะฮฺในเวลาที่ห้ามละหมาดนั้น ๆ ให้ละหมาดได้ไม่เป็นไร และยังเห็นรวมไปถึงการ สุญูดตี้ลาวะฮฺของผู้อ่านอัลกุรอาน (ซึ่งอยู่นอกเวลาละหมาด) ว่าทำได้ เมื่ออ่านมาถึงอายะฮฺที่ต้อง สุญูดตี้ลาวะฮฺ ถึงจะสุญูดในเวลาที่ห้ามละหมาดก็ตาม

มัซฮับซาฟิอี (ซึ่งได้กล่าวไปบ้างแล้ว) เห็นว่า การจะละหมาดสุนัตทั่วไป ที่ไม่มีเหตุนำในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นมักรู๊ฮฺ ส่วนละหมาดฟัรฎู หรือละหมาดสุนัตที่มีเหตุนำ หรือละหมาดสุนัตที่ไปละหมาดในเวลาที่ดวงอาทิตย์ตรงศีรษะ คือเที่ยงตรงพอดี ซึ่งห้ามละหมาดแต่ถ้าวันนั้น เป็นการละหมาดวันศุกร์ หรือการละหมาดสุนัตนั้นละหมาดที่มัสญิดฮะรอม ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นที่อนุมัติ สามารถทำได้ในความเห็นของมัซฮับนี้

มัซฮับมาลิกี อิมามมาลิกี มีความเห็นว่า การละหมาดสุนัตในช่วงเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น และดวงอาทิตย์ตก เพียงสองเวลานี้เท่านั้น ที่ไม่อนุญาตให้ทำ ถึงแม้ว่าละหมาสุนัตนั้น จะมีเหตุนำให้กระทำก็ตาม และหมายรวมไปถึงการละหมาดที่บนบานไว้ การสุญูดตี้ลาวะฮฺ และการละหมาดญะนาซะฮ์ ทำไม่ได้ ยกเว้นกลัวว่าศพจะมีการเปลี่ยนแปลง หากปล่อยไว้ กรณีนี้อนุญาตให้ละหมาดญะนาซะฮฺได้ มัซฮับนี้ยังเห็นอีกว่า ห้ามละหมาด ไม่ว่าละหมาดนั้นจะเป็นละหมาดฟัรฎู หรือละหมาดสุนัตก็ตาม

มัซฮับฮัมบาลี อิมามฮัมบาลี มีความเห็นว่า การละหมาดสุนัตทั้งหมด ห้ามละหมาดในช่วงสามเวลาที่ห้ามละหมาดดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นละหมาดสุนัตทั่วไปที่อยากละหมาด หรือละหมาดสุนัตที่มีเหตุนำให้ต้องละหมาด ไม่ว่าจะละหมาดที่มัสญิดฮะรอมมักกะฮฺหรือที่อื่น ๆ จะเป็นละหมาดในวันศุกร์ หรือวันอื่น ๆ ยกเว้นการละหมาตะฮียะตุลมัสญิด ไม่ถือว่ามักรู๊ฮฺ ถึงจะละหมาดตอนเที่ยง ซึ่งเป็นเวลาที่ห้ามละหมาดอยู่ก็ตาม ส่วนการละหมาดญะนาซะฮฺในเวลาต้องห้าม ก็ไม่อนุญาตให้ทำเว้นแต่ในกรณีที่กลัวศพจะเปลี่ยนแปลงสภาพ ให้ละหมาดได้ ส่วนละหมาดชดใช้ละหมาดที่หลงลืมได้ให้ละหมาดตามเวลา และการละหมาดสุนัตหลังฏอวาฟ ทำได้ในเวลาใดก็ได้

นี่คือความเห็นของนักวิชาการฟิกฮฺ สี่มัซฮับใหญ่ ๆ เกี่ยวกับเวลาที่ห้ามละหมาด ซึ่งพวกเขาวิเคราะห์โดยเอาหลักฐานจากคำสอนและการกระทำของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่ได้พูดกันเองลอย ๆ เราก็ต้องเคารพสิทธิในการวิเคราะห์ของพวกเขา ใครจะปฏิบัติตามมัซฮับใดก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ต้องเอาจริงเอาจัง จนทะเลาะเบาะแว้งกัน ใครจะไม่ละหมาดสุนัตต้าเฏาวุอฺนี้ ก็ไม่เกิดโทษ ใครละหมาดได้ก็เป็นคุณสำหรับเขา จึงฝากไว้เป็นข้อคิดและเป็นความรู้ เพื่อจะได้ทำกันให้ถูกต้องต่อไป

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร (25 มกราคม 2563)

ที่มา: www.islammore.com

อัพเดทล่าสุด