อาบน้ำวันอีด วิธีเหนียตอาบน้ำสุนัตวันตรุษฟิตริ มีกำหนดเวลาตั้งแต่เที่ยงคืนของวันตรุษ จนกระทั้งตะวันตก ในวันตรุษเวลาที่ดียิ่งนั้น ให้อาบหลังจากแสงอรุณขึ้นแล้ว ให้เหนียต อาบน้ำวันอีดว่า....
อาบน้ำวันอีด วิธีเหนียตอาบน้ำสุนัตวันตรุษฟิตริ
วันอีดิ้ลฟิตริ อัลฟิตริ แปลว่า สภาพเดิม เมื่อนำเอาคำว่า “อีด” มาประสม (สนธิ) กับ “อัลฟิตรฺ” จึงได้เป็นอีดิ้ลฟิตรฺ
มีความหมายว่า วันรื่นเริงเนื่องในการครบรอบเข้าสู่สภาพเดิม หรือเทศกาลของการเข้าสู่สภาพเดิม คือสภาพที่ไม่ต้องอดอาหาร ในระหว่างเดือนรอมฎอน (เดือนที่ 9 ของศักราชอิสลาม) มุสลิมจะถือศีลอดเป็นเวลา 1 เดือน (ดั่งได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น) ซึ่งบางคนเรียกว่า ถือบวช
ฉะนั้นวันอีดิ้ลฟิตริ คือวันรื่นเริงที่กลับสู่สภาพเดิมคือไม่ต้องถือบวช จึงนิยมเรียกวันนี้ว่า “วันออกบวช” หรือ “วันอีดเล็ก”
การอาบน้ำในวันอีดิ้ลฟิตริ เป็นสุนัตให้อาบน้ำในวันอีดแก่บุคคลทุกคนทั้งผู้ประสงค์จะไปหรือไม่ไปละหมาด ไม่จำกัดว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ หญิงหรือชาย มีกำหนดเวลาตั้งแต่เที่ยงคืนของวันตรุษ จนกระทั้งตะวันตก ในวันตรุษเวลาที่ดียิ่งนั้น ให้อาบหลังจากแสงอรุณขึ้นแล้ว ให้เหนียต อาบน้ำวันอีดว่า
"ข้าพเจ้าอาบน้ำวันตรุษฟิตริ ซึ่งเป็นสุนัต ลิลลาฮิตะอาลา"
อาบน้ำวันอีด วิธีเหนียตอาบน้ำสุนัตวันตรุษฟิตริ วิธีอาบน้ำวันอีดิ้ลฟิตริเหมือนกับการอาบน้ำวาญิบ ดังนี้
1. เหนียต (ตั้งเจตนา,นึกในใจ) ให้เหนียตว่า ( ข้าพเจ้าอาบน้ำวันตรุษฟิตริ ซึ่งเป็นสุนัต ลิลลาฮิตะอาลา )
2. กล่าวนามของอัลลอฮว่า ”บิสมิลลาฮ” (ความหมายว่า ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ)
3. ล้างมือทั้งสองข้างก่อนจุ่มน้ำในภาชนะ
4. ล้างทวารหนักและทวารเบาด้วยมือซ้าย โดยใช่มือขวาตักน้ำ
5. ล้างมือทั้งสองอีกครั้งหนึ่งด้วยสบู่
6. เริ่มอาบน้ำละหมาด
- ล้างมือ โดยเริ่มที่ข้างขวาก่อนเสมอ ขวา 3 ครั้ง แล้ว ซ้าย 3 ครั้ง
- บ้วนปากและสูดน้ำเข้าจมูกพ่นออก 3 ครั้ง
- ล้างหน้า 3 ครั้ง
- ล้างมือทั้งสองข้างจนถึงเลยข้อศอก (ขวาก่อนซ้าย) ขวา 3 ครั้ง แล้ว ซ้าย 3 ครั้ง
- เช็ดศรีษะ น้ำลูบผมและใบหูทั้งสอง 1 ครั้ง (อย่าเพิ่งล้างเท้า เก็บไว้ก่อน)
7. การใช้นิ่วขยี้รากผม (โดยมือจุ่มน้ำแล้วนำมาขยี้ให้ถึงรากของเส้นผมจนกระทั้งมั่นใจว่าทั่วทุกรากเส้นผมของศรีษะ)
8. เทน้ำรดเฉพาะศรีษะอีก 3 ครั้ง
9. เอาน้ำรดตั้งแต่หัว ผม ทั่วทั้งตัว ทุกซอกทุกมุม (สระผม ถูสบู่ เต็มที่เลยค่ะ) ให้สะอาด โดยอย่ากลับไปล้างส่วนของ(ข้อ4)ทวารหนักหรือเบาอีก เพราะจะเสียน้ำละหมาดทันที่ เรียกได้ว่า ในกระบวนการล้างนั้นห้ามทำสิ่งใดให้เสียน้ำละหมาด เช่น ฉี่หรือผายลม ฯลฯ ด้วย
10. เอาน้ำรดทั่วทั้งตัว 3 ครั้ง (หรือจะเริ่มรดน้ำด้านขวา 3 ครั้ง และด้านซ้าย 3 ครั้ง ก่อนก็ได้)
11. เมื่อสะอาดหมดแล้ว สุดท้าย ย้ายที่ยืนจากตำแหน่งเดิม และล้างเท้า 3 ครั้ง ขวาก่อนซ้าย
เมื่ออาบน้ำอย่างนี้แล้วเราก็พร้อมละหมาดได้ทันทีถ้าจะละหมาด เพราะมีน้ำละหมาดในตัว โดยไม่ต้องอาบน้ำละหมาดใหม่ (เฉพาะกรณีที่ถ้ายังไม่เสียน้ำละหมาดแบบที่ได้เคยบอกไป เช่น ฉี่ อึ นอนหลับโดยก้นไม่แนบสนิทกับพื้น / ผายลม ฯลฯ)