พี่น้องอาจถามว่า แล้วทำไมต้องมาวุ่นอยู่แค่นิสฟูชะบานเล่า? ทำไมไม่พูดถึงนิสฟูมุฮัรรอมบ้าง? หรือ ที่ควรต้องเอ่ยถึงควรจะเป็นนิสฟูรอมฎอน ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า ....
นิสฟูชะบาน มันคืออะไร สำคัญไฉน?
เมื่อพูดถึงเดือนชะบาน สิ่งที่เราหลายๆ คนมองเห็นกันในมโนภาพก็คือ คืนนิสฟูชะบาน นั้นอาจเป็นเพราะ คืนนั้นเรามักจะพบเห็นคนเขาปฏิบัติอามาลกันมากมายหลายรูปแบบและก็อีกเช่นเคย วิวาทะก็เกิดขึ้นมาอีกจนได้ภายในเดือน แห่งความมงคลนี้และไม่ใช่วิวาทะอะไรที่ไหนหรอกก็แค่คำว่า บิดอะฮฺดอลาละฮฺ หรือชิริก หรือฮารอม สองสามคำนี้ แค่นั้นเอง
“ชะบาน” คือ ชื่อของเดือนๆ หนึ่งจาก 12 เดือนของอาหรับ(ในรอบปี)และมันเป็นเดือนที่ถือได้ว่า มีเกียรติอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวซึ่งมุสลิมส่วนใหญ่ก็คงจะคุ้นเคยกับมันเป็นอย่างดีนั้นก็อาจเพราะว่า มีหลายฮาดีษเหลือเกินที่บ่งบอกถึงฐานันดรอันสูงส่งของมันเมื่อเดือนชะบานได้ย่างเข้ามาหลายต่อหลายคนคงได้ยินการพูดกันถึงเรื่องของคืน
“นิสฟูชะบาน” ใช่ไหม?
แล้วนิสฟูชะบานที่ว่านี้มันคืออะไรกันหรือ?
นิสฟู แปลว่า ครึ่งหนึ่งหรือกึ่งหนึ่ง นั้นก็หมายถึงใน 30 วันของเดือนชะบาน นี้ได้ถูกแบ่งออกเป็นสองช่วงคือ ครึ่งแรกและครึ่งหลัง และเราคงจะไม่นับว่า ถึงครึ่งหนึ่งของ 30 หากว่ามันไม่อยู่ใน ลำดับที่ 15
ฉะนั้น นิสฟูของเดือนชะบาน นั้นจึงหมายถึงวันที่ 15 ของเดือนนั้นเองส่วนคืนนิสฟูชะบานนั้นก็ให้คิดกันตั้งแต่ ค่ำลงของวันที่ 14 ชะบานนั้นเอง
พี่น้องอาจถามว่า แล้วทำไมต้องมาวุ่นอยู่แค่นิสฟูชะบานเล่า? ทำไมไม่พูดถึงนิสฟูมุฮัรรอมบ้าง? หรือ ที่ควรต้องเอ่ยถึงควรจะเป็นนิสฟูรอมฎอน ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า ทุกๆเดือนนั้นต่างก็มีความงดงามในตัวของมันอยู่แล้วแต่หากจะพูดถึงวันใดเดือนใดเป็นการพิเศษก็ควรจะแสวงหาบรรทัดฐานมาจากคำบอกเล่าขององค์ศาสดาน่าจะดีที่สุดใช่ไหมครับ?
สำหรับเดือนชะบาน นี้ท่านศาสดาเองได้เอ่ยถึงความประเสริฐของมันครั้งแล้วครั้งเล่า
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ฮาดีษที่ได้บันทึกโดยอีหม่ามบุคอรีและอีหม่ามมุสลิมสีบสายรายงานมาจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ด.ฮ) นางกล่าวว่า
مَا رَأيْتُ رَسُوْلُ الله .صَ. : إسْتَكْمَلَ صِيَامَ شَهْرٍِ قَطُّ, إلاَّ شَهْرَ رَمَضَانَ , وَمَا رَأيْتُهُ فِىْ شَهْرٍ كْثَـَرَ مِنْهُ صِيَامًا فِي شَعْبَانَ
ความว่า: “ ฉันไม่เคยเห็นท่าน ศาสดา (ซอลลัลลอฮูอาลัยฮิวาซัลลัม) ถือศีลอดในเดือนใดจนครบเดือนเลยนอกจากเดือนรอมฎอนและฉันก็ไม่เคยเห็นเดือนใดเลยที่ท่านได้ถือศีลอดเสียส่วนใหญ่มากกว่าเดือนชะบาน”(รายงาน โดย บุคอรีย์ ลำดับที่ 1868 และ มุสลิม ลำดับที่ 1156 )ท่าน อิบนุ ฮาญัร อัล อัซกอลานียฺ กล่าวว่า“ ฮาดีษดังกล่าวนั้น คือเครื่องยืนยันถึงความประเสริฐของการถือศีลอดในเดือนชะบาน”
(ฟัตฮุลบารียฺ เล่ม 4 หน้า 253 )มีสายรายงาน มาจากท่าน อุซามะฮฺ บิน เซด (ร.ด) ท่านได้กล่าวว่า:
ความว่า: “ ข้าพเจ้าได้ถาม(ท่านศาสดาว่า)โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺฉันไม่เคยพบว่าท่านนั้น จะทำการถือศีลอดในเดือนใดๆเลยเหมือนอย่างที่ท่านได้ถือศิลอดในเดือนชะบาน?ท่าน(ศาสดา)ได้กล่าวว่า“ เดือนนั้นคือเดือนที่ มนุษย์มักจะหลงลืมกัน.มันอยู่ระหว่างเดือนรอญับ กับเดือนรอมฏอนและมันเป็นเดือนที่บรรดาการงานต่างๆจะถูกยกไปยังอัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งโลกทั้งผองฉะนั้นฉันจึงชอบที่จะให้บรรดาอามาลการปฏิบัติของฉันถูกยกไปในขณะที่ฉันอยู่ในสภาพของผู้ถือศีลอด”(รายงาน โดยอาบูดาวุดและนาซาอียซึ่งท่าอิบนุคูซัยมะฮฺ ได้พิจารณาและตัดสินว่า มัน ซอเฮี้ยะ )
และได้มีสายรายงาน จาก อุมมูซาลามะฮฺ (ร.ด) นางได้กล่าวว่า :
ความว่า : “ ฉันไม่เคยเห็น(เดือนใดเลยที่)ท่านศาสดาซอลลัลลอฮูอาลัยฮิวาซัลลัมได้ทำการถือศีลอดสองเดือนติดต่อกันนอกจากเดือนชะบาน(ติดต่อ)กับรอมฎอนเท่านั้น (รายงานโดย อีหม่าม ตัรมีซียฺ ลำดับที่ 733 ซึ่งท่านเองได้ตัดสินว่ามันฮาซัน ) พี่น้องครับยังมีฮาดีษอีกมากมายที่บ่งบอกถึงความประเสริฐของเดือนชะบานแต่คงเป็นการเพียงพอแล้วใช่ไหมครับ..หากเราจะพิจารณาถึงคุณค่าของมันจากสองสามฮาดีษที่ผ่านมา...และเกี่ยวกับนิสฟูชะบานนั้นได้ปรากฏรายงานมาจากองค์ศาสดาเช่นเดียวกันครับ...ซึ่งท่าน อิหม่ามตัรมิซียฺได้ทำการบันทึกไว้ใน “ อัน-นาวาดีร” ของท่านและขณะเดียวกันท่านอีหม่ามฏอบรอนียฺก็ได้ทำการบันทึกไว้เช่นกันด้วยสายรายงานที่ฮาซันสืบสายรายงานมาจากท่านหญิงอาอีชะฮฺ(ร.ด.ฮ)ในขณะที่ท่านศาสดาได้ถามเธอว่า “โอ้อาอีชะฮฺ เธอรู้ไหมว่าคืนนี้เป็นคืนอะไร?” ซึ่ง นางก็ตอบว่า “ อัลลอฮ์และรอซูลเท่านั้นที่รู้ยิ่ง”
ท่านศาสดาเลยบอกเธอว่า :
ความว่า : “ ในค่ำคืนนี้คือคืนนิสฟูชะบานซึ่งอัลลอฮ์จะประทานอภัยโทษแก่บรรดาผู้ขออภัยในความผิดและพระองค์จะทรงเมตตาแด่บรรดาผู้วิงวอนขอความเมตตาจากพระองค์และจะทรงประวิงเวลา(แห่งการลงทัณฑ์)ต่อชนผู้อิจฉาริษยาเนื่องจากการริษยาของเขา”
นอกเหนือจากฮาดีษข้างต้นแล้วยังมีฮาดีษอีกหลายๆ บทที่บอกเราถึงความพิเศษของค่ำคืนนิสฟูชะบานเช่นฮาดีษที่บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺซึ่งสืบสายรายงานจากท่านคอลีฟะฮฺอาลี (ร.ด) ฮาดีษที่บันทึกโดยอิบนูมาญะฮฺ,ตัรมีซีย์และอีหม่ามอะฮ์หมัดสืบสายรายงานมาจากท่านหญิงอาอีชะฮฺ (ร.ด.ฮ) ฮาดีษที่บันทึกโดยอิบนูมาญะฮฺและอีหม่ามอะฮฺหมัดซึ่งสืบสายรายงานมาจากอาบูมูซา อัลอัช-อารีย์ (ร.ด) เป็นต้น
ซึ่งฮาดีษเหล่านั้นต่างก็บ่งบอกให้เรารับทราบถึงความประเสริฐของคืนนิสฟูชะบานที่ว่านี้ และขณะเดียวกันก็ยังมีฮาดีษที่ท่านอัล-บานีย์ ซึ่งเป็นปราชญ์วาฮาบีย์เองได้ให้การยอมรับ (ในซิลซีละฮฺอัล-อาฮาดีษ-อัซซอฮีฮะฮ์ของท่านลำดับที่ 1144 )นั้นก็คือ
“ อัลลอฮฺตาอาลาจะทรงมอง(ดูแล)ต่อปวงบ่าวของพระองค์ในคืนนิสฟูชะบาน ดังนั้นพระองค์ก็ได้อภัยโทษแก่บรรดาบ่าวทั้งหลายของพระองค์นอกเสียจากผู้ตั้งภาคีและผู้ที่ชอบทะเลาะเบาะแว้งกัน”
และยังมีฮาดีษอีกบทหนึ่งที่รายงานโดยท่าน อาลี (ร.ด) ว่าท่านศาสดาซอลลัลลอฮูอาลัยฮิวาซัลลัม ได้กล่าวว่า
“คืนนิสฟูชะบาน ฉะนั้นท่านจงทำให้คืนนั้น มีชีวิตชีวาด้วยการละหมาดและถือศีลอดในช่วงกลางวันของมันเถิดเพราะแท้จริงอัลลอฮฺจะลง(พระบัญชา)มาในค่ำคืนนั้นยังฟากฟ้าแห่งโลกนี้พระองค์ได้ตรัสว่า:
“ ผู้ใดที่เขาวิงวอนการอภัยโทษข้าก็จะอภัยผู้ที่วิงวอนขอปัจจัยยังชีพข้าก็จะประทานให้ผู้ใดที่ได้รับการทดสอบและภยันตรายใดข้าก็จะให้เขารอดพ้นจนกระทั่งฟ้าสาง” (บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺด้วยสายรายงานที่อ่อน)
หากเราลองมานึกกันดูดีๆ อีกทีก็คงจำกันได้ว่าบรรดาอุลามะอฺได้เห็นพ้องกันแล้วว่า ฮาดีษที่มีสายรายงานอ่อน(โดยที่ไม่ถึงขั้นอ่อนเอามากๆหรือไม่ก็เป็นฮาดืษเก๊ )อนุญาตให้นำมาใช้ในเรื่องราวแห่งการแสวงหาความประเสริฐได้และแม้ว่าฮาดีษบางต้นที่กล่าวมานั้นอาจจะถูกจัดอยู่ในสถานะที่อ่อนก็จริงแต่หากจะพิจารณาฮาดีษโดยรวมแล้วนั้นก็คงยากที่ปฏิเสธถึงคุณค่าและความประเสริฐของเดือนชะบานและคืนนิสฟูชะบานที่มีอยู่อย่างมากมายหากจะเทียบกับเดือนอื่นๆหรือค่ำคืนอื่นๆ
ท่านมูฮัมหมัดบินญารีรอัฎ-ฏอบรีย์ (ซึ่งมักคุ้นหูในชื่อว่า อิบนุญารีร ฮ.ศ. 224 – 310 ) ได้บอกความประเสริฐของค่ำคืนนิสฟูชะบาน เอาไว้ด้วยฮาดีษบทหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ใน ตัฟซีร ของท่าน ที่มีชื่อว่า “ ตัฟซีร อัฎ-ฏอบรียฺ”เล่มที่ 11 หน้าที่ 222 ดังนี้
ความว่า: “ รายงานจากท่าน อักริมะฮฺ ได้กล่าวว่า“ ในคืนนิสฟูชะบานนั้นอัลลอฮฺจะทรงบัญญัติ (ต่อมวลมาลาอิกัต) ถึงการงานและสิ่งที่จะอุบัติขึ้นในรอบปีและจะทรงลบรายชื่อของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วออกและจะบันทึกผู้ที่จะเสียชีวิตต่อไปในปีนั้นและจะทรงบันทึกรายชื่อของผู้ที่จะประกอบพิธิฮัจญ์ โดยจะไม่เพิ่มหรือลดลงแม้แต่คนเดียว"
และฮาดีษบทดังกล่าวนั้น ท่านอิบนุลมุนซิร และท่านอาบีฮาติม ก็ได้ทำการรายงานเอาไว้เช่นกัน ยังมีฮาดีษอีกหลายบทที่ไม่ได้นำมาเสนอในที่นี้และฮาดีษต่างๆ เหล่านั้นต่างก็มีสถานะที่แตกต่างกันไปบ้างก็ซอเฮี้ยะบ้างก็ฮาซันและบ้างก็ดออิฟ แต่หากเรามองในภาพรวมแล้วก็ไม่อาจปฏิเสธถึงการส่งเสริมให้มีการปฏิบัติอามาลในค่ำคืนดังกล่าวนั้นเองท่านเชคซอฟียุดรอฮฺมานได้กล่าวไว้ในตำรา “ตุฮฺฟะตุลอะฮฺวาซี”อรรถาธิบายฮาดีษของซุนันตัรมีซีย์ที่ 3 หน้าที่ 365 ว่า:
ความว่า: “พึงทราบเถิดแท้จริงแล้วนั้นมีหลายๆฮาดีษที่ได้รายงานเกี่ยวกับเรื่องของความประเสริฐแห่งค่ำคืนนิสฟูชะบานซึ่งโดยรวม(ของฮาดีษ)แล้วนั้นมันบ่งชี้ว่าความประเสริฐต่างๆที่ว่านั้นมันมีต้นตอ(หลักฐาน)ที่มาที่ไปและส่วนหนึ่งจากฮาดีษเหล่านั้นก็คือ(ท่านเชคได้ยกฮาดีษมาขอรวบรัดเอาข้อสรุป)
ฉะนั้น ด้วยฮาดีษต่างๆ ที่กล่าวมานั้นโดยรวมแล้วก็นับว่าเป็นหลักฐานโต้แย้งเหนือผู้ที่คิดกันไป(เอง)ว่าไม่ปรากฎหลักฐานใดๆเกี่ยวกับความประเสริฐของคืนนิสฟูชะบานอยู่เลย”
เมื่อเรารับทราบแล้วว่า คืนนิสฟูชะบานนั้นมีความประเสริฐและอิสลามก็ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติคุณความดีขึ้นในค่ำคืนนั้นพี่น้องบางคนอาจจะสงสัยขึ้นว่าแล้วในคืนนั้นเราจะทำอะไรกันบ้างหละ?--ท่านอีหม่ามชาฟีอีย์ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ อัลอุม” ของท่านเล่ม 2 หน้า 264 ว่า“ ได้มีรายงานมาถึงเราว่า
ความว่า: “ แท้จริงแล้วนั้นคำวิงวอนจะถูกตอบรับ(เป็นพิเศษ)ในห้าคืนด้วยกันในคืนวันศุกร์(วันพฤหัสค่ำลง)และคืนวันตรุษอัฎฮา,คืนวันตรุษฟิตรี,ค่ำคืนแรกของเดือนรอญับและคืนนิสฟูชะบาน"(รายงานโดยท่านอีหม่ามบัยฮากีย์ใน “ซุนันกุบรอ” ของท่าน)
ท่านอีหม่ามซายูฎีย์(ร.ฮ)ได้บันทึกฮาดีษบทหนึ่งไว้ใน“อัล-ญามิอฺ อัซ-ซอฆีร” ของท่านซึ่งมีรายงานมาจากอิบนุอาซากีรและอาบูอุมามะฮฺ
ความว่า: “มีอยู่ห้าค่ำคืนที่การวิงวอนต่างๆในคำคืนนั้นอัลลอฮฺจะมิปฎิเสธคืนแรกของเดือนระยับคืนนิสฟูชะบานคืนวันศุกร์และคืนวันตรุษทั้งสอง(อิดิลฟิตรี,อิดิลอัฎ-ฮา)"
จากคำกล่าวของอีหม่ามชาฟีอียฺและฮาดีษที่บันทึกโดยอีหม่ามซายูฏีย์ ใน “ ญามีอิซ-ซอฆีร” ของท่านก็น่าจะทำให้เราได้รู้ว่าสิ่งหนึ่งที่มัสฮับของเราส่งเสริมให้กระทำในคืนนิสฟูชะบานนั้นก็ คือการวิงวอนขอดุอาต่ออัลลอฮฺตาอาลาสุดเท่าที่เราสามารถจะปฏิบัติได้
พี่น้องบางท่านอาจถามขึ้นอีกว่า แล้วจะขอดุอาอะไร? นบีสอนไว้หรือเปล่า ? คำตอบก็คือท่านศาสดาไม่ได้สอนดุอาอ์เฉพาะสำหรับคืนนั้นไว้
ทั้งนี้จุดประสงค์หนึ่งก็เพื่อไม่ต้องการให้อุมมัตของท่านพะวงอยู่กับดุอาอ์ใดดุอาอ์หนึ่งจนเกินไปแต่ให้วิงวอนด้วยดุอาที่หลากหลายและแตกต่างกันไป พี่น้องอาจจะถามขึ้นอีกว่าแล้วการทำอิบาดัต มันมีรูปแบบที่ตายตัวหรือ?
ก่อนอื่นต้องขอบอกไว้ก่อนว่า รูปแบบและวิธีการทำอิบาดัต ในค่ำคืนนี้นั้น ท่านศาสดาไม่ได้กำหนดรูปแบบที่ตายตัวเอาไว้ แต่การกำหนดรูปแบบและการปฎิบัติอามาลกันอย่างแข็งขันนั้น ได้ปรากฎขึ้นในสมัยของเหล่าตาบีอีนแห่งแผ่นดินชาม
ซึ่งในการนี้ท่าน อัล-ฮาฟิซ อับดุร-รอฮฺมานบินอะฮฺหมัดอัล-ฮัมบาลีย์ซึ่งคนทั่วไปรู้จักท่านดีในชื่อว่า “ อิบนุรอญับ”( ฮ.ศ.736-795)ท่านได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่านขื่อว่า“ ลาฏออิฟุลมาอาริฟ” หน้า 263 ว่า
ความว่า: “ และคืนนิสฟูชะบานนั้นบรรดาตาบีอีน (หมายถึงผู้พบเจอหรือร่ำเรียนกับซอฮาบัต) จากชาวแผ่นดินชามเช่นท่านคอลิด บิน มะดาน(เสียชีวิต ฮ.ศ.104)และท่าน มักฮูล(อัชชามียฺ ) ท่านลุกมานบินอามิร(อัลเอาซอบียฺ)และท่านอื่นๆอีกมากมายเขาเหล่านี้ได้ให้เกียรติแก่ค่ำคืนนี้มากเลยทีเดียวขยันขันแข็งและขมักขะเม้นในการทำอิบาดัตในค่ำคืนนั้นและมนุษย์(ส่วนใหญ่)ก็ได้รับรายงานเกี่ยวกับความประเสริฐของค่ำคืนนี้มาจากพวกเขา
ท่านอิบนุรอญับ ได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันหน้าเดียวกันอีกว่า ปวงปราชญ์แห่งแผ่นดินชามได้มีความเห็นต่างกันในรูปแบบการทำอิบาดัตในค่ำคืนนั้นอยู่ 2 ทรรศนะด้วยกัน
ทรรศนะที่ 1 เห็นว่าควรกระทำการอิบาดัตกันเป็นหมู่เหล่าในมัสยิด
ซึ่งท่านคอลิดบินมะดานและท่านลุกมานบินอามิรรวมทั้งคนอื่นๆ ต่างก็ได้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์อันงดงามมีการจุดเครื่องหอมรมควันกันมีการทาตา(ด้วยยาทาตา)กันและคืนนั้นก็ทำการละหมาดกันในมัสยิดและสิ่งดังกล่าวนี้ท่านอิสหากบิน รอฮาวียะฮฺ( ฮ.ศ. 161- 238)ก็ได้เห็นคล้องต้องกันด้วยและท่าน(อิสหาก)เองก็ได้กล่าวเกี่ยวกับการละหมาดภายในมัสยิดเป็นญามาอะฮฺกันในค่ำคืนนั้นว่า: มันไม่ถือเป็นบิดอะฮฺหรอก
ซึ่งคำกล่าวนี้ท่านฮัรบุบินอิสมาอิลอัลกัรมานียฺ(เสียชีวิต ฮ.ศ. 280)ได้รายงานมาจากท่าน(อิสฮาก)เองโดยได้บันทึกไว้ในหนังสือ “มาซาอิล” ของท่าน
ส่วนทรรศนะที่ 2 เห็นว่าไม่เป็นการสมควรที่จะรวมตัวกันในค่ำคืนนั้นภายในมัสยิดไม่ว่าจะเพื่อการละหมาดก็ดีหรือบอกเล่าชีวประวัติต่างๆ ก็ดี หรือเพื่อการขอดุอาก็ดีและถือว่าไม่น่ารังเกียจ(ไม่มักรูฮฺ) หากว่า คนๆหนึ่งนั้นได้กระทำการละหมาดในมัสยิดเพียงเฉพาะตัวเขาคนเดียว
และ ทรรศนะที่ 2 คือทรรศนะของท่านอัล-เอาซาอียฺ( ฮ.ศ.88-157) ผู้นำแห่งชาวเมืองชามและเป็นผู้รู้แห่งเมืองนั้นและทรรศนะนี้(น่าจะเป็น)ทรรศนะที่ถูกต้องที่สุดสำหรับฉัน (ผู้เขียนหนังสือ “ ลาฏออิฟุลมาอาริฟ”)(โปรดดู หนังสือ “ ลาฏออิฟุลมาอาริฟ”ของท่าน อิบนุรอญับ หน้า 263 ประกอบนะครับ )
การทำอิบาดัตในค่ำคืนนี้ นั้นถือเป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมให้กระทำ ส่วนเรื่องรูปแบบวิธีการนั้นท่านศาสดาไม่ได้กำหนดตายตัวไว้ ดังนั้นชาวซาลัฟแห่งแผ่นดินชามจึงมีทรรศนะที่แตกต่างกันออกเป็นสองทรรศนะด้วยกัน
-ท่านอิบนุตัยมียะฮฺ (ได้กล่าวไว้ใน“ อัลฟาตาวา อัล-กุบรอ”เล่ม 2 หน้า 262 และคำกล่าวเดียวกันยังมีบันทึกอยู่ใน “ มัจญมุอฺฟาตาวา “ ของท่านเช่นกันเล่มที่ 23 หน้า 131 ไว้ว่า
مسألة : في صلاة نصف شعبان ؟ . الجواب : إذا صلى الإنسان ليلة النصف وحده ، أو في جماعة خاصة كما كان يفعل طوائف من السلف ، فهو أحسن
ความว่า : “คำถามเกี่ยวกับการละหมาดในคืนนิสฟูชะบาน? คำตอบ..เมื่อบุคคลหนึ่งได้ทำการละหมาดในค่ำคืนนิสฟูชะบานเพียงคนเดียวหรือได้ละหมาดเป็นญามาอะฮฺเฉพาะกลุ่มดังที่ชาวซาลัฟหลายๆกลุ่มได้ปฏิบัติกันก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดียิ่ง ”
อ้าว...อิบนุตัยมียะฮฺเองยังเอ่ยถึงการทำอามาลในคืนนี้ในรูปแบบเฉพาะเช่นนี้แต่ทำไมผู้ที่เคารพเทิดทูนท่านถึงมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป
ทำไมต้องอ่านซูเราะฮฺยาซีนด้วย? อ่านซูเราะฮฺอื่นไม่ได้เหรอ?
คำตอบก็คือ เมื่อเรารับทราบกันแล้วว่ารูปแบบการทำอามาลในคืนนิสฟูชะบานนั้นสามารถกระทำได้หลากหลายสุดแล้ว แต่ความสามารถของแต่ละคนที่พึงปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นการอ่านอัลกุรอานหรือซิกรุลลอฮฺหรืออื่นๆ
ฉะนั้นการอ่านอัลกุรอานนั้นไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เฉพาะการอ่านซูเราะฮฺยาซีน เราสามารถอ่านซูเราะฮฺอื่นๆ เพื่อแสวงหาความพอพระทัยจากองค์อัลลอฮฺได้อย่างไม่จำกัดแต่เนื่องจากมนุษย์ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยมีเวลาในการอ่านอัลกุรอ่านมากนักและเมื่อมีโอกาสรวมตัวกันเพื่ออ่านอัลกุรอ่านกันนานๆที อุลามะอฺบางท่านจึงได้กำหนดให้อ่านซูเราะฮฺยาซีนกัน
ท่าน เชค อัลมุฮัดดิษ มูฮัมหมัด บิน ดูรวัยชฺ อัลฮูต อัลบัยรูตีอัชชาฟีอีย์ (ฮ.ศ.1209-1276) ได้กล่าวไว้ใน หนังสือ “ อัซนัล-มาฏอลิบฯ” ของท่านหน้า 234 ว่า:
ความว่า : “ อนึ่งการอ่านซูเราะฮฺยาซีนในคืนนิสฟูชะบานภายหลังจากละหมาดมัฆริบกันเสร็จแล้ว และก็อ่านดุอาอันเป็นที่แพร่หลายกัน(หลังจาก การอ่าน ยาซีน)นั้นถือได้ว่าเป็นรูปแบบที่กำหนดโดยอุลามาอฺบางท่าน (ซึ่งชื่อของอุลามะอ์ท่านนั้นยังเป็นที่เห็นต่างกันอยู่) บางทรรศนะก็บอกว่าเป็น (การกำหนดของ)ท่าน (เชค อะฮฺหมัด บิน อาลี) อัลบูนีย์ (อัลมาลีกี มีชีวิตใน ฮ.ศ.520-622) และการปฏิบัติอย่างนี้ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจแต่ประการใด”
ท่านเชค อะฮฺหมัด บิน อุมัร อัด-ดีรฺบีย์ อัช-ชาฟีอีย์(เสียชีวิตฮ.ศ.1151) ได้กล่าวไว้ใน หนังสือ ของท่านที่มีชื่อว่า“ ฟุตฮุลมาลิกิล มาญีด” หน้า 19 ว่า:
ความว่า: “และหนึ่งในความพิเศษของซูเราะฮฺยาซีนนั้นดังที่อุลามะอฺบางท่านได้กล่าวไว้ นั้นก็คือ การที่ท่านได้อ่านมัน 3 จบในคืนนิสฟูชะบานซึ่งครั้งแรกนั้นให้ตั้งเจตจำนงค์ (ขอต่ออัลลอฮ์)ให้ประทานอายุที่ยืนยาว.ครั้งที่สองนั้นตั้งเจตนาขอให้รอดพ้นจากภัยร้ายต่างๆและครั้งที่สามตั้งเจตนาขอจากอัลลอฮฺให้เราหลุดพ้นจากมนุษย์(คืออยู่อย่างไม่แร้นแค้น)”
ท่าน เชค อับดุร-รอมาน บิน มูฮัมหมัด บาอาลาวีย์(ฮ.ศ.1250-1320)ได้กล่าวไว้ในหนังสือของท่านที่ชื่อว่า“ ตัลคิส ฟาตาวา อิบนิ ซิยาด” หน้า 301 ว่า:
ความว่า: “ ฮาดีษบทหนึ่งที่บอกว่า“ ซูเราะฮฺ ยาซีนนั้น สามารถที่จะอ่านเพื่อให้บังเกิดวัตถุประสงค์ตามที่เจตนาไว้” ถือเป็นฮาดีษที่ไม่มีต้นสายปลายเหตุแต่ว่าฉันก็ไม่เคยพบว่าอุลามะอฺท่านใดที่กำหนดว่ามันคือ ฮาดีษ เก๊ (หมายความว่า ไม่ถึงขั้น เมาดุอฺ) ฉะนั้น จึงเป็นไปได้ที่ว่าฮาดีษบทนี้นั้นหมายถึงไม่มีต้นตอแห่งความซอเฮี้ยะ (ซึ่งก็หมายถึงดออิฟนั้นเอง)และข้าพเจ้าก็มั่นใจเหลือเกินว่าการรายงานฮาดีษบทนี้ด้วยถ้อยคำที่ไม่ฟันธงลงไป(ซี่งเขาเรียกว่าซีเฆาะตัมรีด)นั้นถือเป็นที่อนุญาตเช่นกล่าวว่า:
“ได้มีรายงานมายังฉัน” เป็นต้น ดังที่ลูกศิษย์ลูกหาของท่าน เชค อิสมาอิล อัลญาบารีตียฺ ได้ทำกัน”(หมายเหตุเชคอิสมาอิล อัลญาบารีตียฺ น่าจะหมายถึง เชค อิสมาอิล บิน อิบรอฮีม บิน อับดุซซอมัด อัลญาบารีตีย์เป็นอาจารย์ท่านหนึ่งของท่านเชคอับดุลการีม อัล-ญีลียฺ เสียชีวิต ฮ.ศ.806 ผู้เขียน)ท่าน อิบนุกาษีร ได้กล่าวไว้ใน“ ตัฟซีร อัลกุรอ่าน อัลอาซีม” เล่มที่ 3 หน้า 742 ซึ่งท่านเองได้อ้างอิงคำกล่าวนี้มาจาก ผู้รู้ท่านหนึ่งว่า:
ความว่า: “ ส่วนหนึ่งจากคุณประโยชน์พิเศษของซูเราะฮฺ (ยาซีน) นี้ก็คือ การงานใดที่ยากลำบากแสนเข็ญที่ได้มีการอ่านซูเราะฮฺยาซีนนั้น อัลลอฮฺก็จะประทานความง่ายดายแก่มัน”
สรุปสั้นๆก็คือ คืนนิสฟูชะบาน นั้นศาสนาส่งเสริมให้เราปฏิบัติอามาลให้มากๆ และส่วนหนึ่งจากอามาลที่ควรปฏิบัตินั้นคือการอ่านอัลกุรอานและด้วยเหตุนี้อุลามะอฺบางท่านได้กำหนดให้อ่านซูเราะฮฺยาซีนกันซึ่งก็ถือว่า เป็นที่อนุมัตเพราะมันยังคงวางอยู่บนรากฐานแห่งการอ่านอัลกุรอ่านและที่เจาะจงด้วยซูเราะฮฺยาซีนนั้นก็เพราะว่า มันมีคุณประโยชน์พิเศษบางประการที่มีความเหมาะสมกับบริบทแห่งค่ำคืนนี้นั่นเอง
มีหลายคนถามว่า แล้วดุอาอ์นิสฟูชะบานที่เขาอ่านกันทั่วไปนั้น เป็นดุอาที่ท่านศาสดาสอนเอาไว้หรือ? หรือว่าใครกำหนดให้อ่าน...?
คำตอบ ก็คือ ดุอานิสฟูชะอฺบานไม่ปรากฏสายรายงานใดๆ เกี่ยวกับดุอาคำวิงวอนเฉพาะสำหรับคืนนิสฟูชะบาน อันหมายถึงเราสามารถอ่านดุอาต้นใดๆในค่ำคืนดังกล่าวก็ได้ แต่อุลามะอฺรุ่นก่อนบางท่านได้กำหนด ดุอาขึ้นมาให้สอดคล้องกับบริบทของคืนอันมงคลนี้ทั้งนี้ได้พิจารณาจากทรรศนะของปวงปราชญ์เกี่ยวกับพระดำรัสของอัลลอฮในอัลกุรอ่านซูเราะฮฺอัด-ดุคอน โองการที่ 3-4 ที่ว่า
إِنَّا أَنْزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةٍ مُبَارَكَةٍ إِنَّا كُنَّا مُنْذِرِينَ فِيهَا يُفْرَقُ كُلُّ أَمْرٍ حَكِيمٍ
ความว่า : “ แท้จริงนั้นเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในค่ำคืนหนึ่งอันเป็นมงคลแท้จริงเรานั้นเป็นผู้สำทับให้เกรงกลัว ในคืนนั้นการงานต่างๆอันเปี่ยมด้วยวิทยปัญญาได้ถูกจำแนกแจกแจงไว้แล้ว"
พระดำรัสที่ว่า “ในคืนนั้นการงานต่างๆ” บรรดาอุลามะอฺได้มีทรรศนะที่แตกต่างกันบ้างก็บอกว่าคืนนั้นคือคืนลัยลาตุลกอดร
ที่มา: Miftah Students in Jordan