ความริษยา เป็นตัวเผาผลาญความดี มันเป็นเปลวเพลิงที่อันตรายเมื่อใครจุดมันขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องยากที่จะดับและมันจะลุกลามไปทั่วทุกแห่งอย่างรวดเร็ว...
ความริษยา เปลวเพลิงที่อันตรายเมื่อมุสลิมจุดมันขึ้นมา
ความริษยา เป็นตัวเผาผลาญความดี มันเป็นเปลวเพลิงที่อันตรายเมื่อใครจุดมันขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องยากที่จะดับและมันจะลุกลามไปทั่วทุกแห่งอย่างรวดเร็ว
ท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
إياكم والحسد فإن الحسد يأكل الحسنات كما تأكل النار الحطب
"พวกท่านจงระวังความอิจฉาริษยา เพราะแท้จริงความอิจฉาริษยานั้นจะกัดกินบรรดาความดีงาม เหมือนกับที่ไฟกินฟืน" (หะดีษ เกี่ยวกับ อิจฉาริษยา : รายงานโดย อบูดาวูด)
ความริษยามี 3 ประเภท
1) ความริษยาประเภทแรกเป็นความริษยาที่เลวที่สุด
มันเกิดขึ้นเมื่อหัวใจร้อนรุ่มทันทีที่เห็นคนอื่นได้รับความโปรดปรานหรือความดีงาม
คนริษยาประเภทนี้อยากจะฉกฉวยความโปรดปรานมาจากผู้ได้รับมาเป็นของตน
2) ความริษยาประเภทที่สองเป็นสิ่งที่น่าเกลียดและเป็นอันตราย
มันเกิดขึ้นเมื่อคนที่ริษยาต้องการที่จะได้รับความโปรดปรานบางอย่าง
และไม่อยากให้คนอื่นได้รับความโปรดปรานนั้นบ้าง
3) ความริษยาประเภทที่สามเป็นสิ่งที่พอรับได้ มันเกิดขึ้นเมื่อคนที่ริษยา
ต้องการให้ตัวเองได้รับความโปรดปรานเช่นเดียวกันกับคนอื่น
และไม่คิดอะไรต่อผู้ที่ได้รับความโปรดปราน
ความริษยามีผลอย่างไร
1.ความริษยาทำใหชัยตอนไม่ยอมเชื่อฟังและเป็นสาเหตุให้มันต้องถูกเผาในไฟนรกชั่วนิรันดร์
2. ความริษยานำไปสู่การฆาตกรรมครั้งแรกบนโลก นั่นคือ กอบีลได้สังหารฮาบีลน้องชายของเขา
3. ความริษยาทำพวกยิวปิดตาตัวเองไม่ยอมเชื่อท่านรอซูลุลลอฮฺและคำสอนที่ท่านนำมา ทั้งๆที่คนพวกนี้รู้จักท่านเหมือนกับที่พวกเขารู้จักลูกหลานของตัวเอง
4. ความริษยาอีกเช่นกัน ที่ทำให้พวกบูชารูปเคารพคิดที่จะชักนำมุสลิมทุกคนให้หลงผิด
มุสลิมเราจะป้องกันตัวเองให้พ้นจากความริษยา ได้อย่างไร ?
ท่านนบีมุฮัมหมัด ได้ให้เครื่องมือที่ดีที่สุดในการปกป้องเราให้พ้นจาก ความชั่วร้ายของการริษยา นั่นคือ
การอ่านกุรอานซูเราะห์อัลอิคลาศ, ซูเราะห์อัลฟะลัก และซูเราะห์ อันนาส
ดังนั้นจงอ่านซูเราะห์ดังกล่าว ทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน (โดยเฉพาะหลังการละหมาดทุกครั้ง และก่อนเข้านอน) นอกจากนี้แล้ว ก็ให้อ่านดุอาฮฺขอความคุ้มครองให้พ้นจากเวทมนต์คาถาที่ชั่วร้ายด้วย
ในคัมภีร์อัลกุรอาน มีเรื่องราวหลายตอนที่กล่าวถึงอันตรายและความชั่วร้ายของการริษยา เมื่อเราอ่านเรื่องราวของนบียูซุฟกับพี่ๆ ของท่าน เราจะเห็นได้ทันทีถึงอันตรายของความริษยาว่า มันทำให้คนตาบอดได้อย่างไร มันทำให้หัวใจของคนหมดความเมตตาปราณีอย่างไร และมันทำให้คนริษยาสร้างความเจ็บปวดแก่คนที่ถูกริษยาได้อย่างไร คัมภีร์อัลกุรอานเล่าให้เราได้ทราบว่า เมื่อพวกพี่ๆ ของเขากล่าวซึ่งกันและกันว่า
“จงรำลึกขณะที่พวกเขากล่าวกันว่า แน่นอนยูซุฟและน้องชายของเขาเป็นที่รักของพ่อมากกว่าพวกเรา ทั้งๆ ที่เรารักใคร่กลมเกลียวกันก็ตาม แน่นอนเลยว่าพ่อของเราคงจะมีจิตใจเอนเอียงแน่ๆ ดังนั้น พวกเราจงฆ่ายูซุฟเสียหรือไม่ก็เอาเขาไปโยนทิ้งเสียที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อที่พ่อของเจ้าจะได้หันมาให้ความสนใจพวกเราอย่างเดียว หลังจากนั้นพวกเจ้าก็จะกลายเป็นคนดี” (ซูเราะฮฺยูซุฟ 12: 8-9)
อีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายของความริษยาก็คือ เรื่องราวของกอบีลและฮาบีล สองพี่น้องลูกชายของนบีอาดัม คัมภีร์อัลกุรอานเล่าให้เราได้ทราบว่า กอบีลได้ฆ่าฮาบีลอย่างเหี้ยมโหด เพราะความริษยา ทั้งนี้เนื่องจากอัลลอฮฺทรงรับการพลีถวายของฮาบีล แต่ไม่ทรงรับของกอบีล (ซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ 5: 27-28, 30)
ความริษยาที่น่าประณามก็คือ ความไม่ต้องการให้ผู้ถูกริษยาได้ดี ดังนั้น เมื่อใครเกลียดชังสิ่งใด เขาก็จะเจ็บปวดและเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ความรู้สึกเช่นนี้จะกลายเป็นโรคร้ายในหัวใจของเขา ถึงขนาดที่ว่าเขาจะมีความสุขก็ต่อเมื่อเขาเห็นคนที่เขาริษยาไม่ได้รับความดี ถึงแม้ว่าเขาเองจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ก็ตาม นอกจากความสบายใจที่เห็นคนอื่นไม่ได้ดี
อย่างไรก็ตาม ความเจ็บปวดก็ไม่ได้หมดไปจากคนริษยา เพราะเขาจะต้องคอยเฝ้าติดตามคนที่เขาริษยาอยู่ตลอดเวลา เพื่อความสบายใจที่เห็นคนที่เขาริษยาไม่ได้รับสิ่งดีงาม และบางทีเขาอาจจะต้องเจ็บปวดมากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกับคนที่ป่วยทางร่างกาย เมื่อคนที่เขาริษยาได้รับความดีงามมากขึ้น
ท่านรอซูล ได้กล่าวว่า
“ฉันขอสาบานด้วยพระองค์ผู้ทรงกำชีวิตของฉันไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า พวกท่านจะยังไม่ศรัทธาจนกว่าเขาจะรักเพื่อพี่น้องของเขาเช่นเดียวกับที่เขารักเพื่อตัวของเขาเอง” (หะดีษ เกี่ยวกับ อิจฉาริษยา : รายงานโดยบุคอรีและมุสลิม )
สังคมที่สงบสุขปราศจากการทะเลาะวิวาท สังคมที่ไม่มีการทะเลาะวิวาทนั้นบ่งบอกให้รู้ว่า คนที่อยู่ในสังคมนั้นมีหัวใจบริสุทธิ์ ห่างไกลจากโรคต่างๆ ที่ทำให้สังคมนั้นตกต่ำ
อัลลอฮฺทรงสั่งพวกเราให้ขอพร ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า
“และบรรดาผู้ที่มาหลังจากพวกเขา โดยพวกเขากล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของเราโปรดอภัยให้แก่เราและพี่น้องของเราผู้ซึ่งได้ศรัทธาก่อนหน้าเรา และขอพระองค์อย่าได้ให้มีการเคียดแค้นเกิดขึ้นในหัวใจของเราต่อบรรดาผู้ศรัทธา ข้าแต่พระเจ้าของเรา แท้จริง พระองค์ท่านเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (ซูเราะฮฺอัลหัซร์ 59: 10)
จากโองการที่ได้กล่าวมานั้น บ่งบอกให้รู้ว่า พระองค์ได้ทรงสอนให้เราขอพร (ดุอาอฺ) เพื่อให้ห่างไกลจากการอิจฉาริษยาและความแค้นนั้นจะลบล้างความดีของคนคนหนึ่งได้
ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ ได้กล่าวว่า
“แท้จริง ท่านนบีมุฮัมหมัด ได้กล่าวว่า พวกท่านจะต้องระวังการอิจฉา เพราะแท้จริง การอิจฉานั้น มันจะกินความดีเหมือนไฟกินฟืน หรือท่านนบีได้กล่าวว่า (ไฟกิน) หญ้า” (หะดีษ เกี่ยวกับ อิจฉาริษยา รายงานโดย อบูดาวูด และอิบนุมาญะฮฺ)
ท่านนบีมุฮัมหมัด ห้ามประชาชาติของท่านจากการเป็นผู้อิจฉา นอกจาก 2 ประการ คือ
“ห้ามอิจฉา ยกเว้น 2 ประการ คือ
ชายคนหนึ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานทรัพย์สมบัติแก่เขา แล้วเขาก็ใช้จ่ายทรัพย์นั้นในหนทางที่เป็นสัจธรรม
และชายคนหนึ่งที่อัลลอฮฺประทานวิทยปัญญาให้แก่เขา และเขาใช้วิทยปัญญานั้นและสอนผู้อื่น”
ความอิจฉาทั้งสองประการนี้ เป็นที่อนุญาตตามฮะดิษที่กล่าวมาข้างต้น
ความอิจฉา คือ การหวังที่จะให้ความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่ทรงประทานให้กับผู้อื่นหมดไป ถึงแม้ว่าความโปรดปรานของอัลลอฮฺนั้น จะกลับมาสู่ตัวเองหรือไม่ก็ตาม ความอิจฉาดังกล่าวนี้เป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลาม เพราะจะส่งผลกระทบต่อความดีที่ได้กระทำมาแล้ว
ความอิจฉา ที่อนุญาต หมายถึง ความหวังที่จะได้ความโปรดปรานจากอัลลอฮฺเสมือนเขาและความโปรดปรานนั้นยังคงอยู่กับเขาเหมือนเดิม และความอิจฉาดังกล่าวเป็นสิ่งที่อนุญาตในศาสนาอิสลาม เพราะไม่กระทบคนอื่น
ผู้ที่มีโรคอิจฉานั้น จะทำให้การใช้ชีวิตอย่างไม่มีความสุขและไม่สบายใจกับความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่ทรงให้ต่อผู้อื่น และทำให้เกิดมีการสงสัยที่ไม่ดีและสิ่งชั่วร้ายต่างๆ
การเยียวยารักษาโรคอิจฉาริษยาที่ดีที่สุด ก็คือ การยินดีกับการที่เห็นคนอื่นได้ดี และอยากได้รับความดีโดยการแข่งขันกับคนอื่นในการทำความดีและใช้สิ่งนี้เป็นแรงจูงใจให้ทำดีมากกว่า
ท่านนบี ได้กล่าวว่า “ฉันขอสาบานด้วยพระองค์ผู้ทรงกำชีวิตของฉันไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า พวกท่านจะยังไม่ศรัทธา จนกว่าเขาจะรักเพื่อพี่น้องของเขาเช่นเดียวกับที่เขารักเพื่อตัวของเขาเอง” (หะดีษ เกี่ยวกับ อิจฉาริษยา รายงานโดย บุคอรีและมุสลิม )
อัลลอฮฺได้สั่งให้ผู้ศรัทธาขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺให้พ้นจากความชั่วของคนที่ริษยาและความชั่วโดยทั่วไปด้วย ความว่า
“และจากความชั่วร้ายของผู้อิจฉา เมื่อเขาอิจฉา” (ซูเราะฮฺอัลฟะลัก 113:5)
จงจำไว้เถิดว่า ผู้ที่มีความสุขในการใช้ชีวิต คือ ผู้ที่ปราศจากโรคอิจฉาและริษยา และมีความภูมิใจกับความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่ทรงให้ต่อผู้อื่น และมั่นใจว่าความโปรดปรานนั้นมาจากพระองค์อัลลอฮฺ
ความรู้ที่จะรักษาโรคอิจฉาริษยาก็คือ การรู้ว่าความอิจฉาเป็นพิษร้ายแรงสำหรับชีวิตโลกนี้ เช่นเดียวกับศาสนาของเขา และการรู้ว่าผู้ถูกอิจฉาริษยานั้นจะไม่ได้รับอันตรายเกี่ยวกับชีวิตของเขาหรือศาสนาของเขา ในทางตรงกันข้าม ผู้ถูกอิจฉาริษยาจะได้รับประโยชน์จากมัน การที่ความอิจฉาริษยาเป็นอันตรายสำหรับศาสนาของผู้ที่อิจฉาริษยา ก็เพราะความอิจฉาริษยานี้เองที่ทำให้เขาเกลียดชังสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดไว้และความดีงามที่พระองค์ได้ทรงจัดแบ่งไว้ให้แก่บ่าวของพระองค์ อีกทั้ง เขายังเกลียดชังความยุติธรรมของพระองค์ที่ได้สร้างไว้ในโลก
ดังนั้น ผู้อิจฉาริษยาจึงต่อสู้และต่อต้านมันซึ่งเป็นการขัดกับความเชื่อในเอกภาพของอัลลอฮฺ นอกจากนี้แล้ว ผู้อิจฉาริษยาก็จะมีส่วนร่วมกับซัยฎอนและบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาในการที่จะให้ความวิกฤติเกิดขึ้นแก่ผู้ศรัทธาและให้ความดีงามหมดสิ้นไปจากพวกเขา
สิ่งเหล่านี้คือ ความอิจฉาริษยาในหัวใจที่กลืนกินความดี และลบล้างความดีเหมือนกับกลางคืนเข้ามาลบกลางวัน คนที่เป็นทุกข์จากความอิจฉาริษยา ในชีวิตจะเจ็บปวดเพราะความอิจฉาริษยา และเขาจะเศร้าโศกเสียใจทุกครั้งที่เขาเห็นคนที่เขาอิจฉาริษยาได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮฺ