กรณีอิมามดื่มน้ำท่อม มะมูมละหมาดตามได้ไหม?


25,811 ผู้ชม

อิมามกินน้ำท่อม มะมูมละหมาดตามได้ไหม?


อิมามกินน้ำท่อม มะมูมละหมาดตามได้ไหม?

ตอบโดย:  อ.มุรีด ทิมะเสน

ขอแยกประเด็นตอบดังนี้...

ประเด็นแรก กรณีอิมามดื่มน้ำท่อม แน่นอนยิ่งอิมามท่านนั้น ดื่มกินสิ่งหะรอม (สิ่งต้องห้าม) เช่นนี้อิมามผู้นั้นมีความผิด ซึ่งความผิดนั้นอิมามต้องเตาบะฮฺตัว เพราะโทษของบุคคลที่ดื่มกินของหะรอมนั้นรุนแรงยิ่งนัก

ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า :

لَحْمٌ نَبَتَ مِنْ سُحْتٍ إِلَّا كَانَتِ النَّارُ أَوْلَى بِهِ

“เนื้อก้อนใด (ในร่ายกาย) ซึ่งเติบโตมาจากสิ่งหะรอม (สิ่งต้องห้าม) เว้นแต่ ไฟนรกย่อมเหมาะสม (เผาผลาญ) สำหรับเนื้อก้อนนั้น” [หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยติรฺมิซีย์ หะดีษที่ 614]

สรุป : ประเด็นอิมามดื่มน้ำท่อม เป็นความผิดระหว่างเขากับอัลลอฮฺ ซึ่งต้องเตาบะฮฺตัวยังพระองค์

ประเด็นต่อมา เมื่ออิมามดื่มน้ำท่อม ครั้นได้เวลานมาซฟัรฺฎู เขาก็มาทำหน้าที่เป็นอิมามนำละหมาด เช่นนี้นักวิชาการมีทัศนะว่า [หนึ่งในนั้นคือ เชคบินบาซ เราะหิมะหุลลอฮฺ] อนุญาตให้มะมูมยืนละหมาดตามหลังเขาได้ ตราบใดที่อิมามยังไม่ถึงขั้นตกมุรฺตัด (สิ้นสภาพการเป็นมุสลิม) เช่นนี้มะมูมยังละหมาดตามได้, แต่ทว่ามะมูมต้องตักเตือนอิมามให้เลิกดื่มน้ำท่อม หากยังไม่เลิกดื่มอีก, บรรดามะมูมรวมตัวไปหากรรมการมัสญิดเพื่อเตือนอิมามให้เลิกพฤติกรรมดังกล่าว หากอิมามไม่เลิกจริงๆ ก็ต้องให้อิมามพิจารณาตัวเองด้วยการลาออกจากตำแหน่งเป็นลำดับต่อไป ซึ่งดังกล่าวสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของศาสนา

ท่านรสูลุลลอฮฺกล่าวว่า  :

مَنْ رَأَى مِنْكُمْ مُنْكَرًا فَلْيُغَيِّرْهُ بِيَدِهِ، فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِلِسَانِهِ، فَإِنْ لَمْ يَسْتَطِعْ فَبِقَلْبِهِ، وَذَلِكَ أَضْعَفُ الْإِيمَانِ

“บุคคลใดเห็นสิ่งต้องห้าม (สิ่งน่ารังเกียจ) ในหมู่พวกท่าน เช่นนั้นเขาจงเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นด้วยมือ (อำนาจ) ของเขา แต่ถ้าไม่มีความสามารถก็ให้เปลี่ยนแปลงด้วยลิ้น (ตักเตือนเขา) แต่ถ้าไม่มีความสามารถอีก ให้ปฏิเสธด้วยหัวใจ (ให้ออกห่างไม่ร่วมกระทำความผิดกับเขา) แต่นั่นถือว่าเป็นความศรัทธาที่อ่อนแอยิ่ง” [หะดีษเศาะหี้หฺ,บันทึกโดยมุสลิม หะดีษที่ 78]

(วัลลอฮุอะอฺลัม)

อัพเดทล่าสุด