10 ข้อปฏิบัติในการมัสยิด แบบฉบับท่านนบี


6,295 ผู้ชม

สำหรับซุนนะฮ์ในการไปมัสยิดนั้นมีจำนวน 10 ประการที่จะต้องปฏิบัติในแต่ละครั้งที่ไปมัสยิด ดังนั้น วันหนึ่ง หากเราไปละหมาดฟัรฎูที่มัสยิดครบ 5 เวลา เราก็จะได้ปฏิบัติสิ่งที่เป็นซุนนะฮ์ถึง 50 ครั้ง


10 ข้อปฏิบัติในการมัสยิด แบบฉบับท่านนบี

ซุนนะฮ์ในการไปมัสยิด

1. ควรไปมัสยิดแต่ต้นของเวลาละหมาด ดังที่ท่านนบี(ซ.ล.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

“หากผู้คนทั้งหลายทราบถึงประเสริฐที่มีอยู่ในการอะซาน และการละหมาดแถวแรกแล้ว พวกเขาไม่พบหนทางที่จะได้มาซึ่งผลตอบแทนอันมหาศาลนี้ นอกจากด้วยการจับฉลาก แน่นอน พวกเขาต้องจับฉลากกันเพื่อให้ได้มา และหากพวกเขารู้ถึงความประเสริฐที่มีอยู่ในการมาละหมาดแต่เช้าตรู่ พวกเขาก็จะต้องแข่งขันมาสู่การละหมาดนั้นๆ และหากเขาทราบถึงสิ่งที่ดีๆ ที่มีอยู่ในการละหมาดอิชาอ์และละหมาดซุบฮิแล้ว พวกเขาก็จะมาสู่การละหมาดทั้งสอง ถึงแม้ว่าจะต้องคลานมาก็ตาม”

บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม

ท่านอิมามอันนะวะวีย์ ได้กล่าวว่า “อัตตะฮ์ญีร” หมายถึงการละหมาดแต่ต้นเวลา

2. ขณะเดินไปยังมัสยิดให้กล่าวดุอาอ์ ดังต่อไปนี้

“ข้าแต่อัลลอฮ์ ขอพระองค์ทรงให้มีรัศมีในหัวใจของข้าพระองค์ ให้มีรัศมีในดวงตาของข้าพระองค์ และให้มีรัศมีในหูของข้าพระองค์ และให้มีรัศมีที่เบื้องขวาของข้าพระองค์และให้มีรัศมีในเบื้องซ้ายของข้าพระองค์ และให้มีรัศมีในเบื้องบนของข้าพระองค์ และให้มีรัศมีในเบื้องล่างของข้าพระองค์ และโปรดให้มีรัศมีที่ข้างหน้าของข้าพระองค์ และโปรดให้มีรัศมีที่ข้างหลังของข้าพระองค์ และโปรดให้มีรัศมีแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”

บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม


3. เดินไปมัสยิดด้วยความสงบเสงี่ยม เรียบร้อย ท่านนบี(ซ.ล.) ได้กล่าวว่า :

“เมื่อพวกท่านทั้งหลายได้ยินเสียงอิกอมะฮ์ ก็จงเดินไปละหมาดอย่างสงบเสงี่ยม เรียบร้อย”

บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม

คำว่า سَكِيْنَة หมายถึง การเดินอย่างเรียบร้อย ไม่เล่น หรือทำในสิ่งที่ไรเสาระขณะเดิน

คำว่าوَقَار  หมายถึง การสำรวมตน ลดสายตาจากการมองไปยังสิ่งที่ไม่เหมาะสมขณะเดิน

4. เดินไปมัสยิด

บรรดานักวิชาการได้กล่าวว่า : มีซุนนะฮ์ให้เดินไปมัสยิด โดยไม่ให้ก้าวเท้าห่างมากนัก และไม่ต้องรีบเร่งเดิน เนื่องจากการเดินนั้นเป็นการเพิ่มผลบุญ ดังที่ปรากฏจากตัวบทหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ถึงความประเสริฐของการก้าวเท้าเดินไปมัสยิด ดังที่ท่านนบี(ซ.ล.) ได้กล่าวว่า :

“ฉันจะบอกกับท่านทั้งหลายถึงสิ่งที่ (เมื่อทำแล้ว) อัลลอฮ์จะทรงลบล้างความผิด และจะทรงเพิ่มพูนผลบุญให้ พวกท่านจะเอาไหม?” บรรดาซอฮาบะฮ์พูดขึ้นว่า “เอาซิครับ โอ้ ท่านร่อซูลุลลอฮ์” ท่านร่อซูล(ซ.ล.) จึงได้กล่าวหลายประการ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ข้อความที่ว่า “ให้ก้าวเท้าเดินไปยังมัสยิดมากๆ”

บันทึกโดย อิมามมุสลิม


5. กล่าวดุอาอ์ขณะเข้ามัสยิด ดังหะดีสที่ว่า :

คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านเมื่อจะเข้ามัสยิดก็จงกล่าวสลามแก่ท่านนบี(ซ.ล.) และกล่าวดุอาอ์ดังต่อไปนี้

“โอ้อัลลอฮ์ ขอพระองค์ทรงเปิดประตูแห่งความเมตตาให้กับข้าพระองค์ด้วยเถิด”

บันทึกโดย อันนะซาอีย์ อิบนิมาญะฮ์ อิบนิคุชัยมะฮ์ และอิบนิฮิบบาน


6. เข้ามัสยิดด้วยเท้าขวา มีรายงานจากท่านมนัส อิบนิมาลิกว่า :

“สิ่งที่เป็นซุนนะฮ์ก็คือ เมื่อท่านเข้ามัสยิด ท่านจะต้องก้าวเท้าขวาเข้าก่อน และเมื่ออกจากมัสยิด ท่านจะต้องก้าวเท้าซ้ายออกก่อน”

บันทึกโดย อิมามอัลฮากิม


7. ยืนละหมาดแถวแรก ดังปรากฏจากหลักฐานที่ว่า :

“หากผู้คนทั้งหลายทราบถึงประเสริฐที่มีอยู่ในการอะซาน และการละหมาดแถวแรกแล้ว พวกเขาไม่พบหนทางที่จะได้มาซึ่งผลตอบแทนอันมหาศาลนี้ นอกจากด้วยการจับฉลาก แน่นอนพวกเขาต้องจับฉลากกันเพื่อให้ได้มา”

บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม


8. กล่าวดุอาอ์ขณะออกจากมัสยิด

“ข้าแต่อัลลอฮ์ ข้าพระองค์ขอต่อพระองค์ซึ่งความโปรดปรานของพระองค์”

บันทึกโดย อิมามมุสลิม

ในการบันทึกของท่าน อิมามอันนะซาอีย์เพิ่มคำว่า “ให้ศอละวาตแด่ท่านนบี ขณะออกจากมัสยิด”

9. ออกจากมัสยิดโดยก้าวเท้าซ้ายออกก่อน ดังหลักฐานที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

10. ละหมาดตะฮียะตุลมัสยิด (ให้การคาราวะแก่มัสยิด) ท่านร่อซูล(ซ.ล.) กล่าวว่า :

“เมื่อคนใดในหมู่พวกท่านเข้ามัสยิด ก็จงอย่านั่งจนกว่าจะได้ละหมาดสองร็อกอะฮ์เสียก่อน”

บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม


ท่านอิมามชาฟิอีย์ได้กล่าวว่า : การละหมาดตะฮียะตุลมัสยิดนั้น เป็นบทบัญญัติที่ต้องปฏิบัติ ถึงแม้ว่าขณะนั้น จะเป็นเวลาที่ห้ามละหมาดก็ตาม

ท่านอิมามอัลฮาฟิซ อิบนุ หะญัร ได้กล่าวว่า : บรรดานักวิชาการที่เป็นผู้ชี้ขาดในเรื่องศาสนาทั้งหมดได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การละหมาดตะฮียะตุลมัสยิดนั้นเป็นซุนนะฮ์

สำหรับซุนนะฮ์ในการไปมัสยิดนั้นมีจำนวน 10 ประการที่จะต้องปฏิบัติในแต่ละครั้งที่ไปมัสยิด ดังนั้น วันหนึ่ง หากเราไปละหมาดฟัรฎูที่มัสยิดครบ 5 เวลา เราก็จะได้ปฏิบัติสิ่งที่เป็นซุนนะฮ์ถึง 50 ครั้ง

https://islamhouse.muslimthaipost.com

อัพเดทล่าสุด