เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเดือนซอฟัร


4,777 ผู้ชม

เมื่อเราได้ศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ในหน้าประวัติศาสตร์อิสลามแล้ว เราจะพบว่าในเดือนซอฟัรนี้ เป็นเดือนหนึ่งที่มวลมุสลิมควรรำลึกถึงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเดือนนี้...


เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเดือนซอฟัรเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเดือนซอฟัร

ซอฟัร เป็นเดือนที่สอง จากบรรดาเดือนต่าง ๆ ทั้งสิบสองเดือนของฮิจเราะฮฺศักราช คำว่า “ซอฟัร” (صفر ) มีความหมายว่า “ สัญญาณ ” ที่เรียกเดือนที่สองนี้ว่า เดือนซอฟัร

นั่นคือ สืบเนื่องจากชนชาติอาหรับในยุคญาฮีลียะห์ ( ยุคอนารยชน ) ก่อนเคยพวกเขามีความเชื่อว่า เมื่อเดือน ซอฟัรได้ย่างกรายเข้ามามันจะนำความอัปมงคล ความไม่ดีไม่งาม ลางร้าย เข้ามาอยู่ในช่วงเดือนนั้น พวกเขาจึงมีความหวั่นกลัวในเดือนซอฟัรนี้เหลือเกิน

แต่ทว่าครั้นเมื่อศาสนาอิสลามได้อุบัติขึ้นในคาบ สมุทรอาหรับ โดยการนำของท่านนบีมูฮำหมัด (ซ.ล.) ท่านก็ได้ทำลายล้างแนวคิด และความเชื่อที่นอกรีตดังกล่าวนี้อย่างสิ้นเชิง และท่านศาสดา (ซ.ล.) ก็ได้ให้คำอธิบายและความหมายของเดือนซอฟัร ว่า “صَفَراَلْخَيْرِ ” “ สัญญานแห่งความดีงาม ” นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาท่านศาสดา (ซ.ล.) ก็ห้ามมวลมุสลิมไม่ให้เชื่อต่อเรื่องของโชคลาง ต่าง ๆ ใด ๆ ทั้งสิ้น  

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเดือนซอฟัร

เมื่อเราได้ศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ ในหน้าประวัติศาสตร์อิสลามแล้ว เราจะพบว่าในเดือนซอฟัรนี้ เป็นเดือนหนึ่งที่มวลมุสลิมควรรำลึกถึงประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเดือนนี้ นั่นคือ เหตุการณ์การกรีฑาทัพเข้าตำบล “อับวาอ์” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดดาน” ในปีที่สองแห่งฮิจเราะห์ศักราช ซึ่งเป็นการนำทัพครั้งแรกของท่านนบีมูฮำหมัด (ซ.ล.) ไม่ได้มีการสู้รบใดๆ หากแต่มีการทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับเผ่าฎอมเราะห์และเผ่าอื่นๆ ระหว่างทางที่อยู่รอบๆ เมืองมาดีนะห์

และเหตุการณ์ “ การพิชิตค็อยบัร ” อันเป็นช่วงเวลาที่ท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้นำทัพกลับจาก สงครามหุดัยบียะห์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนซอฟัร ในปีที่เจ็ดแห่งฮิจเราะฮฺศักราช ท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้ทราบข่าวว่าชาวยิวที่เมือง ค็อยบัร ทำการ ขบถ นับตั้งแต่ถูกขับไล่จากนครมาดีนะฮฺ พวกยิวก็มาอาศัยอยู่ที่ค็อยบัร และพยายามทำตัวเป็นศัตรูต่อชาวมุสลิมทุกวิถีทาง หลายครั้งหลายหนที่พวกเขาได้ปล้นสะดมทุ่งเลี้ยงสัตว์ของมุสลิมในเขตเมืองมาดีนะฮฺ

แล้วหลบหนีไปพร้อมด้วยสัตว์ที่ปล้นมา ท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้นำกองทัพซึ่งมีจำนวนพล 1,600 นาย และม้า 200 ตัวไปโจมตีพวกยิวโดยไม่ทันรู้ตัว ป้อมปราการหลายแห่งของยิวตกอยู่ในมือของมุสลิม พวกยิวหมดทางสู้จึงขออภัยต่อท่าน ท่านศาสดาไม่เพียงแต่ยกโทษให้แก่ศัตรูเท่านั้นแต่ยังคืนที่ดิน ทรัพย์สิน พร้องทั้งเสรีภาพในการนับถือศาสนาให้พวกเขาด้วย และกำหนดภาษีที่ดินที่พวกเขาจะต้องเสียให้เป็นไปอย่างยุติธรรมให้แก่รัฐบาลกลาง

แต่กระนั้นชาวยิวก็ยังไม่ล้มเลิกที่จะคิดร้ายต่อมุสลิมและท่านศาสดา ครั้งหนึ่งพวกเขาได้วางแผนฆ่าท่านโดยวางยาพิษแต่เคราะห์ดีที่ท่านปลอดภัย ท่านศาสดา (ซ.ล.) ก็ยังคงแสดงความปรารถนาดีต่อพวกเขาอีก โดยมิได้ลงโทษแต่อย่างใดเลย นอกจากลงโทษคนที่วางยาพิษเพียงคนเดียวเท่านั้น

ท่านพี่น้องมุสลิมที่มีเกียรติทุกท่าน บทเรียนจากสงครามค็อยบัรในเดือนซอฟัร ในปีฮิจเราะฮฺศักราชที่ 7 ณ เมือง ค็อยบัร ซึ่งอยู่ห่างจากนครมาดีนะฮฺไปทางทิศเหนือประมาณ 8 ไมล์นั้น ได้ฉายภาพให้เราทั้งหลายได้รับทราบว่า :

อิสลามคือวิถีแห่งสันติภาพ สันติภาพคือ หนึ่งในสัญลักษณ์ทางศาสนา การนำตัวเองเข้าสู่วิถีชีวิตอิสลามก็คือ การเข้าสู่สันติภาพ และการจัดระเบียบที่เข้มแข็ง อิสลามเป็นบทบัญญัติแห่งสันติภาพ และเป็นศาสนาแห่งความกรุณาโดยมิต้องสงสัย เพราะแก่นแท้ของศาสนาอิสลามคือ การมอบตนต่อองค์พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

قال تعالى : وَاُمِرْنَالِنُسْلِمَ لِرَبِّ الْعَالَمِيْنَ

ความว่า : และเราถูกบัญชาให้มอบตนต่อพระผู้อภิบาลแห่ง สากลโลก (ซูเราะฮ์ อัล-อันอาม โองการที่ 71)

ถ้อยคำทักทายระหว่างมุสลิมเวลาพบเจอกัน คือ “อัสลามุอะลัยกุม” หมายถึง ความสันติจงประสบแด่ท่าน

อิริยาบถสุดท้ายของการละหมาด คือ การกล่าวสลามไปยังทางขวา และซ้าย ประหนึ่งว่า ผู้ละหมาดเป็นผู้เริ่มต้นกล่าวพรแห่งสันติให้กับชาวโลก ณ ทั่วทุกมุมแผ่นดิน

คัมภีร์ อัลกุรอาน ถูกประทานลงมาในค่ำคืนที่เปี่ยมไปด้วยความสันติทั้งคืน และถูกห้อมล้อมด้วยหมู่มลาอีกะฮฺแห่งสันติ นั่นคือ ค่ำคืนลัยลุตุลก๊อดรฺ

เมื่อมวลบ่าวต้องพบกับพระองค์ในวันแห่งการตอบแทน สิ่งที่ประเสริฐที่สุดในยามนั้นคือ การกล่าวสลามอีกเช่นกัน

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเดือนซอฟัร

قال تعالى : تَحِيَّتُهُمْ يَوْمَ يَلـْقَوْنَهُ سَلاَمٌ وَاَعَدَّلَهُمْ اَجْرًا كَرِيْمًا

ความว่า : คำทักทายของพวกเขาในวันที่พวกเขาพบเจอพระองค์คือ การกล่าวสลามพรแห่งสันติ และพระองค์ได้เตรียมไว้สำหรับพวกเขา ซึ่งผลบุญอันมีเกียรติยิ่ง  (ซูเราะฮ์ อัล-อะห์ซาบ โองการที่ 44 )

คงไม่มีบทบัญญัติในศาสนาใดหรือระบบสังคมไหนในโลกนี้ที่กำหนดให้สันติภาพเป็นบทฝึกฝนในภาคปฏิบัติ และยังได้กำหนดให้สันติภาพเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์และหลักการทางศาสนาเฉกเช่นที่อิสลามได้กำหนดไว้ในการทำฮัจย์ให้มุสลิมได้ฝึกฝนความมีสันติ เป็นผู้มีสันติในตัวเอง และสันติต่อผู้อื่น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า อิสลามเป็นศาสนาแห่งความเมตตา เป็นศาสนาที่อยู่คู่เคียงสันติภาพด้วยถ้อยคำในการทักทายบรรดาศาสนทูตที่ถูกส่งมา ก็เพื่อเป็นความเมตตาแก่มวลมนุษย์ชาติ

การกล่าวสลามยังเป็นคำทักทายของบรรดามลาอีกะฮฺต่อปวงบ่าวผู้ถูกเชื้อเชิญให้เข้าพำนักในสวรรค์

وَالْمَلاَئِكَةُ يَدْخُلُوْنَ عَلَيْهِمْ مِنْ كُلِّ بَابٍ سَلاَمٌ عَلَيْكُمْ بِمَاصَبَرْتُمْ فَنِعْمَ عُقْبَى الدَّارِ

ความว่า : และบรรดามลาอีกะฮฺจะเข้าไปหาพวกเขาจากประตูทุกบานพร้อม กล่าวว่าสันติแด่ท่านด้วยการที่พวกท่านอดทน ดังนั้นมันจึงเป็นที่พำนักสุดท้ายที่ดียิ่ง . (ซูเราะฮฺ อัร-เราะฮฺดุ โองการที่ 23-24)

สวรรค์เองก็มีชื่อว่า “ดารุสสลาม” หมายถึง ดินแดนแห่งความสันติ

لَهُمْ دَارُالسَّلاَمِ عِنْدَرَبِّهِمْ وَهُوَ وَلِيُّهُمْ بِمَاكَانُوْايَعْمَلُوْنَ

ความว่า : สำหรับพวกเขานั้นมีที่พำนักแห่งความสันติสุข ณ พระผู้อภิบาลของพวกเขา และพระองค์ทรงดูแลพวกเขาด้วยสิ่งที่พวกเขาได้กระทำ . (ซูเราะฮฺ อัล-อันอาม โองการที่ 127)

ที่สุดของที่สุดก็คือ พระองค์อัลเลาะฮฺ มีพระนามหนึ่งว่า “ อัสสลาม ” ซึ่งหมายถึง “ ผู้เปี่ยมด้วยสันติ ”

هُوَاللهُ الَّذِيْ لاَاِلَهَ إِلاَّهُوَ اْلمَلِكُ اْلْقُدُّوْسُ السَّلاَمُ

ความว่า : พระองค์คืออัลเลาะฮฺที่ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ผู้ทรงครอบครอง ทรงบริสุทธิ์ยิ่ง ทรงเปี่ยมด้วยสันติ ( ซูเราะฮ์ อัล-อัชรฺ โองการที่ 23)

คงไม่มีบทบัญญัติในศาสนาใดหรือระบบสังคมไหนในโลกนี้ที่กำหนดให้สันติภาพเป็นบทฝึกฝนในภาคปฏิบัติ และยังได้กำหนดให้สันติภาพเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์และหลักการทางศาสนาเฉกเช่นที่อิสลามได้กำหนดไว้ ในการทำฮัจย์ให้มุสลิมได้ฝึกฝนความมีสันติ เป็นผู้มีสันติในตัวเอง และสันติต่อผู้อื่น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า อิสลามเป็นศาสนาแห่งความเมตตา เป็นศาสนาที่อยู่คู่เคียงสันติภาพด้วยถ้อยคำในการทักทายบรรดาศาสนทูตที่ถูกส่งมา ก็เพื่อเป็นความเมตตาแก่มวลมนุษย์ชาติ

สำนักจุฬาราชมนตรี

อัพเดทล่าสุด